ไขปม "พระสงฆ์สึก” ทรัพย์สินเป็นของใคร


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ตลอดทั้งวัน เมื่อนายศรีสุวรรณ จรรยา ออกมาโพสต์ว่า ทรัพย์สินของ พส. หรือ พระมหาไพรวัลย์ถ้าสึกก็ต้องตกเป็นของวัด แต่ก็มีหลายคนที่โต้กลับว่าไม่เห็นด้วย เพราะตามกฎหมายไม่ได้ระบุไว้แบบนั้น ทำให้มีการโต้กันไป โต้กันมาอย่างดุเดือดระหว่าง พระมหาไพรวัลย์ กับ นายศรีสุวรรณ ดังนั้นในวันนี้เรามาไขข้อข้องใจกันว่าหากพระสงฆ์สึก ทรัพย์สินจะตกเป็นของใครกันแน่

เพจเฟซบุ๊กของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เจ้าตัวได้โพสต์ว่า “ทรัพย์สินของ พส.ที่ได้มาในขณะอยู่ในสมณเพศ ต้องตกเป็นของวัดเมื่อพระรูปนั้นลาสิกขา เว้นแต่จำหน่ายจ่ายโอนไปก่อนที่จะสละสมณเพศ” ทำให้เกิดกระแสโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางว่าจริงๆแล้วทรัพย์สินที่เป็นของส่วนตัว รวมถึงปัจจัยต่างๆที่ญาติโยมถวายให้กับพระ หากเมื่อสึกไปแล้วทรัพย์สินจะต้องตกเป็นของใครกันแน่

"ศรีสุวรรณ" กล่าวหาแรง 2 พส. อลัชชี ขั้นปาราชิก ร้องมหาเถรสมาคมเอาผิด "พระมหาไพรวัลย์ - พระมหาสมปอง"...

พส.ไพรวัลย์”ตอกกลับ “ศรีสุวรรณ” เรียนกม.ไปเพื่ออะไร

เมื่อมีคนออกมาทักท้วงถึงข้อกฎหมายนี้จำนวนมากว่า นายศรีสุวรรณ อาจจะเข้าใจในตัวบทกฎหมายผิดหรือไม่ เพราะในกฎหมายระบุถึงแค่กรณีพระสงฆ์มรณภาพเท่านั้น

ปรากฎว่าล่าสุด ในเพจเฟซบุ๊กของนายศรีสุวรรณได้ขึ้นอีกหนึ่งข้อความ คือ “เราจะสนับสนุนให้คนมาบวชเป็นพระเพื่อแสวงหาสะสมทรัพย์สินเงินทอง เมื่อได้มากอักโขแล้วก็ลาสิกขา นำทรัพย์นั้นติดตัวไปเสวยสุขได้หรือ” ก็มีหลายคนไปคอมเมนต์ต่อว่าเป็นการแถ เบี่ยงประเด็นหรือไม่

 ขณะที่บนเพจของพระมหาไพรวัลย์เอง วันนี้ก็ตอบโต้เดือด เช่น บอกว่า“ข้าวแม้แต่ทัพพีเดียวไม่เคยใส่ให้ แต่เสร่อวุ่นวายไม่ว่างเว้น” หรือแม้แต่การยกตัวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623 มาโพสต์ พร้อมระบุว่า “เรียนกฎหมายมาเพื่อที่จะโง่ขนาดนี้ เสียเวลาเรียนเพื่ออะไร”

 ทีมข่าวจึงเดินทางไปสอบถามกับ รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยทำวิจัยเรื่องพระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัวมาก่อนหน้านี้

อาจารย์ดนัย ระบุว่า  ถ้าจะเอาตามหลักพระธรรมวินัยจริงๆ พระธรรมวินัยบอกไว้ชัดเจนว่า พระสงฆ์ห้ามรับเงินหรือปัจจัยสิ่งของมีค่าทุกอย่าง ต้องมีคนอื่นจัดการให้

แต่เข้าใจว่ายุคสมัยโลกทุนนิยมมันเปลี่ยนไป ผู้คนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำบุญ พระสงฆ์เองก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เช่นค่ารถ ค่าการศึกษา รวมถึงพระบางรูปก็มีเงินเดือนประจำตำแหน่งด้วย พระสงฆ์จึงต้องมีบัญชีและทรัพย์สินส่วนตัว ส่วนเกณฑ์ที่บอกว่าอันไหนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว หรือทรัพย์สินส่วนรวมก็ดูง่ายๆ

 ถ้าเป็นของที่ถวายส่วนรวม หรือเป็นของชิ้นใหญ่ หรือมีมูลค่ามาก  เช่น บ้าน รถ ที่ดิน  ที่ถวายแก่สงฆ์  ก็ควรจะต้องตกเป็นของส่วนรวม แต่ถ้าเป็นสิ่งของที่มีขนาดเล็ก ไม่ได้มีมูลค่ามาก เช่น ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว บาตร ผ้าไตรจีวร  ก็ให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวได้  ซึ่งปัจจุบันพระธรรมวินัยอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว ในขณะที่กฎหมายคณะสงฆ์ก็ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องนี้เอาไว้ด้วย

2 พส. ชวนแฟนคลับนั่งสมาธิ - แผ่เมตตากลางไลฟ์

ทีมข่าวสอบถามเรื่องนี้ไปยัง นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ทนายเดชาบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับนายศรีสุวรรณ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1623 ระบุไว้เพียงว่า “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม”

หมายความว่ากฎหมายพูดถึงแค่กรณีที่พระมรณภาพ หรือเสียชีวิต แล้วไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้เท่านั้น ทรัพย์สินส่วนถึงจะตกเป็นของวัด ดังนั้นถ้าพระมหาไพรวัลย์จะสึก ทรัพย์สินส่วนตัวของพระมหาไพรวัลย์ก็ยังเป็นของพระมหาไพรวัลย์

 ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่เป็นพระดังที่สึกออกไป ก็นำเงินจำนวนมากออกไปใช้จ่ายเป็นเรื่องปกติ และมองว่าการที่นายศรีสุวรรณ ออกมาโพสต์เช่นนี้ ทนายเดชามองว่าเป็นเรื่องหิวแสง และอาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

ขณะที่ ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “นี้มันกฎมั่วแล้ว ไม่ใช่กฎหมาย” ทรัพย์สินของพระภิกษุ ก็เป็นของภิกษุรูปนั้น แม้ลาสิขาไปแล้วก็ตาม  ส่วนจะตกเป็นของวัดได้ก็ต่อเมื่อพระมรณภาพ และวัดรับมรดกเท่านั้น ควรเลิกมั่วหรือควรเลิกโหนก่อนกันดีครับ

 นอกจากนี้ยังโพสต์ติดตลกอีกว่า “ถ้าเป็นอย่างที่นายศรีสุวรรณบอก ถ้า พส. สึกออกมาแล้วสมบัติส่วนตัวต้องตกเป็นของวัด งั้นนายกรัฐมนตรีลาออก หรือ หมดวาระ ทรัพย์สินต้องตกเป็นของแผ่นดินซิครับท่าน”

ด้านพระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว เปิดเผยว่า การแบ่งทรัพย์สินที่พระสงฆ์ได้รับระหว่างบวชนั้น การจะแบ่งว่าส่วนไหนเป็นของพระสงฆ์ หรือส่วนไหนเป็นของวัด ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของ

ผู้ให้ว่าต้องการถวายให้กับตัวพระสงฆ์เพื่อเอาไว้ใช้จ่าย หรือบริจาคกับทางวัดประเด็นนี้เงินที่เป็นทรัพย์ส่วนตัวของพระสงฆ์ หากจะเก็บไว้ใช้จ่ายหลังลาสิกขาก็ไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดพระธรรมวินัย เพราะตามกฎหมายแล้วกำหนดไว้เฉพาะกรณีมรณภาพเท่านั้น ว่าทรัพย์สินจะต้องตกเป็นของศาสนา แต่ไม่ได้มีกำหนดในกรณีลาสิกขา

แม้การเก็บทรัพย์สินไว้จะไม่ผิดกฎหมายหรือผิดพระธรรมวินัย แต่พระพยอม  มองว่า หากมีมากจนเกินควร เช่น มีทรัพย์สินเป็นหลักร้อยล้านตามที่เป็นข่าวก็อาจจะไม่เหมาะสม  เพราะการที่พระจับเงินควรเป็นการ “จับจ่าย” คือใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ  เป็นต้น หรือ “จับแจก” เป็นทุนการศึกษา

 แต่การ “จับหมัก” เก็บสะสมไว้จนมากมายนั้นไม่ควรเกิดขึ้นในวงการสงฆ์พระพยอม ยังได้แนะนำพระมหาไพรวัลย์ กรณีที่มีการตั้งข้อครหาเรื่องการถือครองทรัพย์สิน ถ้าหากต้องการให้ตนเองพ้นข้อครหา หลังลาสิกขาไปแล้วก็ควรใช้ชีวิตสมถะ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และหากมีโอกาสก็ควรกลับมาทำประโยชน์ให้พระพุทธศาสนาอีกครั้ง

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ