จินตนาการ-ไม่ย่อท้อ เรื่องเล่าจากเด็กไทยที่วันนี้เป็นนักวิจัยระดับโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับคนไทยรุ่นใหม่ที่วันนี้ยืนอยู่ในเวทีนวัตกรรมโลก ถึงมุมมองเรื่องวิทยาศาสตร์ การศึกษา และอนาคตของโลก

500 ปีก่อน ไม่มีใครเชื่อว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ไม่มีใครคิดว่าโลกจะมียานพาหนะที่บินได้เหมือนนก เมื่อไม่กี่สิบปีก่อน ไม่เคยมีใครคิดว่าเราจะสามารถหาคำตอบทุกอย่างได้ด้วยปลายนิ้ว เหล่านี้คือความน่าทึ่งของ “วิทยาศาสตร์” ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปจนถึงโลกทั้งใบ

และในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งภัยธรรมชาติ คุณภาพชีวิต อวกาศ ภัยคุกคามนอกโลก โลกเสมือน ฯลฯ ทำให้ “วิทยาศาสตร์” ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชีวิตของเราและโลก

"อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง" กับสภาวะ Climate Change จะเป็นอย่างไร "ถ้าน้ำทะเลร้อนขึ้น"

เด็กยุคโควิด-19 "เผชิญสภาวะหมดไฟ"

“ใช้อาหารสู้โลกร้อน” เมื่อสิ่งที่เรารับประทานทุกวัน มีผลกับโลกทั้งใบ

แต่คำว่าวิทยาศาสตร์กับประเทศไทยดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลกันคนละโยชน์ในความรู้สึกของหลายคน และวิทยาศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในวิชาที่เด็กไทยมองว่ายากวิชาหนึ่ง (พอ ๆ กับคณิตศาสตร์)

เช็กที่นี่ ! รวมจุดฉีดวัคซีนโควิด ทั้งแบบลงทะเบียน และ Walk in

ในขณะเดียวกัน ก็มีชาวไทยหลายคนที่มีโอกาสก้าวเข้าไปอยู่ในเวทีวิทยาศาสตร์โลก จากความหลงใหลในระดับบ้าคลั่ง ผสานกับจินตนาการที่ไม่มีที่สิ้นสุด

รายการ “กาแฟดำ” โดย สุทธิชัย หยุ่น ได้สัมภาษณ์พิเศษ พัทน์ ภัทรนุธาพร ชาวไทยที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกในศูนย์วิจัยมีเดียแล็บ (Media Lab) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การศึกษา และอนาคตของโลก

ความฝันวัยเด็กที่ไม่ถูกมองว่าเพ้อฝัน

พัทน์ในวัย 26 ปีเล่าว่า ตัวเขามีความฝันตั้งแต่เด็ก ว่าอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเข้าไปเรียนที่สถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐฯ จากความชอบในวัยเด็กที่สนใจในไดโนเสาร์ เทคโนโลยี อวกาศ หุ่นไซบอร์ก

“ผมรู้สึกว่า ถ้าเราอยากจะรู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร เราจะต้องไปที่ต้นกำเนิดอนาคต ซึ่งก็คือสหรัฐฯ ซึ่ง MIT ก็เป็นหนึ่งในสถาบันอันดับต้น ๆ ด้านเทคโนโลยี รู้สึกว่าถ้าไปอยู่ที่นั่นน่าจะเข้าใจมากขึ้น เข้าใจอดีต ปัจจุบัน แล้วเชื่อมโยงไปหาอนาคต” เขาบอก

สำหรับคำว่า มีเดีย ในชื่อศูนย์วิจัยมีเดียแล็บนั้น หลายคนอาจนึกถึงว่าเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย แต่จริง ๆ แล้วมันมาจาก “มีเดียม (Medium)” หรือตัวกลาง สะท้อนว่า สถาบันนี้จะเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างศาสตร์หลาย ๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งวิทยาศาสตร์ ศิลปะ วิศวกรรม และเชื่อมมนุษย์เข้ากับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

“ศูนย์วิจัยมีเดียแล็บคือการทำอะไรที่มันข้ามสาขา แล้วเชื่อมต่อมนุษย์ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อันนี้คือจิตวิญญาณของเรา” พัทน์บอก
เขาเสริมว่า ตัวอย่างผลงานที่ชัดเจนของมีเดียแล็บ คือเทคโนโลยี “จอสัมผัส” ที่เราใช้อยู่ในสมาร์ทโฟนทุกวันนี้

โรงพยาบาลกลาง เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีน เข็ม 3 ไฟเซอร์ 24 ม.ค. นี้

“จอสัมผัสที่เราใช้กันทุกวันนี้ มีเดียแล็บพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 ช่วงนั้นคนทั่วโลกก็หัวเราะว่า จะทำจอสัมผัสขึ้นมาทำไม เอานิ้วไปแตะเดี๋ยวนี้ก็เลอะ เดี๋ยวก็ไปบังเนื้อหาบนจอ แต่มนุษยชาติก็ก้าวข้ามสิ่งนั้นมาได้ ทุกวันนี้เราก็ใช้จอสัมผัสกันเต็มไปหมด นี่ก็เป็นหนึ่งในการ Breakthrough หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี”

แต่การจะก้าวเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็ทำได้ และตัวของพัทน์เอง ก็ต้องฟันฝ่าด่านต่าง ๆ รวมถึงรักษาความหลงใหลที่ตัวเองมีต่อวิทยาศาสตร์ไว้

“ตั้งแต่เด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่จะเปิดเป็นสื่อการเรียนรู้ตั้งแต่การ์ตูนโดราเอมอน สารคดีไดโนเสาร์ คุณพ่อคุณแม่บอกว่า ถ้าเกิดสนใจอะไร ให้ทำไปให้สุดเลย เพราะว่าอนาคตจะเป็นของคนที่ทำอะไรแล้วไปสุดทาง ถ้าชอบอะไรก็ขอให้ค้นคว้ามันให้สุดทาง ผมก็หาว่าผมชอบอะไร ซึ่งมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ … แล้วก็อันที่ผมคิดว่าสำคัญคือคุณแม่จะให้ความสำคัญกับจินตนาการ” พัทน์บอก

แต่คำว่า “จินตนาการ” นี้ บางคนอาจมองว่ามันคือเรื่องฝันเฟื่อง เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่กับพ่อแม่ของพัทน์

“ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ผมอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่าน คือไม่เคยมีไฟฟ้า แล้วก็มีไฟฟ้า … ท่านอยู่ในยุคที่ทุกอย่างค่อย ๆ เปลี่ยนจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล และเขาก็เห็นว่าโลกในอนาคตมันก็จะไม่เหมือนกับที่เขาเคยเห็นมา” พัทน์เล่าให้ฟังถึงความเปิดกว้างของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาไม่สูญเสียความหลงใหลของตัวเองไป

คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยบอกว่าความฝันของผมเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาก็บอกว่าสมัยเขาไม่มีไฟฟ้าอยู่ดี ๆ ตอนนี้มีไฟฟ้า หรือคุณแม่ผมเล่าเรื่องไมโครเวฟว่า แต่ก่อนเวลาจะทำกับข้าวต้องจุดไฟ แต่เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์ที่แค่ใส่อาหารเข้าไปแล้วก็ ติ๊ง! ได้แล้ว ดังนั้น ความเป็นไปไม่ได้มันเกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราเสมอ” เขาบอก

สภาพแวดล้อมการเรียน ปัจจัยที่ทำให้ความฝันไม่หยุดชะงัก

อีกเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้พัทน์ได้เป็นพัทน์ในอย่างทุกวันนี้ คือสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเมื่อครั้งยังอยู่ประเทศไทย

“ผมว่าตอนเป็นเด็ก เราทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์หรือมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในตัว ผมจำได้ว่า ตอนประถมเคยไปที่โรงเรียนแล้วไปเจอน้ำพุ่งขึ้นมาจากท่อ ผมกับเพื่อนก็ไปรุมสงสัยว่า มันคืออะไร แล้วก็ไปหาอ่านหนังสือว่าเป็นแมลงอะไรหรือเปล่าที่มันไปกวนน้ำอยู่ตรงนั้น แล้วครูเดินผ่านมาก็บอกว่าท่อแตก อุตส่าห์คิดว่ามันต้องเป็นแมลงต้องเป็นสัตว์ประหลาดหรืออะไรที่ทำให้น้ำพุ่งออกมา ซึ่งตอนนั้นเราถกเถียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากในการพยายามเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น” 

พัทน์บอกว่า เขาโชคดีที่อยู่ในโรงเรียนซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าแค่ผลลัพธ์ ได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ จนได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project; JSTP)

JSTP เป็นโครงการของรัฐบาลซึ่งเอาเด็กประหลาด เด็กที่คิดอะไรนอกกรอบ มารวมกัน แล้วมีที่ปรึกษาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มาคอยสนับสนุนเราว่าเราอยากวิจัยเรื่องอะไร และอยู่กับอาจารย์ที่ทำเรื่องนั้น … ซึ่งผมว่าที่ปรึกษาสำคัญมาก เพราะเขาคือคนที่เห็นความเป็นไปได้ เห็นศักยภาพของเด็ก แล้วให้คำปรึกษา สนับสนุนให้เขาได้ทำในสิ่งที่ต้องการ”

พัทน์บอกว่า เขาเริ่มให้ความสนใจเรื่องของ “การเชื่อมต่อ” ซึ่งแก่นแท้ของมีเดียแล็บในช่วงที่โครงงานวิทยาศาสตร์สมัยมัธยม
“ผมได้ทำโครงงานเกี่ยวกับการใช้แบคทีเรียไปย่อยสลายโฟมในแหล่งขยะ ก็ต้องไปวิเคราะห์ว่า แบคทีเรียกลุ่มไหนที่น่าจะย่อยโฟมได้ มันทำงานยังไง ไปเลี้ยงเซลล์ ไปเก็บขยะมา แล้วก็เริ่มเข้าใจว่าชีววิทยามันไม่พอ มันต้องรู้เรื่องเคมีด้วยจึงจะเข้าใจ กระบวนการเคมีอย่างเดียวก็ไม่พอ เราอยากจะเข้าใจว่ามันทำงานยังไงมันก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาวิเคราะห์ผลต่าง ๆ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าทุกอย่างมันโยงเข้าหากันมากกว่าที่เราเห็นในตอนเด็ก”

เมื่อเขารู้ตัวชัดเจนแต่เนิ่น ๆ ว่า ความฝันของเขาคือการศึกษาต่อในสหรัฐฯ เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ พัทน์จึงตัดสินใจไปเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐออริกอนก่อน 1 ปี เพื่อสัมผัสสภาพแวดล้อมการเรียนของที่นั่น และสิ่งที่เขาพบสร้างความประหลาดใจให้เขาพอสมควร

“อันหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจคือ ต่อให้โรงเรียนมันจะอยู่ในชนบท เพราะออริกอนเป็นรัฐทางเหนือ ติดแคนาดา มันไม่ใช่เมืองหลวงของสหรัฐฯ แต่ว่าคุณภาพการศึกษามันก็สุดยอดมาก”

โดยสิ่งที่ทำให้พัทน์มองการศึกษาสหรัฐฯ ต่างจากประเทศไทยคือ “การตั้งคำถามของครูผู้สอน”

“ครูที่นั่นเขาถามคำถามดีมาก ทุกครั้งก่อนเริ่มเรียนเขาจะเปิดด้วยคำถามก่อน แล้วให้เด็กถกเถียงกัน ครูจะไม่ได้เข้ามาแล้วบอกว่า นี่คือสิ่งที่เราจะเรียน … ในไทย เวลาคุณครูถามเด็กจะถามว่า เข้าใจหรือเปล่า จำได้ไหม แต่เวลาครูที่ต่างประเทศถาม เขาจะถามว่า มันฟังดูเข้าท่าไหม มันเป็นไปได้ไหม เป็นเหตุเป็นผลไหม” พัทน์เล่าความประทับใจจากโรงเรียนในสหรัฐฯ

ไม่ย่อท้อ ดั่งเล่าปี่เสาะหายอดกุนซือขงเบ้ง

หลังจากเรียนมัธยมปีสุดท้ายที่สหรัฐฯ ก็เป็นช่วงเวลาของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งหนึ่งในสถาบันที่พัทน์เล็งไว้คือ MIT แต่เขาสอบไม่ติด ซึ่งเขาก็ไม่ได้ย่อท้อ เพราะเข้าใจดีว่า MIT เป็นสถาบันที่มีมาตรฐานสูงในการรับนักศึกษา

ประกอบกับผู้ปกครองในบ้านที่เขาไปพักอาศัยด้วยขณะอยู่สหรัฐฯ (โฮสต์) ก็บอกเขาว่า “ให้เป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก ดีกว่าเป็นปลาเล็กในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่” ทำให้พัทน์ตัดสินใจค่อย ๆ ไปทีละก้าว โดยจะเรียนปริญญาตรีที่อื่นและทำงานวิจัยก่อนเพื่อเก็บประสบการณ์ ก่อนจะเข้า MIT ในระดับปริญญาโทและเอก

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้พัทน์ยังคงมุ่งมั่นกับการเข้า MIT ไปเปลี่ยนใจ คือการได้ฟังการเสวนาของ ศ.แพตตี้ มาส์ (Pattie Maes) แห่ง MIT ในประเด็น “Wearable Technology” หรือเทคโนโลยีที่สามารถสวมใส่ได้ เช่น เป็นนาฬิกาที่ใส่เป็นแว่นได้ ฯลฯ

พัฒน์บอกว่า “ผมเห็นแล้วรู้สึกว้าวมาก ว่านี่แหละ คือคนที่ทำไซบอร์กของจริง คือคนที่ทำให้มนุษย์กับเทคโนโลยีมันหลอมรวมกันของจริง ไม่ใช่แค่ชีววิทยา ไม่ใช่แค่ฟิสิกส์ ไม่ใช่แค่เคมี แต่มันคือ Human Computer Interaction ผมได้รับแรงบันดาลใจจากเขามาก ๆ เป็นแฟนคลับเป็นติ่งของเขาเลย”

เด็กไทยคนนี้ ยังได้มีโอกาสส่งอีเมลโต้ตอบกับ ศ.แพตตี้ อยู่เป็นระยะ ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และเพื่อให้อาจารย์เห็นว่า ตัวเขายังไม่ท้อถอยกับเส้นทางนี้

ระหว่างนั้น พัทน์ก็ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ซึ่งมีสถาบันที่ชื่อว่า “Biodesign” หรือการใช้องค์ความรู้ทางชีววิทยามาออกแบบโครงสร้างต่าง ๆ

ที่นี่ พัทน์ได้ทำงานวิจัยหลากหลายและทำโครงงานเกี่ยวกับอวกาศ เพราะเป็นเรื่องที่ยังอยู่ในความสนใจ กระทั่งเรียนจบปริญญาตรี ก็ยังทำการวิจัยต่อ เช่น ศึกษาการใช้แบคทีเรียในการย่อยสลายยูเรเนียมซึ่งเป็นกัมมันตภาพรังสีที่อันตราย

เขาสั่งสมประสบการณ์เรื่อย ๆ กระทั่งได้พบกับนักวิจัยรางวัลโนเบลคนหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์เก่า MIT และเขียนจดหมายแนะนำให้เขามีโอกาสสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาโทกับ MIT

โดยก่อนหน้าที่จะสอบเข้า MIT พัทน์เล่าว่า เขาพยายามขอพบ ศ.แพตตี้ อยู่หลายครั้ง จนได้รับโอกาสให้พบเป็นการส่วนตัว 30 นาทีในครั้งที่ 3

ผมนึกถึงเรื่องสามก๊กที่คุณพ่อเคยเล่าว่า เล่าปี่ต้องไปขอพบขงเบ้งถึง 3 ครั้ง จึงจะได้เจอ ผมก็รู้สึกว่า ก็ต้องลองถึงจะได้เจอ ถ้าจะไปหาปรมาจารย์ เราก็ต้องอดทน เราก็ต้องเฝ้าเพียรไปขอพบ” เขาบอก และเสริมว่า เมื่อได้พบ พัทน์ก็นำผลงานที่ตัวเองเคยทำมาพูดคุย บอกเล่าความใฝ่ฝัน แรงบันดาลใจ ไอเดียต่าง ๆ กลายเป็น 30 นาทีที่มีค่าและยิ่งทำให้พัทน์อยากเข้าเรียนที่ MIT มากยิ่งขึ้น

จนท้ายที่สุด พัทน์ได้เข้ารอบสอบสัมภาษณ์ และเจอกับคำถาม “สุดแนว” ที่คงไม่มีใครคิดว่าการสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นแบบนี้

พัทน์แชร์ประสบการณ์ในวันนั้นว่า “เขาอยากรู้ว่าเราเป็นใคร คิดสร้างสรรค์ได้แค่ไหน ทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้หรือเปล่า … ในตอนที่ผมสัมภาษณ์เขาก็ถามว่า ‘ถ้าต้องการสร้างโปเกมอนให้มันเกิดขึ้นใหม่ขึ้นมาจะทำยังไง’ … ผมก็นึกถึงโปเกมอนตัวหนึ่งที่มันมีปืนใหญ่อยู่ที่หลังที่เป็นเต่า ผมบอกว่า ผมจะพิมพ์ปืนใหญ่ด้วย 3D Printing เอามาติดที่หลังเต่า เอาเซ็นเซอร์มาติดกับขาเต่า พอเต่าเดินก็จะยิงปืนออกมาได้ แล้วเขาก็บอกว่าผ่าน”

ยื่นภาษีของปี 2564 ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 และภาษีทุกประเภท ผ่าน E-FILING

ฝันเป็นจริงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราว

แม้ความฝันกลายเป็นความจริง เข้าเรียนที่ MIT ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของโลกได้สำเร็จ แต่นี่ไม่ใช่จุดจบของเรื่องราว และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอนาคตที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้

โดยผลงานล่าสุดของพัทน์ที่หลายคนต้องทึ่ง คือการหาวิธีเชื่อมต่อเทคโนโลยีกับมนุษย์ให้สามารถปรับตัวเข้ากับอวกาศที่มีสภาพสุดขั้วได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือการมีรังสีมหาศาล

“แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องของสุขภาพ เพราะว่านักบินอวกาศต้องเผชิญทั้งภาวะไร้แรงโน้มถ่วง การแผ่รังสีที่รุนแรง หลายครั้งที่นักบินอวกาศป่วยมันไม่มีโรงพยาบาลให้ไปหา เราก็เลยพยายามจะสร้าง ‘อุปกรณ์สวมใส่ที่ผลิตยาบนตัวนักบินอวกาศ’” พัทน์บอก

โดยการวิจัยนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างชีววิทยากับดิจิทัล เป็นความพยายามในการโปรแกรมระบบทางชีวภาพให้เหมือนกับการโปรแกรมคอมพิวเตอร์

เขาเล่าว่า “เราจะทำให้นักบินอวกาศผลิตยาบนร่างกายได้ โดยที่เราเลี้ยงแบคทีเรียที่เราตัดต่อพันธุกรรมให้ผลิตยาอยู่บนร่างกาย แล้วเราใช้สัญญาณดิจิทัลบอกแบคทีเรียว่า ตอนนี้ให้ผลิตยาตัวนี้ ตอนนี้ให้ผลิตวัคซีนตัวนี้ โดยที่แบคทีเรียจะบันทึกโปรแกรมคำสั่งให้ผลิตสารเคมีพวกนี้ไว้แล้ว”

ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงตัวต้นแบบซึ่งยังต้องการการทดสอบอีกหลายครั้ง แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “มันเป็นเรื่องน่าทึ่งหากเราสามารถใช้แบคทีเรียผลิตยาบนชุดตัวนักบินอวกาศได้ ทำให้สิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้”

บทเรียนหนึ่งที่พัทน์สอนเราในวันนี้ ไม่ว่าจะเมื่อครั้งเขายังเรียนประถมแล้วตามหาเบื้องหลังเหตุการณ์ท่อแตก หรือการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะมีประโยชน์กับนักบินอวกาศในวันข้างหน้า คือ “จินตนาการที่ขาดองค์ความรู้ก็เป็นได้แค่เรื่องเพ้อฝัน แต่องค์ความรู้ที่ขาดจินตนาการ จะไม่นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่”

พัทน์ยังฝากถึงเด็กไทยและสังคมรอบข้างว่า “ผมคิดว่าถ้าเราฝึกสอนให้เด็ก ๆ ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้แรงบันดาลใจที่มี ใช้สิ่งที่เขาเรียนรู้รอบตัว ความสนใจจากการ์ตูนภาพยนตร์ นำมาสร้างบางอย่างที่เขาภาคภูมิใจและตื่นเต้นกับมัน มันจะมีหนทางไปเอง … มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่คุณเคยทำมาในอดีต เพราะเราสามารถที่จะสร้างโจทย์ใหม่ ๆ และเป็นคนแรกที่ทำมันได้สำเร็จ ผมว่านี่คือแก่นแท้ของโลกอนาคต

ติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษ พัทน์ ภัทรนุธาพร ชาวไทยที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกในศูนย์วิจัยมีเดียแล็บ (Media Lab) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) โดย สุทธิชัย หยุ่น ในรายการ “กาแฟดำ” วันพฤหัสบดีที่ 20 ม.ค. 65 เวลา 22.45 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ