ขอบำเหน็จ-ขอกู้ "ผู้ประกันตนวัยเกษียณ" เสี่ยงภาวะยากจนกว่าเดิม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก คนรุ่นใหม่มีอัตราการครองโสดค่อนข้างสูง หรือ คนแต่งงานไปแล้วแต่ไม่ยอมมีบุตร อันเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และ สังคม

เมื่อโครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไป สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น คนวัยทำงานลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จึงทำให้ระบบประกันสังคมของไทยจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น และ มีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบบำนาญชราภาพให้แข็งแกร่ง

ล่าสุดมีรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เตรียมเสนอแก้กฎหมายเงินชราภาพให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วนี้ โดยให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ รับเงินแบบบำเหน็จ หรือ รับเงินบำนาญ และ สามารถกู้เงินโดยใช้กองทุนเป็นหลักประกันได้

ปรับสูตรคำนวน “เงินชราภาพ” กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทได้เพิ่มขึ้น

เตือนคริปโทเสี่ยงต่อสเถียรภาพทางการเงิน แนะเร่งออกมาตรการควบคุม

แต่รายงานของสหประชาชาติ พบว่าการสร้างระบบสิทธิประโยชน์ชราภาพรูปแบบใหม่ หรือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่ออนุญาตให้ผู้ประกันตนสามารถถอนสิทธิประโยชน์เป็นเงินบำเหน็จก่อนกำหนดได้ ไม่ควรได้รับการอนุมัติ เนื่องจากจะเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มเติมอีกมาก

คุณ จิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการอาวุโส ประจำประเทศไทยและสปป. ลาว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า ผู้ประกันตนไม่ควรเลือกรับเป็นเงินก้อนโต ก้อนใหญ่ หรือไม่ควรเลือกรับบำเหน็จ เพราะว่าการรับเงินบำเหน็จไม่ได้ช่วยลดความยากจนของคนที่จะแก่ หรือ คนที่จะเกษียณได้ในระยะยาว

“ตอนเด็กเราลำบาก เมื่อเราเห็นหนทางที่ทำให้ตัวเองดีขึ้น ก็จะมุ่งสู่การศึกษา การหารายได้ แต่เมื่อเราแก่ตัวไปพลังงานก็ลดลงจะให้ปากกัดตีนถีบแบบเมื่อก่อนมันก็ยาก”

แนวคิดง่ายๆ คือ การมีระบบที่ดีให้กับประกันสังคม ก็จะช่วยลดภาระ ยกตัวอย่างเช่น ภาระการกังวลต่อจิตใจ ที่รู้สึกกังวลว่าพรุ่งนี้ตื่นเช้ามาจะมีเงินพอใช้ไหม หรือ ว่าฉันจะป่วยไม่ได้ เมื่อป่วยแล้วก็ไม่รู้จะไปหาหมอได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น ระบบประกันสังคมมีความจำเป็นต่อผู้ใช้แรงงานทุกคน

ส่วนการแก้กฎหมายเงินชราภาพ โดยให้ผู้ประกันตน สามารถเลือกได้ใน 2 รูปแบบ ว่าจะรับเงินในรูปแบบบำเหน็จหรือบำนาญ และ เตรียมปรับแก้ให้สามารถขอเงินคืน นั้น คุณ จิตติมา ระบุว่า ILO ไม่ได้เห็นแย้งกับรมว.แรงงาน เชื่อว่าสิ่งที่ท่านดำริมา เพราะท่านได้พบปะกับพี่น้องประชาชน ได้พบกับพี่น้องแรงงาน ได้พบกับนายจ้าง ลูกจ้าง จึงเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นต่อแรงงานคนหนึ่งคืออะไร แต่สิ่งที่ ILO อยากจะเสนอก็คือ วิธีการ หรือ กระบวนการให้การอุดหนุนกับสิ่งนั้นน่าจะมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น ขอเลือก ในกรณีการขอเลือกรับบำเหน็จ คือ เลือกเป็นเงินก้อน แทนการรับบำนาญ โดยเงินบำนาญจะมีให้เราใช้ระยะยาวจนกว่าเราจะเสียชีวิต ต้องเข้าใจว่า ประกันสังคมคือการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” คือการประกันว่าคุณจะมีชีวิตการทำงานที่ดีในระดับหนึ่ง คุณจะมีชีวิตหลังเกษียณจากงานที่ดีอันเนื่องมาจากระบบการหักเงินเดือนสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นเงินที่ผู้ประกันตนส่งส่วนหนึ่ง นายจ้างส่งมาอีกส่วนหนึ่ง และ รัฐบาลส่งมาอีกส่วนหนึ่ง รวมเป็น 3 ส่วนที่ช่วยตั้งเงินกองนี้ขึ้นมา เมื่อไหรก็ตามที่ผู้ประกันตนขอรับเงินบำเหน็จ ผู้ประกันตนอาจจะติดขัดในระยะยาวได้

“เราเคยศึกษาในหลายๆประเทศพบว่าผู้ประกันตนเลือกรับบำเหน็จ  สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ภายใน 5 ปี เงินก้อนหมด หลังจากนั้นก็ต้องมานั่งขอเงินจากรัฐบาลอยู่ดี อย่างประเทศมาเลเซีย ผู้ประกันตนที่เลือกขอรับเงินบำเหน็จส่วนใหญ่ พบว่า ภายใน 5-10 ปี ก็ใช้เงินหมด แต่รายจ่ายที่ใช้ประจำยังมีอยู่ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร แม้กระทั่ง ค่าส่งเสริมการศึกษาลูก หรือ สิ่งเล็กๆน้อยๆที่จะต้องจ่ายเป็นรายเดือน เงินที่เราคิดว่าจะได้เดือนละ 2,000- 3,000 หรือ 5,000 บาท กลับไม่มีแล้ว เงินหมดไปแล้ว จะทำให้คนแก่ หรือ คนวัยเกษียณตกอยู่ในสภาวะที่ยากจนกว่าเดิม แต่ระบบที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คนแก่ยากจนกว่าเดิม คือ ระบบบำนาญ ที่จะเป็นหลักประกันว่าเมื่อ ผู้ประกันตน แก่ตัวลงต้องออกจากระบบแรงงาน หรือ ระบบโรงงานแล้ว ผู้ประกันตนก็ยังมีเงินใช้จนกว่าจะสิ้นชีวิตไป”

 คุณ จิตติมา ระบุอีกว่า ส่วนการเสนอให้ผู้ประกันตนสามารถกู้เงินมาได้โดยไม่มีดอกเบี้ย จริงแล้วเป็นไอเดียที่ดี เพื่อจะไม่ให้ผู้ประกันตนไปกู้หนี้นอกระบบ เข้าใจได้ว่าท่านรัฐมนตรีเข้าใจปัญหาในตรงนี้เพื่อต้องการตัดปัญหาวงจรอุบาทว์นี้ออกไป แต่สิ่งที่ ILO มองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คือ รัฐควรไปหาเงินกองทุนอื่น หรือ เสนอ ครม. ให้อนุมัติสร้างเงินกองทุนจำนวนหนึ่งเพื่อให้ผู้ประกันตนมากู้ออกไป โดยอาจจะเป็นการกู้ที่ปลอดดอกเบี้ยในช่วงแรก หรือ กู้ในหลักการดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกันตนที่อยากมีเงินก้อน สามารถมีเงินไปลงทุนได้ ตรงนี้น่าจะมีประโยชน์มากกว่า

เมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าให้ประกันตนสามารถนำเงินที่เก็บสะสมไว้มาเป็นหลักประกันในการขอเงินกู้ ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนจะมากู้จำนวนมาก เปอร์เซ็นต์ในการใช้คืนก็ไม่ค่อยแน่นอน ยิ่งยุคนี้เป็นยุคโควิด-19 และไม่รู้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน สมมุติว่าถ้ากู้เงินออกมาแล้วไปเปิดร้านเล็กๆ หรือ ร้านขายของชำ ถ้าธุรกิจเกิดเจ๊งขึ้นมา เขาก็จะไม่มีเงินมาใช้กองทุน และ จะทำลายความน่าเชื่อถือของกองทุนประกันสังคม จะทำให้ Cash Flows (กระแสเงินสด)ของกองทุนต่ำลง และ ทำให้สำนักลงทุน ที่อยู่ในสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถลงทุนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และ ไม่สามารถสร้างกำไรเพื่อจะนำเงินมาช่วยผู้ประกันตนในระยะยาวได้

ด้าน Mr. Nuno Cunha ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการคุ้มครองทางสังคม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า อย่างแรกเลยคือเราเข้าใจเหตุผลว่าผู้คนมีความต้องการเฉพาะหน้า และเข้าใจวัตถุประสงค์รัฐบาลที่ต้องการตอบสนองความต้องการเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน เราไม่สามารถมองแค่ในระยะสั้นได้ เพราะประชากรไทยกำลังกลายเป็นผู้สูงวัยมากขึ้น ถ้าคุณอนุญาตให้คนไทยกู้เงินประกันสังคมล่วงหน้าได้ ความเสี่ยงใหญ่คือผู้คนจะไม่มีเงินในอนาคต เพราะประกันสังคมเป็นเงินกองกลาง และถ้าคุณไม่จ่ายเงินคืน ซึ่งเรารู้ว่ามันจะมีปัญหาเมื่อต้องมีการจ่ายเงินคืน มันจะมีความเสี่ยงที่เงินส่วนนี้จะหายไป

ในขณะเดียวกัน ถ้าอนุญาตให้มีการเบิกถอนเงินก้อน ซึ่งประเทศที่ยอมให้ถอนเงินก้อนมีน้อยมาก แต่ในประเทศที่ยอมให้มีการถอนเงินก้อน ทุกคนก็จะเอาแต่เงินก้อน เมื่อคุณแก่ตัว รายจ่ายของคุณจะเป็นรายจ่ายประจำ คุณต้องจ่ายค่าอาหาร ค่ายา ค่าเดินทาง คุณต้องมีเงินรายเดือน เหมือนในประเทศที่มีระบบเงินบำนาญ ผู้คนจะได้เงินทุกเดือน เหมือนเราได้เงินเดือน

“พอคุณได้เงินก้อนใหญ่ขึ้น ทุกคนมีความสุขชอบการมีเงินก้อนใหญ่ ปัญหาคือเราอาจไม่ใช่คนที่วางแผนเก่ง เราอาจไม่ใช่นักลงทุนที่ดี เราอาจคิดว่าเราจะเริ่มทำธุรกิจ แต่ธุรกิจเจ๊ง หมายความว่า เรากำลังเปลี่ยนจากสิ่งที่มั่นคง สม่ำเสมอ ไปสู่สิ่งที่เสี่ยง”

Mr. Nuno Cunha  ระบุอีกว่า ประกันสังคมได้รับการออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงถ้าจุดประสงค์คือการให้เงินก้อน ให้คนนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ คำถามคือ ทำไมถึงให้คนจ่ายเงินเข้าระบบแต่แรกในเมื่อต่อมาเราจะไม่ทำตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม เราเข้าใจความต้องการและเหตุผลของรัฐบาลแต่เราคิดว่า ควรมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ และไม่ไปแตะต้องสิ่งที่จะสำคัญมาก ๆ เมื่อเราแก่ตัวลง ถ้าเราคิดว่าในอนาคตเมื่อเราแก่ตัวลงจะไม่มีคนที่เด็กกว่ามาคอยดูแล การตัดสินใจนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีคือแทนที่จะเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงของผู้สูงอายุ นโยบายใหม่นี้กลับจะลดรายได้ที่มั่นคงเหล่านี้ลง

“ผมคิดว่านี่น่าจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำในขณะนี้ ผมเข้าใจเหตุผล แต่เราควรคิดหาหนทางอื่นด้วย”

 

 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ