พบปัญหา คนเร่ร่อน เข้าไม่ถึงการตรวจโควิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจถนนราชดำเนิน พบว่า นอกจากจะพบว่ามีคนเร่ร่อนเพิ่มจำนวนมากขึ้น สิ่งที่เราไม่รู้เลย คือ แต่ละคน ติดเชื้อหรือไม่ เพราะ คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงการตรวจโควิด

หลังจากเมื่อวาน(22 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายว่า ต่อไปนี้จะต้องไม่เห็นคนนอนรอเตียงข้างถนน ในสภาพความเป็นจริงที่ปรากฎอยู่ตอนนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ทีมข่าวพีพีทีวี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่และชีวิตคนเร่ร่อนและคนยากไร้ ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดระลอกแรก แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่จะพบคนมานั่งรอความช่วยเหลือริมถนนมากเท่าครั้งนี้

ตรวจโควิด-19 คนเร่ร่อนไม่ได้ เหตุไม่มีบัตรปชช.

ขอนแก่น พบชายเร่ร่อนติดโควิด-19 เดินทางมาจากกทม. เร่งสอบไทม์ไลน์

 

 

 

เราย้อนไปดูช่วงกลางวันที่ผ่านมา ตลอดแนวถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่หน้าโลหะปราสาท ไปจนถึงหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ระยะ 1 กิโลเมตร เต็มไปด้วยเร่ร่อนและคนยากไร้ ที่มานั่ง-นอน ข้างถนน เฝ้ารอรถยนต์ของผู้ใจบุญนำอาหารปรุงสุกและอาหารแห้งมาแจก ซึ่งทันทีที่มีรถมาจอดเทียบริมทางเท้า กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะวิ่งกรูกันเข้าไปรับของแจกทันที ภาพนี้เกิดขึ้นกับรถของทีมข่าวพีพีทีวีเช่นกัน เพราะตอนที่เราเดินทางมาถึงเพื่อทำข่าว บางคนเข้าใจผิดคิดว่าทีมข่าวมาแจกอาหาร ก็รีบวิ่งกันมาที่รถ

สอบถามชาวบ้านแถวนี้ บอกว่า คนที่มารอรับข้าว มีทั้งกลุ่มคนเร่ร่อนหน้าเก่า หน้าใหม่ ที่หอบถุงดำขนเสื้อผ้ามาใช้ทางเท้าต่างที่นอน รวมถึงคนยากไร้ที่นั่งรถโดยสารประจำทางมาตอนเช้า รอรับข้าว ก่อนจะนั่งรถกลับในตอนเย็น

นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยว่า จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม มีผู้ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว 2-3 เดือนที่ผ่านมา มูลนิธิต้องเพิ่มจำนวนข้าวกล่องแจกให้กับคนเร่ร่อนและคนยากไร้ จาก 300-350 กล่อง เป็น 600 กล่อง ซึ่งกลุ่มคนที่มารับเป็นคนเร่ร่อนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ที่มีบ้าน แต่ขาดรายได้ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

จากจำนวนคนเร่ร่อนทั้งหมดหลายร้อยคน นางอัจฉรา บอกว่า มีคนที่เคยได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 เพียง 60 คนเท่านั้น โดยการประสานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ประสานหน่วยงานมาตรวจเชิงรุก 1 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อโควิด 2 คน ซึ่งส่งเข้ารักษาแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการตรวจคัดกรองอีก สวนทางกับจำนวนคนเร่ร่อนที่เข้ามาอยู่ใหม่มากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ ไม่สามารถระบุได้ว่า ใครติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ

อย่างเช่นกรณีที่พบคนเร่ร่อนเสียชีวิตข้างถนน นางอัจฉรา ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทุกปีมีคนตายข้างถนน 10-20 คน แต่ไม่ได้รับการมองเห็น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ จำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิ์การรักษาพยาบาล และเมื่อเสียชีวิต ส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าติดโควิดหรือไม่

ระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่การหาเตียงทำได้ลำบาก ทำให้นางอัจฉรา มองว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง ซึ่งแม้ปัจจุบัน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเข้ามาช่วยประสานงาน แต่การพาคนเร่ร่อนไปฉีดวัคซีนยังมีเงื่อนไข คือ ต้องมีบัตรประชาชน และต้องมีคนพาไป ทำให้คนเร่ร่อนเข้าถึงวัคซีนได้จำกัด

ข้อจำกัดทั้งหมดนี้ ทำให้เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน มองว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่จะไม่ให้เห็นภาพคนนอนรอเตียงข้างถนน คงเป็นไปได้ยาก ตราบใดที่ยังไม่มีการยอมรับข้อผิดพลาด หันหน้าคุยกัน และแก้ไขทั้งระบบ

จากการคาดการณ์ของมูลนิธิอิสรชน เชื่อว่า จำนวนคนเร่ร่อนที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งหากพวกเขายังใช้ชีวิตปะปนกันโดยไม่มีการคัดกรองว่าใครติดหรือไม่ติดโควิด-19 ก็มีโอกาสสูงที่โรคโควิดจะแพร่ระบาดในกลุ่มคนเร่ร่อน และอาจจะเกิดเป็นภาพที่เราไม่อยากเห็นขึ้นอีก คือมีคนตายข้างถนน

คอนเทนต์แนะนำ
รีวิวทุกขั้นตอนการใช้ Antigen Test Kit ตั้งแต่แกะซอง ยันรู้ผล
เช็กโปรแกรมเชียร์นักกีฬาไทยวันนี้ พร้อมลุ้น พาณิภัค-รามณรงค์ คว้าทอง

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ