ปศุสัตว์ ประกาศ "ไทยพบโรค ASF ในสุกร" จากโรงฆ่า จ.นครปฐม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณะทำงานด้านวิชาการฯ แถลงพบ ASF ในสุกรจากโรงฆ่าจังหวัดนครปฐม เร่งสอบหาแหล่งที่มาพร้อมประสานหารือภาคีเครือข่ายเพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะ ปธ.คณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF ในสุกร พบการรายงาน โรค African Swine Fever หรือ ASF ในสุกร จากสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างเบื้องต้นจากจำนวนทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบผลบวกเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่าง จากตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม 

รู้จักโรค ASF โรคอหิวาต์​แอฟริกา​ใน​สุกร​ หายนะหมูไทย

กรมปศุสัตว์ตรวจสอบฟาร์มสุกร ค้นหาสาเหตุโรคระบาดในสุกร ต้นตอเนื้อหมูแพง

โดยชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของสุกรและสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป

 

จากการสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ในวันที่ 8-9 มกราคม 2565 รวมทั้งหมด 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และ โรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง โดยในวันที่ 8 มกราคม 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 6 ฟาร์ม รวม 196 ตัวอย่าง และวันที่ 9 มกราคม 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 4 ฟาร์ม 109 ตัวอย่าง และ 2 โรงฆ่า 4 ตัวอย่าง รวม 113 ตัวอย่าง

พร้อมกันนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการดำเนินการในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการเกิด โรค ASF  ล่าสุดได้ประสานกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมโรคแล้ว 

8 อาการติด "โอมิครอน" สธ.ชี้ เกินครึ่งไม่แสดงอาการ

สำหรับการดำเนินงานกรณีตรวจพบโรคในประเทศ กรมปศุสัตว์จะต้องดำเนินการประกาศเป็นเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี  5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค ร่วมกับจะต้องพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรคและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรคการเคลื่อนย้ายสุกรทุกวัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์

โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้ง การขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์จะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบ

ล่าสุดได้มีการประชุมคณะกรรมการวิชาการป้องกันควบคุมโรค ASF แล้ว เพื่อทราบผลการตรวจพบเชื้อ ASF จาก 1 ตัวอย่างที่เก็บมาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม จากตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บมา 309 ตัวอย่าง โดยยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว  กรมปศุสัตว์เห็นควรประกาศประเทศไทยพบโรค ASF และรายงานไป OIE ต่อไป

ปศุสัตว์ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็วเหมือนดังที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมโรคอย่างเช่น โรคไข้หวัดนก และขอเรียนพี่น้องประชาชนให้ทราบว่าสุกรที่เป็นโรค ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ผู้บริโภคยังสามารถรับประทานเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องให้ความร้อนปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยหรือพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 หรือ Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

ฉีดวัคซีนเข็ม 3 "ไฟเซอร์" หรือ "แอสตร้าฯ" สู้กับ "โอมิครอน" ได้ดีแค่ไหน เช็กภูมิคุ้มกันที่นี่!

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ