“กฎหมายใหม่” หลายฉบับเตรียมบังคับใช้ เพื่อพาประเทศไทยสู่ Better Thailand


โดย PPTV Online

เผยแพร่




งาน Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม ในช่วงของการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอรัปชั่นทันที ในตอนหนึ่ง ได้กล่าวถึงกฎหมายหลายฉบับทั้งที่กำลังมีผลบังคับใช้ และร่างกฎหมายที่กำลังมีการพิจารณา ซึ่งล้วนออกมาเพื่อสร้างประสิทธิภาพของระบบราชการไทยยุคใหม่ และเป็นอาวุธสำคัญให้กับประชาชนในอนาคต

โดยกฎหมายและร่างกฎหมายที่ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนั้น  เช่น

“ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” วันที่สอง ประชาชนร่วมงานล้นหลาม

ไฮไลต์งาน "Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม”

  • พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

สาระสำคัญ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป เป็นกฎหมายที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของประชาชนทั้งหมด เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลด้านการเงิน ฯลฯ โดยการจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ของหน่วยงานต่างๆ จะต้องได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลดังกล่าวก่อน

 

  • พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2558

สาระใจความสำคัญ คือ  ส่วนราชการทุกแห่งไม่ว่าจะเป็น ตำบล อำเภอ จังหวัด เขต กระทรวง ทบวง กรม มหาวิทยาลัย โรงเรียน อบต. อบจ. ฯลฯ ทุกหน่วยงานที่เป็นส่วนราชการต้องทำคู่มือขึ้นมาทุกที่ของใครของมัน เพื่อเป็นข้อมูลกับประชาชนเวลามาติดต่อเรื่องต่างๆ จะต้องไปจุดใด มีขั้นตอนอย่างไร และใช้เวลาดำเนินการเท่าใด 

ขณะเดียวกัน ต้องมีหนังสือขยายเวลาดำเนินการในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามกำหนดในคู่มือ เมื่อครบกำหนดแล้วเกินไป 1 วัน ประชาชนสามารถเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ โดยจะเข้าข่ายมาตรา 157 การรละเว้นปฏิบัติหน้าที่

เป็นกฎหมายเพื่อมุ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกเรื่อง ตั้งแต่ เปลี่ยนชื่อ ย้ายบ้าน เดินทาง ตั้งโรงงาน หลายหมื่นเรื่อง ซึ่งในอดีตมีความล่าช้าและยุ่งยาก จนนำมาซึ่งการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เกิดอาชีพนายหน้าต่างๆ รับอาสาติดต่อราชการ  

  • ร่าง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ..... 

สาระสำคัญ คือ ในการที่ประชาชนติดต่อกับทางราชการไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เดิมที่ประชาชนจะต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง กำหนดให้ประชาชนติดต่อกับทางราชการได้โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แอปพิลเคชันไลน์ เว็บไซต์ โดยไม่ต้องเดินทางไปปรากฏตัวเพื่อจะยื่นหลักฐานต่างๆ แต่จะสามารถดำเนินการผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งหมด

และห้ามเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยราชการใดบังคับประชาชนให้ต้องมาปรากฏตัวติดต่อด้วยตนเองเด็ดขาด ยกเว้น กรณีขอจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า การทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น ส่วนอะไรที่ไม่ได้ยกเว้น สามารถทำที่บ้านได้

  • ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.....

สาระสำคัญ คือ เมื่อมีคดีความ หรือแจ้งความดำเนินคดีต่างๆ ตั้งแต่ สถานีตำรวจ ศาล อัยการ ป.ป.ช. จะกำหนดเรื่องเวลาในการทำงานของแต่ละหน่วยงานในระบบกระบวนการยุติธรรมว่า แต่ละเรื่อง แต่ละส่วนจะใช้ระยะเวลาดำเนินการเท่าใด 

  • ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.....

สาระสำคัญ คือ กฎหมายฉบับนี้จากการถูกลงโทษปรับ จะมีประวัติอาชญากรรม หรือหากไม่มีเงินเสียค่าปรับจะต้องถูกจำคุกตามจำนวนการปรับ ดังนั้นแล้วกฎหมายใดที่ลงโทษปรับ ศาลสามารถเเปลี่ยนจากโทษปรับให้มาเป็นพินัย ได้ เช่น ถูกปรับ 1,000 บาท ให้เปลี่ยนมาเป็น พินัย 1,000 บาท ก็จะไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม ไม่ถูกกักขังกรณีไม่มีเงินเสียค่าพินัย แต่ศาลอาจลดราคา หรือให้บริการสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ ได้ตามศาลกำหนด

  • ร่าง พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.....

สาระสำคัญ คือ ห้ามไม่ให้ครูเป็นผู้ค้ำประกันนักเรียนที่ต้องการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ. แต่ผู้ค้ำประกันต้องเป็นญาติของนักเรียนเท่านั้น เมื่อถึงเวลาต้องใช้หนี้ จะสามารถผ่อนชำระได้ ลดดอกเบี้ยได้ หรือหากประพฤติดีจะสามารถลดวงเงินกู้ให้ได้ 

 

 

 

  •  พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 

สาระสำคัญ คือ จะต้องมีการจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการทุกประเภท ทุกกระทรวง ทุกคน ต้องอยู่ภายใต้ประมวลจริยธรรม หากฝ่าฝืนจะมีความผิดทางวินัย หรือถูกฟ้องร้อง หรือถูกลงโทษ และแม้แต่นักการเมือง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. สว. ก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม 

  • พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 

เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สาระสำคัญ คือ กฎหมายนี้อนุญาตให้การประชุมทั้งหลายของทางราชการรวมถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีสามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น Zoom จากเดิมกฎหมายเกี่ยวกับการประชุมของข้าราชการมักถูกกำหนดว่าต้องมีกรรมการมาประชุมด้วยตัวเอง หากไม่ครบองค์ประชุมไม่สามารถเปิดประชุมได้ หรือ องคืประชุมมาไม่ถึงกึ่งหนึ่งไม่สามารถลงมติได้ เป็นต้น แต่กฎหมายฉบับนี้ จะไม่สามารถอ้างได้อีกว่าไม่ครบองค์ประชุม หรือ ติดธุระมาไม่ได้

นอกจากนั้นแล้ว ระบบราชการจะ นำระบบ e-Service มาใช้ในราชการเพื่อความโปร่งใส โดยปัจจุบันมีการนำร่องไปแล้ว 350 หน่วยบริการราชการและคณะรัฐมนตรีบังคับใช้แล้ว 12 บริการ เช่น การยื่นภาษีเงินได้ประจำปี รวมถึงการให้บริการแบบ One Stop Service สำหรับการขอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจโดยได้นำร่องไปแล้ว 25 ประเภท ธุรกิจ

นอกนั้นยังมี พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.2565  , พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 โดยประชาชน 10,000 คนสามารถเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯได้โดยไม่ต้องรอ สส.,พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 . ร่าง พ.ร.บ. เข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.....,ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ..... เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่มีความล้าสมัย ซ้ำซ้อน เข้าใจยาก ขณะที่ระบบราชการไทย 2.5 ล้านคน หลายคน หลายหน่วยงานยังทำงานแบบเช้าชาม เย็นชาม ไร้ประสิทธิภาพ เข้าถึงยาก ล่าช้า นำมาซึ่งการคอรัปชั่น จ่ายใต้โต๊ะเพื่อซื้อความสะดวก รวดเร็ว

ดังนั้นแล้ว การใช้หลัก มาตรการ 3 ข้อคือ หลักการบริหารเพิ่มประสิทธิภาพของคน นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มาตรการทางปกครอง เพิ่มบทลงโทษ และปรับเปลี่ยนหลักกฎหมายให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากที่สุด ก็จะทำให้ ระบบราชการไทย ก้าวไปสู่ Better Thailand  ด้วย  4 ขึ้น 1 ลง คือ เป็นธรรมขึ้น (FAIRER) รวดเร็วขึ้น (FASTER) ง่ายขึ้น (EASIER) เข้าท่าขึ้น (SMARTER) และ ถูกลง (ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน) (CHAEPER)

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ