จิตแพทย์เด็กแนะ 5 พฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ควรปฏิบัติกับลูกเวลาโกรธ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เวลาโกรธ เราทุกคนมักมีพฤติกรรม ที่ทำอะไรแบบขาดสติไม่ได้ยั้งคิด แล้วสุดท้ายต้องนั่งเสียใจบ่อยครั้ง และยิ่งคนเป็นพ่อ แม่ บางครั้งก็ทำพฤติกรรมไม่ดีใส่ลูกได้

พ่อแม่ หลายคนมักเคยประสบปัญหา เวลาโกรธ หรือโมโห ลูกแล้วมักจะทำพฤติกรรมแย่ๆ ใส่ลูกแบบไม่รู้ตัว และกลายเป็นการส่งต่อพฤติกรรมแย่ให้ลูกซึมซับไปทีละเล็กละน้อย แล้วภายหลังลูกก็มีการโต้ตอบพ่อแม่ ด้วยวิธีเดียวกันกับที่เขาได้รับ หรือรุนแรงกว่า ซึ่งนั้นอาจทำให้เด็กกลายเป็นคนใช้อารมณ์ ในการแก้ปัญหา หรือตัดสินเรื่องต่างๆ ในอนาคต 

ด้าน พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือหมอมินบานเย็น  ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” จึงได้แนะนำ 5 พฤติกรรม ที่พ่อแม่ไม่ควรทำกับลูกในเวลาที่โกรธ

ให้ลูกรัก-เกรงใจ เริ่มได้จากความใกล้ชิดในวัยเด็ก

หมอจิตเด็ก เผย 9 วิธี เลี้ยงลูกผิดจนเป็นเหตุให้ "เด็กติดเกม"

จิตแพทย์ เตือนพ่อแม่อย่าขู่ลูกให้กลัว เพื่อเลิกเล่นมือถือ แนะอธิบายด้วยเหตุผล

1) ตะโกน 
บ่อยๆ เลยที่เวลาโกรธ เสียงเราจะดังขึ้น แล้วยิ่งตะโกนไป นอกจากเราจะเหนื่อย เจ็บคอ บางทีลูกก็ไม่ฟัง กลับตะโกนใส่เราอีก กลายเป็นตะโกนไปตะโกนมา คุยกันไม่รู้เรื่อง ลูกไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่อยากจะบอก รอใจเย็น คุยกันด้วยเหตุผล มากกว่าต้องใช้เสียงที่ดัง 

2) ตี 
พอเราโกรธ บางครั้งเราก็อยากจะทำโทษลูก เราหงุดหงิดที่ลูกไม่เชื่อฟัง เลยตีไปสักป้าบสองป้าบ การที่เราตีลูกเวลาโกรธมากๆ ช่วงนั้นการตีของเรามักจะรุนแรงกว่าปกติ ด้วยอารมณ์ที่ท่วมท้น ทำให้เราลงมืออย่างหนัก พอทำไปแล้วลูกก็อาจจะหยุดพฤติกรรม แต่สิ่งที่ตามมาคือ ลูกก็จะซึมซับการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง แถมสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับลูกก็จะแย่ลง พ่อแม่ก็ไม่สบายใจที่ตีลูก ตีเสร็จแล้ว ลูกไม่เข้าใจว่าพ่อแม่ต้องการให้เขาทำอะไร ปัญหาพฤติกรรมก็ยังคงค้างคา จัดการไม่ได้เสียที รอให้หายโกรธ ทำโทษด้วยวิธีอื่นๆ น่าจะดีกว่า 

3) ประชด 
คำพูดประชดประชัน เช่น 'รู้แบบนี้ไม่มีลูกเสียก็ดี เลี้ยงยาก เลี้ยงเย็นนัก' มักจะหลุดจากปากเวลาที่เราโกรธ เพราะตอนที่พูดเราอาจจะสะใจดี แต่จะทำให้ลูกรู้สึกแย่ แถมไม่เข้าใจชัดเจนว่าพ่อแม่ต้องการให้เขาแก้ไขพฤติกรรมยังไงด้วย 

4) เปรียบเทียบ  
ก็เหมือนกับการประชดประชัน คำพูดเปรียบเทียบทำให้คนฟังรู้สึกไม่ดี ไม่มีใครอยากถูกนำตัวเองไปเทียบกับใคร เด็กๆก็เช่นกัน คำพูดอย่างเช่น 'ดูตัวอย่างน้องเขาบ้างสิ กลับถึงบ้านก็ทำการบ้านทันที ไม่เห็นต้องให้แม่บ่นเลย' นอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ชอบใจ เด็กก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่แม่ต้องการจะสื่อ จริงๆ แล้ว แม่ก็เพียงอยากให้เด็ก ทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยเท่านั้น  

5) เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ 
สิ่งที่เด็กไม่ชอบเลยคือ เวลาที่พ่อแม่โกรธ แล้วแทนที่จะพูดถึงเรื่องในปัจจุบัน แต่กลับย้อนอดีต ว่าที่ผ่านมาเด็กๆทำอะไรบ้างให้พ่อแม่โกรธหรือหงุดหงิด แล้วก็พูดยืดยาว ทำให้เรายิ่งหงุดหงิด แล้วเด็กก็หงุดหงิดเช่นกัน กลายเป็นคุยไม่รู้เรื่อง ทะเลาะกันไปไกล สรุปว่าไม่ได้คุยกันในเรื่องที่เป็นปัจจุบัน แต่ขุดเอาเรื่องที่ผ่านมาในอดีตมาเป็นประเด็น 

ขณะเดียวกันพญ.เบญจพร ยังระบุว่า  จริงๆแล้วเด็กๆ ก็ไม่อยากทำให้พ่อแม่โกรธ ตรงกันข้ามอยากทำให้พ่อแม่พอใจ ชมเชย ดั้งนั้น พ่อแม่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ โกรธได้แต่อย่าให้ความโกรธนั้นทำให้ทำหรือพูดอะไรลงไปอย่างขาดสติรู้ตัว รู้เท่าทันอารมณ์ บอกเด็กว่าพฤติกรรมไหนที่เราไม่พอใจ และจะชอบมากกว่า ถ้าเขาทำแบบไหน บอกอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องใช้อารมณ์รุนแรง  เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้จากเราด้วยในเรื่องการควบคุมอารมณ์ ในเวลาที่โกรธและโมโห ถ้าพ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ