คลายล็อก! เล่นดนตรีสดร้านอาหาร อาชีพนักดนตรี ฟื้นได้จริง หรือ ฟุบอีกยาว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คลายล็อกร้านอาหารเล่นสดได้ อาชีพนักดนตรี ร้านอาหาร ฟื้นจริงหรือ เสียงสะท้อนจากนักดนตรี อาชีพที่ถูกสตาฟ ครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19แม้รัฐคลายล็อก แต่ร้านอาหารยังไม่พร้อมจ้างงาน

การแสดงดนตรีในร้านอาหาร กลับมาเล่นสดได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาล "คลายล็อก" ภายใต้เงื่อนไขควบคุมโควิด-19 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ให้เปิดดำเนินการได้ จำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 5 คน นักดนตรีต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ส่วนนักร้อง หรือนักดนตรีประเภทเครื่องเป่า ถอดหน้ากากอนามัยเฉพาะเวลาร้องเพลงหรือแสดง ห้ามสัมผัสคลุกคลีกันระหว่างนักร้องนักดนตรีและลูกค้า

ศบค.เตือนนักสูบ ภัยจาก“บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า” ติดเชื้อโควิด-19 สภาพปอดผิดปกติ เสี่ยงเสียชีวิต

เช็ก10 จังหวัดติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด สงขลา พุ่งอันดับ 2 แซงสมุทรปราการ ศบค. ห่วง ตะวันออก-4 จังหวัด...

 

นายอรรถพล แพทอง เจ้าของร้าน Makvid Café & Bistro

 

"นายอธิทัต ศรีไพศาล" หรือ กล้า นักดนตรีมือเบสวง DAKOTA และ Backup วง Tilly Birds กล่าวถึงการผ่อนคลายมาตรการที่สามารถให้มีการเล่นดนตรีในร้านอาหารได้ว่า การผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้ทำให้ตนรู้สึกมีความหวังอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาตนไม่ได้ทำงานมานานถึง 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 64ที่มีการประกาศสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราวหลายแห่ง ทำให้สูญเสียรายได้ไปถึง 5 แสนบาท จนต้องควักเงินเก็บของตัวเองมาใช้  ระหว่างนั้นก็หันไปรับจ้างบันทึกเสียงเครื่องดนตรี โดยไม่รู้จุดหมายปลายทางเลยว่าจะกลับมาทำงานได้อีกครั้งเมื่อไหร่

"ถึงแม้การกลับมาในครั้งนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ถึงจะมีคนมาจ้างงาน หรือกลับเข้ามาเล่นดนตรีได้อย่างเต็มวงอีกครั้ง"

"รวมถึงมีเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่สามารถเล่นดนตรีได้อย่างเต็มที่ อาทิ ระยะเวลาการขึ้นเล่น ระยะเวลาการเปิด-ปิดร้าน และจำนวนวงที่ขึ้นเล่นดนตรีในแต่ละครั้ง จะมีจำนวนจำกัดและลดน้อยลง แต่ก็ยังรู้สึกสบายใจขึ้นที่อย่างน้อยก็ยังรู้ว่าจะได้กลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อไหร่"

“วงศิลปินเริ่มมีงานจ้างก็จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ก็จะเป็นระยะเวลานึง บางคนเปิดมาช่วงนี้ก็อาจจะไม่มีงานเลย เพราะว่าร้านก็ต้องเป็นวงอะคูสติกแบนด์ แล้วระยะเวลาเปิดก็จะน้อยลง ส่วนระยะเวลาเล่น จำนวนวงก็จะน้อยลงด้วย ซึ่งก็จะมีนักดนตรีกลุ่มนึงที่จะได้ออกไปทำงาน สมมติใน 3 ส่วน ก็จะมีแค่ 1 ส่วน 3 ที่จะได้ออก ส่วนอีก 2 ก็ต้องรอ”

เมื่อถามว่า ถ้าอนาคตมีการปิดสถานประกอบการทำให้ไม่สามารถทำงานได้อีกครั้ง จะทำอย่างไร

กล้า บอกว่า ไม่ควรปิดสถานประกอบการอีก เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งจากที่ตนสังเกตการปิดสถานประกอบการครั้งที่ผ่านมา ที่ปิดมา 5-6 เดือน ยังไม่มีอะไรที่แบบบ่งบอกชัดเจนว่าปิดแล้วมันดีขึ้น ทุกอย่างควรต้องดำเนินต่อ ไม่ควรปิด และถ้าปิดจริงก็คงจะมีคนไม่น้อยที่จะล้มเลิกทำอาชีพนี้

"สิ่งที่ต้องการที่สุดในตอนนี้คือ วัคซีน เพราะวัคซีนเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากที่สุด ซึ่งถ้าเปิดร้านมา แต่เปิดได้ไม่ยาว ร้านก็จะไม่กล้าจ้างศิลปิน ซึ่งตัวร้านเองก็จะต้องมั่นใจด้วยว่าจะไม่มีการปิดสถานประกอบการอีก เพราะทุกอย่างมีการลงทุน มีการวางมัดจำ ส่วนเรื่องเงินเยียวยาตอนนี้ไม่ต้องการแล้ว" อธิทัต ย้ำ

เช่นเดียวกับ นายนันทวิทย์  อินทรเฉลิม นักดนตรีอิสระ บอกว่า ตนเองก็รู้สึกดีใจและมีความหวังกับการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้เช่นกัน แม้การผ่อนคลายครั้งนี้มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ค่อยจริงใจก็ตาม เพราะสิ่งที่จะทำให้สถานการณ์ในครั้งนี้จบลงได้เร็วที่สุด ก็คงไม่หนีไม่พ้น “วัคซีน” ซึ่งตนมองว่าทุกอย่างมันจะจบลงได้ก็ต่อเมื่อมีวัคซีนที่เร็วและเพียงพอสำหรับประชาชนทุกคน

นันทวิทย์ บอกว่า ที่ผ่านมาถ้าดูจากตัวเลขและข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศไทยนั้นยังไม่เพียงพอ ตนก็ยังไม่มีโอกาสได้ฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายครั้งนี้อย่างน้อยก็ยังพอเป็นแสงสว่างให้มองเห็นทางออกบ้าง เพราะที่ผ่านมาต้องหยุดทำงานมานานเกือบปี สูญเสียรายได้ไปหลายแสนบาท โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น ที่ตนสามารถทำเงินได้สูงถึง 60,000 – 70,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันกลับต้องหยิบยืมเงินครอบครัวมาใช้ เพราะเงินเก็บที่มีอยู่ก็ไม่มีเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา

นันทวิทย์ บอกว่า แม้วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา จะมีการเปิดให้เล่นดนตรีในร้านอาหารได้แล้ว แต่ตนก็ยังไม่มีร้านไหนติดต่อมา และคิดว่าอีกนานพอสมควรถึงจะได้กลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง และถ้าหากมีการกลับมาปิดหรือล็อกดาวน์อีก ตนก็คงจะตัดใจย้ายจากประเทศไทย ไปทำงานที่ต่างประเทศแทน

“ช่วงล็อกดาวน์ ผมไม่ได้ทำอะไรอื่นเลย เพราะว่าผมไม่มีวิชาอื่นเลย ผมทุ่มเทให้กับดนตรีมาตั้งแต่อายุ 14 จนตอนนี้อายุ 33 ก็คือผมมีวิชานี้วิชาเดียว... ถ้าปิดอีกอาจจะไม่คิดจะหาเงินในประเทศไทยแล้ว อาจจะเป็นการทำงานโปรดิวฯ ทำชิ้นงานขายในระดับ "Worldwide หรืออาจจะหาช่องทางไปต่างประเทศเลยดีกว่า”

ด้านนายอรรถพล แพทอง เจ้าของร้าน Makvid Café & Bistro ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ทางภาครัฐจะมีการผ่อนคลายมาตราการให้สามารถเล่นดนตรีในร้านอาหารได้แล้ว แต่ตนก็ยังไม่คิดจะจ้างนักดนตรีอยู่ดี เพราะด้วยสถานการณ์ช่วงนี้ที่ยังไม่แน่นอน ระยะเวลาการเปิดร้านที่จำกัด และลูกค้าก็ยังค่อยไม่กล้ามาทานอาหารที่ร้าน ตนจึงขอรอดูสถานการณ์ไปก่อน

เจ้าของร้านอาหารยอมรับว่านักดนตรีถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าให้ตัดสินใจมาทานอาหารที่ร้าน ซึ่งที่ผ่านมาทางร้านของตนจะมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนศิลปินมาเล่นดนตรีเป็นประจำไม่ซ้ำกัน วันละประมาณ 2 วง ซึ่งถ้าวงไหนที่ลูกค้าชอบหรือติดตามผลงานอยู่แล้ว ลูกค้าก็จะมาทานอาหารที่ร้านเป็นประจำตามวงที่ตัวเองชอบ ซึ่งจะเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และถึงแม้ดนตรีจะมีผลกับร้านอาหาร แต่ถ้าสถานการณ์ในประเทศ ยอดผู้ติดเชื้อ ยังไม่ดีขึ้น ทางร้านก็คงจะยังไม่กล้าจ้างนักดนตรีมาทำงานอยู่ดี

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ