ผลตรวจแบงก์ 1 พันบาท จากตู้เอทีเอ็ม พบเป็นของจริง ธปท.ยันชำระหนี้ได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ธปท. เผยผลตรวจสอบธนบัตรจากเครื่องบัวหลวง ATM อ.ปักธงชัย เป็นของจริง หลังชายอายุ 55 ปี ไลฟ์สดผ่านโซเชียล ระบุว่า เป็นธนบัตร 1,000 บาท เป็นของปลอม

เตือนภัย แบงค์ปลอม หยอดตู้เติมเงินมือถือ

ธปท.วอน "อย่าปั๊ม" ข้อความบนธนบัตร

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี นายวรพล บวรลัทธพล อายุ 55 ปี ชาว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงเทพ สาขาปักธงชัย เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา จำนวน 4,000 บาท ต่อมาได้ไลฟ์สดผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าหนึ่งในธนบัตรที่ได้รับไป คือ ฉบับหมายเลข 5Gต 7353216 เป็นธนบัตรปลอมและมีการร้องเรียนผ่านสื่อโซเชียล และสื่อมวลชนต่าง ๆ

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการประสานงานเจ้าของธนบัตร ในการนำธนบัตรฉบับหมายเลข 5Gต 7353216 มาตรวจสอบ ในวันนี้ (16 กันยายน 2564) โดยผลการตรวจพิสูจน์ธนบัตรดังกล่าวข้างต้น พบว่า ธนบัตรมีลักษณะโดนสารเคมี จึงทำให้แถบสีบางส่วนหลุดออกและทำให้ขนาดของธนบัตรหดสั้นลง อีกทั้งเนื้อกระดาษมีความหยาบมากกว่าปกติ และเมื่อตรวจสอบคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างละเอียดแล้ว สรุปว่า ธนบัตรดังกล่าวเป็นธนบัตรจริง ที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งได้แจ้งผลการตรวจสอบและมอบคืนธนบัตรฉบับดังกล่าวให้แก่เจ้าของเรียบร้อยแล้ว

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ได้รับการติดต่อจากลูกค้าว่าตนเองได้รับธนบัตรที่ต้องสงสัยว่าเป็นของปลอมจากการเบิกเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 โดยเจ้าหน้าที่ได้พร้อมอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตรวจสอบธนบัตรใบดังกล่าว แต่ลูกค้าปฏิเสธ และได้นำธนบัตรกลับไป และแชร์ประเด็นดังกล่าวด้วยการไลฟ์ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว กระทั่งเกิดเป็นกระแสข่าวและนำมาสู่การตรวจสอบโดย ธปท. ดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ มีขั้นตอนบริหารจัดการธนบัตรผ่านศูนย์เงินสด ภายใต้มาตรฐานการทำหน้าที่ตรวจสอบธนบัตรอย่างเข้มงวดทุกฉบับ ก่อนจะกระจายไปยังสาขาธนาคารและเครื่องบัวหลวงเอทีเอ็มทั่วประเทศ สำหรับให้บริการประชาชน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนล้วนเป็นไปตามมาตรฐานการควบคุม ตรวจสอบ คัดเลือกคุณลักษณะ และสภาพของธนบัตรแต่ละใบให้สมบูรณ์สามารถรองรับการใช้จ่ายของประชาชนได้ ซึ่งสำหรับธนบัตรที่ไม่พร้อมใช้งาน หรือธนบัตรที่ชำรุด เสียหาย จะถูกคัดออกและนำส่งกลับไปให้ศูนย์จัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินตามทำลายตามกระบวนการต่อไป ธนาคารจึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ธนบัตรที่ได้รับจากสาขาธนาคาร รวมทั้งเครื่องบัวหลวง ATM ทุกแห่ง เป็นธนบัตรฉบับจริงและสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายอย่างแน่นอน

 

สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบคุณลักษณะธนบัตรจริงเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยการสัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง เพื่อสังเกตผิวสัมผัสธนบัตรที่มีความแตกต่างจากกระดาษทั่วไป และรู้สึกถึงลายเส้นที่พิมพ์นูนขึ้นมาจากกระดาษ รวมทั้งลักษณะของการพิมพ์ที่ต้องคมชัด เมื่อยกธนบัตรขึ้นส่องจะเห็นลายน้ำปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมทั้งเมื่อพลิกเอียงธนบัตร ลายดอกประดิษฐ์ที่อยู่ตรงตัวเลขบอกชนิดราคาธนบัตรจะสามารถเปลี่ยนสีได้ เนื่องจากเป็นการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติ เป็นต้น

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ