คน กทม.ติดโควิด-19 เข้าไม่ถึงการรักษา?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในรอบ 1-2 สัปดาห์ หลังกระทรวงสาธารณสุข ออกมายอมรับว่า เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ดูเหมือนว่า ซ้ำรอยเดิมหรือไม่ เพราะการปรับระบบการรักษา จากเดิมที่รักษาโรงพยาบาลไหนก็ได้ เป็นรักษาตามสิทธิของตัวเอง แต่ไปแล้วก็เต็ม ไปแล้วก็ไม่ได้ยา วันนี้กลุ่มจิตอาสาเลยเสนอว่า ปรับระบบการรักษาให้เป็นเหมือนเดิมได้ไหม ใครใกล้ที่ไหน ก็รักษาที่นั่น

ขณะนี้การรักษาโควิด-19 มีการปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ตอนนี้ผู้ป่วยทุกคนต้องกลับไปรักษาตามสิทธิของตัวเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น สิทธิ 30 บาท ประกันสังคม และข้าราชการ ซึ่งการรักษาก็จะเน้นในรูปแบบการรักษาผู้ป่วยนอก ให้ยารักษาโดยพิจารณาจากอาการ แล้วกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน หรือถ้าหากเป็นกลุ่มเสี่ยง มีอาการแย่ แพทย์จะให้แอดมิทในโรงพยาบาล

ประกาศฉบับที่ 2 ฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วง 20-24 ก.ค.นี้

เช็กพื้นที่ เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 21 -25 ก.ค. นี้

ก่อนหน้านี้ ทีมข่าวพีพีทีวีเคยไปสำรวจคลินิกระบบทางเดินหายใจ หรือ ARI คลินิก ที่โรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ พบผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาประมาณ 200-250 คนต่อวัน โดยคิว 200 คนแรก จะได้พบหมอ ส่วนที่เหลือ ต้องสแกนคิวอาร์โค้ด แล้วโทรติดตามอาการภายหลัง ทั้งนี้ แม้จะเป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ได้มีประกันสังคม หรือ สิทธิที่นี่ ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบ โรงพยาบาลในสังกัด กทม.  ผู้บริหารสำนักการแพทย์ กทม.ยืนยันกับทีมข่าว พีพีทีวี ว่า ไม่เคยมีการจำกัดจำนวนผู้ป่วย วอล์คอินเข้ามารักษาได้เลย

แต่ก็ในความเป็นจริง ก็ต้องยอมรับว่า แม้หลายคนเข้าสู่ระบบการรักษาได้ก็ตาม แต่การพิจารณา ทั้งการให้ยา หรือการแอดมิท ขึ้นอยู่กับแพทย์ แต่ดูเหมือนว่า หลายโรงพยาบาล เริ่มกลับมาปฏิเสธการให้เตียงรักษา และยาต้านไวรัส ทั้งที่ผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยง อ้างว่า เตียงเต็ม และยาหมด จนเริ่มมีผู้ป่วยแห่ไปร้องขอความช่วยเหลือจากจิตอาสา

เช่นผู้ป่วยโควิด อายุ 36 ปี  และมีโรคประจำตัวเป็นโรคปอด ที่แม้ไปรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่หมอบอกเตียงเต็ม ให้เพียงยาพาราเซตามอล กลับมานอน จนอาการไม่ค่อยดี เหนื่อยหอบ ไม่มีแรง ไม่ได้สติ เรียกไม่ตอบกลับ สามีต้องอุ้มไปโรงพยาบาล ที่นครนายก แต่ถูกปฏิเสธ ให้แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ แล้วกลับมารักษาที่บ้าน จนสามีของผู้ป่วยบอกว่า รู้สึกสิ้นหวังกับระบบการรักษา

ส่วนผู้ป่วยโควิดอีกคน  กำลังรักษาตัวอยู่ในรถเก๋ง กลางดงกล้วย หลังไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ให้กลับมารักษาที่บ้าน แม้เป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัวทั้งหัวใจ ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เพราะตอนนี้เตียงเต็ม พร้อมให้ยากลับมากิน แต่ในรายชื่อยาที่ได้ กลับไม่มียาต้านไวรัส ทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และควรได้ จนทำให้อาการเริ่มไม่ดี ทั้งแน่นหน้าอก อาเจียนตลอดเวลา จนต้องขอความช่วยเหลือกลุ่มสายไหมต้องรอด ประสานขอยาฟาวิพิราเวียร์มาส่งให้

นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นสถานการณ์โควิด ที่พอรู้ว่าติดเชื้อ เมื่อไปโรงพยาบาล ก็ได้แค่ยามากิน ทั้งที่บางคนควรต้องได้เตียง และแอดมิทในโรงพยาบาลด้วยซ้ำ  ทำให้เขาตั้งคำถามถึง ระบบการรักษาในปัจจุบันว่า สอดคล้องกับสถานการณ์จริงหรือไม่ จึงเสนอให้รัฐกลับมาปรับการรักษาให้เป็นเหมือนช่วงแรกของการระบาด ที่ใครใกล้โรงพยาบาลไหน ก็รักษาได้ แล้วโรงพยาบาลไปเบิกจ่ายจากสปสช.แทน ซึ่งส่วนตัวเข้าใจปัญหาด้านงบประมาณ สำหรับการรักษา แต่สถานการณ์แบบนี้องนึกถึงประชาชนก่อน

นายเอกภพ ยังบอกด้วยว่า แต่เดิม กลุ่มของเขาช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในเขตสายไหม แต่ปัจจุบัน กลายเป็นว่า คนทั่วกรุงเทพมหานคร ที่ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ก็จะโทรมาหาสายไหมต้องรอด ทุกวันนี้ ยังมีคนจากปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี โทรเข้ามาขอความช่วยเหลือด้วย รวมแล้ววันๆ มีคนโทรเข้ามานับ 1 พันคน

ส่วนปัญหาที่เจอส่วนใหญ่ คือ โรงพยาบาลตามสิทธิไม่รับรักษา มีประกันสังคม แต่ไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ อ้างว่า ถ้าเกิดอยากได้ฟาวิพิราเวียร์ ต้องรักษาในโรงพยาบาลตามแพคเกจ ซึ่งมีราคาสูง อีกปัญหาคือ กลุ่ม 608 ไปขอรับฟาวิพิราเวียร์ แต่โรงพยาบาลแจ้งว่า ยังไม่มีอาการให้กลับไปก่อน ถ้ามีอาการค่อยกลับมารับฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งนายเอกภพ ตั้งคำถามว่า ผู้ป่วย 608 ต้องกินยาเพื่อป้องกันอาการรุนแรง แต่ถ้าให้อาการรุนแรงแล้วค่อยมารับยา จะได้ประโยชน์อะไร

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ