
กทม. เร่งแก้ "ทางม้าลาย" เพิ่มปุ่มกดสัญญาณไฟคนข้าม สำรวจพื้นที่เสี่ยง
เผยแพร่
กทม. บูรณาการประชุมร่วมตำรวจ หลายหน่วยงาน เร่งแก้ปัญหา "ทางม้าลาย" เคาะเพิ่มปุ่มกดสัญญาณไฟคนข้าม สำรวจพื้นที่เสี่ยง ปรับปรุงทาสี ทุกทางข้าม
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมการบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร นายประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ขับรถเร็วทำให้ทัศนวิสัยมองไม่เห็นคนข้ามถนน
ปรับปรุงทางม้าลายจุดเกิดเหตุคดี “หมอกระต่าย”
ผู้ว่าฯ กทม. ฮึ่ม! เล็งขยาย "จับ-ปรับ" เช็กบิลผู้ฝ่าฝืน จอดทับเส้นทางม้าลาย เพิ่มอีกหลายแยก
ได้มีการประชุมกันอย่างพร้อมหน้า ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ประชุมได้หารือมาตรฐานและรูปแบบเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) ตามหลักวิศวกรรมจราจร การตรวจสอบข้อมูลเส้นทางข้ามในแต่ละพื้นที่ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมและป้องกันอุบัติเหตุ การบังคับใช้กฎหมายข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเส้นทางข้าม การกำหนดความเร็วในเขตชุมชน โดยเฉพาะในทางข้ามและการพิจารณาปรับปรุงรูปแบบเครื่องหมายเส้นทางข้าม การติดตามการดำเนินการกำหนดใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถจักรยานยนต์ขนาด 400 ซีซีขึ้นไป (บิ๊กไบค์) ระบบตัดคะแนนและสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
พล.ต.ท.โสภณ เปิดเผยว่า วันนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมหารือมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุในเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) โดยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่จุดเกิดอุบัติเหตุ บริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท โดยเร่งด่วน โดยจะติดตั้งสัญญาณไฟคนข้ามแบบกดปุ่ม ซึ่งจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ รวมทั้งทาสีแดงและขยายความกว้างเส้นทางข้ามเพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นได้ชัดเจน โดยสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 วัน และการติดตั้งกล้อง CCTV AI เพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนเส้นทางข้าม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาติดตั้งประมาณ 30 วัน เพื่อเกิดความปลอดภัยสูงสุด
ส่วนการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของเส้นทางข้าม ในเบื้องต้น กรุงเทพมหานคร จะขอจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่ม รวมทั้งปรับกายภาพบริเวณทางข้ามที่สำรวจแล้วพบว่ามีความเสี่ยง จำนวน 100 จุด ส่วนจุดอื่น ๆ จะดำเนินการปรับปรุงป้ายเตือน ป้ายกำหนดความเร็ว ทาสีแดงพื้นเส้นทางข้าม เส้นชะลอความเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทางข้ามรวม 3,280 จุด ทำการติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบ 1,277 จุด ติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่ม 226 จุด และทาสีแดงพื้นเส้นทางข้ามแล้ว 430 จุด
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline