จินตนาการ-ไม่ย่อท้อ เรื่องเล่าจากเด็กไทยที่วันนี้เป็นนักวิจัยระดับโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับคนไทยรุ่นใหม่ที่วันนี้ยืนอยู่ในเวทีนวัตกรรมโลก ถึงมุมมองเรื่องวิทยาศาสตร์ การศึกษา และอนาคตของโลก

500 ปีก่อน ไม่มีใครเชื่อว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ไม่มีใครคิดว่าโลกจะมียานพาหนะที่บินได้เหมือนนก เมื่อไม่กี่สิบปีก่อน ไม่เคยมีใครคิดว่าเราจะสามารถหาคำตอบทุกอย่างได้ด้วยปลายนิ้ว เหล่านี้คือความน่าทึ่งของ “วิทยาศาสตร์” ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปจนถึงโลกทั้งใบ

และในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งภัยธรรมชาติ คุณภาพชีวิต อวกาศ ภัยคุกคามนอกโลก โลกเสมือน ฯลฯ ทำให้ “วิทยาศาสตร์” ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชีวิตของเราและโลก

"อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง" กับสภาวะ Climate Change จะเป็นอย่างไร "ถ้าน้ำทะเลร้อนขึ้น"

เด็กยุคโควิด-19 "เผชิญสภาวะหมดไฟ"

“ใช้อาหารสู้โลกร้อน” เมื่อสิ่งที่เรารับประทานทุกวัน มีผลกับโลกทั้งใบ

แต่คำว่าวิทยาศาสตร์กับประเทศไทยดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลกันคนละโยชน์ในความรู้สึกของหลายคน และวิทยาศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในวิชาที่เด็กไทยมองว่ายากวิชาหนึ่ง (พอ ๆ กับคณิตศาสตร์)

เช็กที่นี่ ! รวมจุดฉีดวัคซีนโควิด ทั้งแบบลงทะเบียน และ Walk in

ในขณะเดียวกัน ก็มีชาวไทยหลายคนที่มีโอกาสก้าวเข้าไปอยู่ในเวทีวิทยาศาสตร์โลก จากความหลงใหลในระดับบ้าคลั่ง ผสานกับจินตนาการที่ไม่มีที่สิ้นสุด

รายการ “กาแฟดำ” โดย สุทธิชัย หยุ่น ได้สัมภาษณ์พิเศษ พัทน์ ภัทรนุธาพร ชาวไทยที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกในศูนย์วิจัยมีเดียแล็บ (Media Lab) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การศึกษา และอนาคตของโลก

ความฝันวัยเด็กที่ไม่ถูกมองว่าเพ้อฝัน

พัทน์ในวัย 26 ปีเล่าว่า ตัวเขามีความฝันตั้งแต่เด็ก ว่าอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเข้าไปเรียนที่สถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐฯ จากความชอบในวัยเด็กที่สนใจในไดโนเสาร์ เทคโนโลยี อวกาศ หุ่นไซบอร์ก

“ผมรู้สึกว่า ถ้าเราอยากจะรู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร เราจะต้องไปที่ต้นกำเนิดอนาคต ซึ่งก็คือสหรัฐฯ ซึ่ง MIT ก็เป็นหนึ่งในสถาบันอันดับต้น ๆ ด้านเทคโนโลยี รู้สึกว่าถ้าไปอยู่ที่นั่นน่าจะเข้าใจมากขึ้น เข้าใจอดีต ปัจจุบัน แล้วเชื่อมโยงไปหาอนาคต” เขาบอก

สำหรับคำว่า มีเดีย ในชื่อศูนย์วิจัยมีเดียแล็บนั้น หลายคนอาจนึกถึงว่าเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย แต่จริง ๆ แล้วมันมาจาก “มีเดียม (Medium)” หรือตัวกลาง สะท้อนว่า สถาบันนี้จะเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างศาสตร์หลาย ๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งวิทยาศาสตร์ ศิลปะ วิศวกรรม และเชื่อมมนุษย์เข้ากับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

“ศูนย์วิจัยมีเดียแล็บคือการทำอะไรที่มันข้ามสาขา แล้วเชื่อมต่อมนุษย์ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อันนี้คือจิตวิญญาณของเรา” พัทน์บอก
เขาเสริมว่า ตัวอย่างผลงานที่ชัดเจนของมีเดียแล็บ คือเทคโนโลยี “จอสัมผัส” ที่เราใช้อยู่ในสมาร์ทโฟนทุกวันนี้

โรงพยาบาลกลาง เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีน เข็ม 3 ไฟเซอร์ 24 ม.ค. นี้

“จอสัมผัสที่เราใช้กันทุกวันนี้ มีเดียแล็บพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 ช่วงนั้นคนทั่วโลกก็หัวเราะว่า จะทำจอสัมผัสขึ้นมาทำไม เอานิ้วไปแตะเดี๋ยวนี้ก็เลอะ เดี๋ยวก็ไปบังเนื้อหาบนจอ แต่มนุษยชาติก็ก้าวข้ามสิ่งนั้นมาได้ ทุกวันนี้เราก็ใช้จอสัมผัสกันเต็มไปหมด นี่ก็เป็นหนึ่งในการ Breakthrough หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”

แต่การจะก้าวเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็ทำได้ และตัวของพัทน์เอง ก็ต้องฟันฝ่าด่านต่าง ๆ รวมถึงรักษาความหลงใหลที่ตัวเองมีต่อวิทยาศาสตร์ไว้

“ตั้งแต่เด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่จะเปิดเป็นสื่อการเรียนรู้ตั้งแต่การ์ตูนโดราเอมอน สารคดีไดโนเสาร์ คุณพ่อคุณแม่บอกว่า ถ้าเกิดสนใจอะไร ให้ทำไปให้สุดเลย เพราะว่าอนาคตจะเป็นของคนที่ทำอะไรแล้วไปสุดทาง ถ้าชอบอะไรก็ขอให้ค้นคว้ามันให้สุดทาง ผมก็หาว่าผมชอบอะไร ซึ่งมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ … แล้วก็อันที่ผมคิดว่าสำคัญคือคุณแม่จะให้ความสำคัญกับจินตนาการ” พัทน์บอก

แต่คำว่า “จินตนาการ” นี้ บางคนอาจมองว่ามันคือเรื่องฝันเฟื่อง เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่กับพ่อแม่ของพัทน์

“ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ผมอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่าน คือไม่เคยมีไฟฟ้า แล้วก็มีไฟฟ้า … ท่านอยู่ในยุคที่ทุกอย่างค่อย ๆ เปลี่ยนจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล และเขาก็เห็นว่าโลกในอนาคตมันก็จะไม่เหมือนกับที่เขาเคยเห็นมา” พัทน์เล่าให้ฟังถึงความเปิดกว้างของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาไม่สูญเสียความหลงใหลของตัวเองไป

คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยบอกว่าความฝันของผมเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาก็บอกว่าสมัยเขาไม่มีไฟฟ้าอยู่ดี ๆ ตอนนี้มีไฟฟ้า หรือคุณแม่ผมเล่าเรื่องไมโครเวฟว่า แต่ก่อนเวลาจะทำกับข้าวต้องจุดไฟ แต่เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์ที่แค่ใส่อาหารเข้าไปแล้วก็ ติ๊ง! ได้แล้ว ดังนั้น ความเป็นไปไม่ได้มันเกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราเสมอ” เขาบอก

สภาพแวดล้อมการเรียน ปัจจัยที่ทำให้ความฝันไม่หยุดชะงัก

อีกเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้พัทน์ได้เป็นพัทน์ในอย่างทุกวันนี้ คือสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเมื่อครั้งยังอยู่ประเทศไทย

“ผมว่าตอนเป็นเด็ก เราทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์หรือมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในตัว ผมจำได้ว่า ตอนประถมเคยไปที่โรงเรียนแล้วไปเจอน้ำพุ่งขึ้นมาจากท่อ ผมกับเพื่อนก็ไปรุมสงสัยว่า มันคืออะไร แล้วก็ไปหาอ่านหนังสือว่าเป็นแมลงอะไรหรือเปล่าที่มันไปกวนน้ำอยู่ตรงนั้น แล้วครูเดินผ่านมาก็บอกว่าท่อแตก อุตส่าห์คิดว่ามันต้องเป็นแมลงต้องเป็นสัตว์ประหลาดหรืออะไรที่ทำให้น้ำพุ่งออกมา ซึ่งตอนนั้นเราถกเถียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากในการพยายามเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น” 

พัทน์บอกว่า เขาโชคดีที่อยู่ในโรงเรียนซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าแค่ผลลัพธ์ ได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ จนได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project; JSTP)

JSTP เป็นโครงการของรัฐบาลซึ่งเอาเด็กประหลาด เด็กที่คิดอะไรนอกกรอบ มารวมกัน แล้วมีที่ปรึกษาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มาคอยสนับสนุนเราว่าเราอยากวิจัยเรื่องอะไร และอยู่กับอาจารย์ที่ทำเรื่องนั้น … ซึ่งผมว่าที่ปรึกษาสำคัญมาก เพราะเขาคือคนที่เห็นความเป็นไปได้ เห็นศักยภาพของเด็ก แล้วให้คำปรึกษา สนับสนุนให้เขาได้ทำในสิ่งที่ต้องการ”

พัทน์บอกว่า เขาเริ่มให้ความสนใจเรื่องของ “การเชื่อมต่อ” ซึ่งแก่นแท้ของมีเดียแล็บในช่วงที่โครงงานวิทยาศาสตร์สมัยมัธยม
“ผมได้ทำโครงงานเกี่ยวกับการใช้แบคทีเรียไปย่อยสลายโฟมในแหล่งขยะ ก็ต้องไปวิเคราะห์ว่า แบคทีเรียกลุ่มไหนที่น่าจะย่อยโฟมได้ มันทำงานยังไง ไปเลี้ยงเซลล์ ไปเก็บขยะมา แล้วก็เริ่มเข้าใจว่าชีววิทยามันไม่พอ มันต้องรู้เรื่องเคมีด้วยจึงจะเข้าใจ กระบวนการเคมีอย่างเดียวก็ไม่พอ เราอยากจะเข้าใจว่ามันทำงานยังไงมันก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาวิเคราะห์ผลต่าง ๆ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าทุกอย่างมันโยงเข้าหากันมากกว่าที่เราเห็นในตอนเด็ก”

เมื่อเขารู้ตัวชัดเจนแต่เนิ่น ๆ ว่า ความฝันของเขาคือการศึกษาต่อในสหรัฐฯ เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ พัทน์จึงตัดสินใจไปเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐออริกอนก่อน 1 ปี เพื่อสัมผัสสภาพแวดล้อมการเรียนของที่นั่น และสิ่งที่เขาพบสร้างความประหลาดใจให้เขาพอสมควร

“อันหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจคือ ต่อให้โรงเรียนมันจะอยู่ในชนบท เพราะออริกอนเป็นรัฐทางเหนือ ติดแคนาดา มันไม่ใช่เมืองหลวงของสหรัฐฯ แต่ว่าคุณภาพการศึกษามันก็สุดยอดมาก”

โดยสิ่งที่ทำให้พัทน์มองการศึกษาสหรัฐฯ ต่างจากประเทศไทยคือ “การตั้งคำถามของครูผู้สอน”

“ครูที่นั่นเขาถามคำถามดีมาก ทุกครั้งก่อนเริ่มเรียนเขาจะเปิดด้วยคำถามก่อน แล้วให้เด็กถกเถียงกัน ครูจะไม่ได้เข้ามาแล้วบอกว่า นี่คือสิ่งที่เราจะเรียน … ในไทย เวลาคุณครูถามเด็กจะถามว่า เข้าใจหรือเปล่า จำได้ไหม แต่เวลาครูที่ต่างประเทศถาม เขาจะถามว่า มันฟังดูเข้าท่าไหม มันเป็นไปได้ไหม เป็นเหตุเป็นผลไหม” พัทน์เล่าความประทับใจจากโรงเรียนในสหรัฐฯ

ไม่ย่อท้อ ดั่งเล่าปี่เสาะหายอดกุนซือขงเบ้ง

หลังจากเรียนมัธยมปีสุดท้ายที่สหรัฐฯ ก็เป็นช่วงเวลาของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งหนึ่งในสถาบันที่พัทน์เล็งไว้คือ MIT แต่เขาสอบไม่ติด ซึ่งเขาก็ไม่ได้ย่อท้อ เพราะเข้าใจดีว่า MIT เป็นสถาบันที่มีมาตรฐานสูงในการรับนักศึกษา

ประกอบกับผู้ปกครองในบ้านที่เขาไปพักอาศัยด้วยขณะอยู่สหรัฐฯ (โฮสต์) ก็บอกเขาว่า “ให้เป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก ดีกว่าเป็นปลาเล็กในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่” ทำให้พัทน์ตัดสินใจค่อย ๆ ไปทีละก้าว โดยจะเรียนปริญญาตรีที่อื่นและทำงานวิจัยก่อนเพื่อเก็บประสบการณ์ ก่อนจะเข้า MIT ในระดับปริญญาโทและเอก

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้พัทน์ยังคงมุ่งมั่นกับการเข้า MIT ไปเปลี่ยนใจ คือการได้ฟังการเสวนาของ ศ.แพตตี้ มาส์ (Pattie Maes) แห่ง MIT ในประเด็น “Wearable Technology” หรือเทคโนโลยีที่สามารถสวมใส่ได้ เช่น เป็นนาฬิกาที่ใส่เป็นแว่นได้ ฯลฯ

พัฒน์บอกว่า “ผมเห็นแล้วรู้สึกว้าวมาก ว่านี่แหละ คือคนที่ทำไซบอร์กของจริง คือคนที่ทำให้มนุษย์กับเทคโนโลยีมันหลอมรวมกันของจริง ไม่ใช่แค่ชีววิทยา ไม่ใช่แค่ฟิสิกส์ ไม่ใช่แค่เคมี แต่มันคือ Human Computer Interaction ผมได้รับแรงบันดาลใจจากเขามาก ๆ เป็นแฟนคลับเป็นติ่งของเขาเลย”

เด็กไทยคนนี้ ยังได้มีโอกาสส่งอีเมลโต้ตอบกับ ศ.แพตตี้ อยู่เป็นระยะ ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และเพื่อให้อาจารย์เห็นว่า ตัวเขายังไม่ท้อถอยกับเส้นทางนี้

ระหว่างนั้น พัทน์ก็ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ซึ่งมีสถาบันที่ชื่อว่า “Biodesign” หรือการใช้องค์ความรู้ทางชีววิทยามาออกแบบโครงสร้างต่าง ๆ

ที่นี่ พัทน์ได้ทำงานวิจัยหลากหลายและทำโครงงานเกี่ยวกับอวกาศ เพราะเป็นเรื่องที่ยังอยู่ในความสนใจ กระทั่งเรียนจบปริญญาตรี ก็ยังทำการวิจัยต่อ เช่น ศึกษาการใช้แบคทีเรียในการย่อยสลายยูเรเนียมซึ่งเป็นกัมมันตภาพรังสีที่อันตราย

เขาสั่งสมประสบการณ์เรื่อย ๆ กระทั่งได้พบกับนักวิจัยรางวัลโนเบลคนหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์เก่า MIT และเขียนจดหมายแนะนำให้เขามีโอกาสสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาโทกับ MIT

โดยก่อนหน้าที่จะสอบเข้า MIT พัทน์เล่าว่า เขาพยายามขอพบ ศ.แพตตี้ อยู่หลายครั้ง จนได้รับโอกาสให้พบเป็นการส่วนตัว 30 นาทีในครั้งที่ 3

ผมนึกถึงเรื่องสามก๊กที่คุณพ่อเคยเล่าว่า เล่าปี่ต้องไปขอพบขงเบ้งถึง 3 ครั้ง จึงจะได้เจอ ผมก็รู้สึกว่า ก็ต้องลองถึงจะได้เจอ ถ้าจะไปหาปรมาจารย์ เราก็ต้องอดทน เราก็ต้องเฝ้าเพียรไปขอพบ” เขาบอก และเสริมว่า เมื่อได้พบ พัทน์ก็นำผลงานที่ตัวเองเคยทำมาพูดคุย บอกเล่าความใฝ่ฝัน แรงบันดาลใจ ไอเดียต่าง ๆ กลายเป็น 30 นาทีที่มีค่าและยิ่งทำให้พัทน์อยากเข้าเรียนที่ MIT มากยิ่งขึ้น

จนท้ายที่สุด พัทน์ได้เข้ารอบสอบสัมภาษณ์ และเจอกับคำถาม “สุดแนว” ที่คงไม่มีใครคิดว่าการสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นแบบนี้

พัทน์แชร์ประสบการณ์ในวันนั้นว่า “เขาอยากรู้ว่าเราเป็นใคร คิดสร้างสรรค์ได้แค่ไหน ทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้หรือเปล่า … ในตอนที่ผมสัมภาษณ์เขาก็ถามว่า ‘ถ้าต้องการสร้างโปเกมอนให้มันเกิดขึ้นใหม่ขึ้นมาจะทำยังไง’ … ผมก็นึกถึงโปเกมอนตัวหนึ่งที่มันมีปืนใหญ่อยู่ที่หลังที่เป็นเต่า ผมบอกว่า ผมจะพิมพ์ปืนใหญ่ด้วย 3D Printing เอามาติดที่หลังเต่า เอาเซ็นเซอร์มาติดกับขาเต่า พอเต่าเดินก็จะยิงปืนออกมาได้ แล้วเขาก็บอกว่าผ่าน”

ยื่นภาษีของปี 2564 ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 และภาษีทุกประเภท ผ่าน E-FILING

ฝันเป็นจริงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราว

แม้ความฝันกลายเป็นความจริง เข้าเรียนที่ MIT ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของโลกได้สำเร็จ แต่นี่ไม่ใช่จุดจบของเรื่องราว และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอนาคตที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้

โดยผลงานล่าสุดของพัทน์ที่หลายคนต้องทึ่ง คือการหาวิธีเชื่อมต่อเทคโนโลยีกับมนุษย์ให้สามารถปรับตัวเข้ากับอวกาศที่มีสภาพสุดขั้วได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือการมีรังสีมหาศาล

“แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องของสุขภาพ เพราะว่านักบินอวกาศต้องเผชิญทั้งภาวะไร้แรงโน้มถ่วง การแผ่รังสีที่รุนแรง หลายครั้งที่นักบินอวกาศป่วยมันไม่มีโรงพยาบาลให้ไปหา เราก็เลยพยายามจะสร้าง ‘อุปกรณ์สวมใส่ที่ผลิตยาบนตัวนักบินอวกาศ’” พัทน์บอก

โดยการวิจัยนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างชีววิทยากับดิจิทัล เป็นความพยายามในการโปรแกรมระบบทางชีวภาพให้เหมือนกับการโปรแกรมคอมพิวเตอร์

เขาเล่าว่า “เราจะทำให้นักบินอวกาศผลิตยาบนร่างกายได้ โดยที่เราเลี้ยงแบคทีเรียที่เราตัดต่อพันธุกรรมให้ผลิตยาอยู่บนร่างกาย แล้วเราใช้สัญญาณดิจิทัลบอกแบคทีเรียว่า ตอนนี้ให้ผลิตยาตัวนี้ ตอนนี้ให้ผลิตวัคซีนตัวนี้ โดยที่แบคทีเรียจะบันทึกโปรแกรมคำสั่งให้ผลิตสารเคมีพวกนี้ไว้แล้ว”

ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงตัวต้นแบบซึ่งยังต้องการการทดสอบอีกหลายครั้ง แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “มันเป็นเรื่องน่าทึ่งหากเราสามารถใช้แบคทีเรียผลิตยาบนชุดตัวนักบินอวกาศได้ ทำให้สิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้”

บทเรียนหนึ่งที่พัทน์สอนเราในวันนี้ ไม่ว่าจะเมื่อครั้งเขายังเรียนประถมแล้วตามหาเบื้องหลังเหตุการณ์ท่อแตก หรือการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะมีประโยชน์กับนักบินอวกาศในวันข้างหน้า คือ “จินตนาการที่ขาดองค์ความรู้ก็เป็นได้แค่เรื่องเพ้อฝัน แต่องค์ความรู้ที่ขาดจินตนาการ จะไม่นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่”

พัทน์ยังฝากถึงเด็กไทยและสังคมรอบข้างว่า “ผมคิดว่าถ้าเราฝึกสอนให้เด็ก ๆ ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้แรงบันดาลใจที่มี ใช้สิ่งที่เขาเรียนรู้รอบตัว ความสนใจจากการ์ตูนภาพยนตร์ นำมาสร้างบางอย่างที่เขาภาคภูมิใจและตื่นเต้นกับมัน มันจะมีหนทางไปเอง … มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่คุณเคยทำมาในอดีต เพราะเราสามารถที่จะสร้างโจทย์ใหม่ ๆ และเป็นคนแรกที่ทำมันได้สำเร็จ ผมว่านี่คือแก่นแท้ของโลกอนาคต

ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษ พัทน์ ภัทรนุธาพร ชาวไทยที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกในศูนย์วิจัยมีเดียแล็บ (Media Lab) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) โดย สุทธิชัย หยุ่น ในรายการ “กาแฟดำ” วันพฤหัสบดีที่ 20 ม.ค. 65 เวลา 22.45 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ