พบแมงมุมทารันทูลาสายพันธุ์ใหม่ในไทย “ตากสินัส แบมบัส (Taksinus bambus)”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิจัยไทย นักแมงมุมวิทยา และ “โจโฉ-ทรงธรรม” รายงานค้นพบแมงมุมทารันทูลาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย

ดร.นรินทร์ ชมภูพวง นักแมงมุมวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รายงานการค้นพบแมงมุมทารันทูลา (Tarantula) สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย และเป็นสายพันธุ์ที่ต่างจากทารันทูลาสายพันธุ์อื่น เพราะมีแหล่งอาศัยอยู่ในต้นไผ่

ดร.นรินทร์ เล่าว่า โดยทั่วไป ไผ่มีความสำคัญต่อสัตว์บางชนิด เนื่องจากเป็นแหล่งอาหาร ที่พักอาศัย และที่อยู่อาศัย และล่าสุด ภายในลำไผ่ ได้ค้นพบทารันทูลาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเก็บตัวอย่างมาได้จากบริเวณแม่โถ จังหวัดตาก

อธิบดีกรมอุทยานฯ ขู่จับคู่ “โจโฉ-คมฉาน” หากเข้าป่าไม่ได้รับอนุญาต หวั่นทำลายธรรมชาติ

เผยภาพแมงมุมทารันทูล่าสีน้ำเงินพันธุ์หายาก

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยศึกษาทารันทูลาสายพันธุ์นี้มาก่อน ทำให้นี่เป็นกรณีแรกที่มีการค้นพบทารันทูลาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการใช้ชีวิตในก้านไผ่

ทีมผู้ค้นพบได้ตั้งชื่อทารันทูลาสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ตากสินัส แบมบัส (Taksinus bambus)” เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือพระยาตาก พระมหากษัตริย์ของไทย ซึ่งทรงเคยเป็นเจ้าเมืองตาก หรือจังหวัดตากในปัจจุบัน

ดร.นรินทร์เล่าว่า ผู้ที่พบทารันทูลาตาสินัส แบมบัส เป็นคนแรกในประเทศไทย คือ โจโฉ-ทรงธรรม สิปปวัฒน์ ยูทูบเบอร์คอนเทนต์ป่าและสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีผู้ติดตามกว่า 2.45 ล้านคน โดยโจโฉได้พบ แล้วส่งรูปมาให้ ดร.นรินทร์ดู เพื่อศึกษาว่าเป็นแมงมุมพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยถูกค้นพบหรือไม่

จากนั้นโจโฉจึงรวมทีมกับ ดร.นรินทร์ และคุณชวลิต ส่งแสงโชติ นักสะสมแมงมุมและผู้ศึกษาแมงมุม จนสามารถระบุยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ในที่สุด

โดยทั่วไป ทารันทูลาส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและบนต้นไม้ โดยทารันทูลาพันธุ์ที่อาศัยบนต้นไม้ก็จะอยู่บนต้นไม้หลากหลายประเภท แต่จนถึงขณะนี้ นักวิจัยยังไม่เคยระบุทารันทูลาอาศัยเฉพาะในต้นไม้บางประเภทเท่านั้น

“สัตว์เหล่านี้มีความโดดเด่นอย่างแท้จริง พวกมันเป็นทารันทูลาชนิดแรกที่เรารู้จักที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศไผ่” ดร.นรินทร์กล่าว

พวกเขาพบทารันทูลา ตากสินัส แบมบัส ในลำต้นที่โตเต็มที่ของก้านไผ่เอเชีย (Gigantochloa sp.) โดยทางเข้ารังมีขนาด 2-3 ซม. ถึงรอยแยกขนาดใหญ่ ภายในโพรงท่อมีเส้นใยทั้งที่โคนกิ่งหรือตรงกลางของต้นไผ่ ทารันทูลาทั้งหมดที่พบในลำต้นได้สร้างท่อดักแด้ที่ปกคลุมโพรงลำต้น

โดยปกติ ทารันทูลาไม่สามารถเจาะลำต้นไผ่ได้ จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสัตว์อื่น เพราะไผ่เป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด ทั้งด้วงหนอนไม้ไผ่ หนอนไม้ไผ่ แมลงภู่ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู นอกจากนี้ ไผ่ยังอาจแตกร้าวได้จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของความชื้นในบรรยากาศ ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติ และที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

ตากสินัส ถูกจัดเป็นสกุลใหม่ภายในวงศ์ย่อย Ornithoctoninae ของทารันทูลาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบนี้นับเป็นการกำหนดสกุลใหม่ให้ทารันทูลาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกในรอบ 104 ปี หลังจากที่แชมเบอร์ลินกำหนดสกุล Melognathus ไว้ในวงศ์ย่อยนี้เมื่อปี 1917

สิ่งที่ทำให้ ตากสินัส แตกต่างจากทารันทูลาสายพันธุ์อื่น ๆ ในเอเชียคือ เพศผู้มีส่วนที่เรียกว่า Embolus บริเวณรยางค์คู่ที่สองสั้นกว่า ซึ่งส่วนนี้จะใช้ในการถ่ายอสุจิไปยังภาชนะเก็บน้ำเชื้อของตัวเมียระหว่างการผสมพันธุ์

นอกจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาแล้ว ที่อยู่อาศัยและการกระจายตัวของมันยังแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน เพราะโดยทั่วไปมักพบทารันทูลาต้นไม้ในเอเชียในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา และบอร์เนียว แต่ตากสินัสกลับถูกค้นพบในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ค่อยพบแมงมุมพวกนี้

“เราตรวจสอบต้นไม้ทั้งหมดในพื้นที่ที่มีการค้นพบสายพันธุ์นี้ และพบว่า สายพันธุ์นี้มีความพิเศษเฉพาะตัว เพราะมีความเกี่ยวพันกับต้นไผ่ และเราไม่เคยพบเห็นทารันทูลาสายพันธุ์นี้ในพืชชนิดอื่นเลย แปลว่า ต้นไผ่มีความสำคัญต่อทารันทูลาสายพันธุ์นี้ ไม่เพียงแต่ในแง่ของวิถีชีวิตเท่านั้น แต่ยังพบได้เฉพาะในป่าบนเนินเขาสูงทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะบอกว่าตอนนี้พวกมันเป็นทารันทูลาที่หายากที่สุดในประเทศไทย” นรินทร์กล่าว

เขาเสริมว่า “ขั้นตอนแรกคือการแจ้งให้ผู้คนทราบเกี่ยวกับแมงมุมสายพันธุ์นี้ จากนั้นพื้นที่ป่าแห่งนี้จะต้องได้รับการจัดการและคุ้มครองสัตว์ป่า”

น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ยังมีสิ่งมีชีวิตในประเทศไทยมากน้อยเพียงใดที่ยังไม่ถูกค้นพบ แต่ป่าไทยในปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่เพียง 31.64% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งนักวิจัยหลายคนยังคงปฏิบัติภารกิจในการวิจัยและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพภายในป่าเหล่านี้จากการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลชีพบางชนิด

อ่านงานวิจัยการค้นพบฉบับเต็มที่นี่

ภาพจาก ดร.นรินทร์ ชมภูพวง / โจโฉ-ทรงธรรม สิปปวัฒน์

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ