แฉ!ช้อปปิ้งงานวิจัย จ่ายครบ เคลมเป็นงานตัวเอง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เรื่องฉาวในวงการนักวิชาการ หลังมีนักวิชาการไทยในต่างประเทศออกมาแฉว่ามีการซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งงานวิจัยโดยไม่ต้องทำจริง แถมยังเลือกได้ว่าอยากให้มีชื่อตัวเองอยู่ในงานไหน วิธีการง่ายๆ เหมือนกับการช้อปปิ้ง แค่กดซื้อ จ่ายเงิน ก็สามารถเครมเป็นงานตัวเองได้ทันที

ผลงานวิจัย ที่ถูกระบุว่าเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเว็บไซต์เปิดขายผลงานวิจัย จากหัวข้องานวิจัยชิ้นนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติและการประยุกต์ใช้โครงสร้างนาโนของโลหะ

ซึ่งจะมีบทคัดย่อ วันที่เผยแพร่ และมีชื่อของผู้แต่ง ในส่วนของชื่อผู้แต่งนั้นจะเห็นว่ามีช่องระบุชื่อผู้แต่งคนที่ 1-5 และที่ด้านล่างของชื่อผู้แต่งแต่ละคนจะมีราคากำหนดไว้ชัดเจน

สอดคล้องกับข้อมูลที่มีคนออกมาแฉว่า ขั้นตอนการซื้องานวิจัยทำได้ง่ายเหมือนกับการช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์  

แฉ! ส่วยอุทยานฯ มี "แมวมอง" เลือกเหยื่อ

“ชูวิทย์” แฉ กระบวนการล้มคดี วิ่งเต้นเคลียร์ "อัยการ" แม้ตัวอยู่ในคุก

แค่นักวิชาการเข้าไปอ่านงานวิจัยในเว็บ แล้วก็เลือกว่าอยากให้ชื่อตัวเองอยู่ในงานชิ้นไหน คลิ๊กเข้าไป ก็สามารถเลือกได้เลยว่าอยากเป็นผู้แต่งอันดับที่เท่าไร

ปกติแล้วงานวิจัยที่มีผู้แต่งหลายคนจะเรียงชื่อตามลำดับความสำคัญและการมีส่วนร่วม อย่างเช่น ในตัวอย่างนี้ ถ้าเป็นคนแต่งที่ 1 ก็จะมีราคา 900 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 30,000 บาท ผู้แต่งที่ 3 ราคา 800 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 26,000 บาท เป็นต้น พอเลือกได้แล้วก็กด “ซื้อ” และชำระเงิน 

เมื่อได้ผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยเหล่านี้ก็จะถูกส่งไปตีพิมพ์ คนที่จ่ายเงินก็ไปเอามาเคลมได้ว่าเป็นผลงานวิชาการของตัวเอง ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ก็จะเป็นโปรไฟล์สำหรับขอตำแหน่งทางวิชาการได้ หรือ นำไปขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ 

ข้อสังเกตสำคัญของงานวิจัยแบบนี้ก็คือ จะมีผู้แต่งร่วมหลายคน แต่ละคนมาจากหลายประเทศคนละมุมโลก และส่วนใหญ่ผู้ร่วมวิจัยไม่รู้จักกัน แค่มากดซื้องานวิจัยชิ้นเดียวกัน ที่สำคัญเรื่องมีการโยงไปถึงนักวิชาการชาวไทย 6 คน ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีการซื้อผลงานวิจัยจากเว็บดังกล่าว หนึ่งในจำนวนนี้มีอาจารย์ในจังหวัดเชียงใหม่รวมอยู่ด้วย โดยถูกตั้งข้อสังเกตว่า ปี 2562 อาจารย์คนนี้มีงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว แต่ผ่านไป 1 ปี 2563 มีงานวิจัยเพิ่มเป็น 40 ชิ้น และในปี 2564 มีเพิ่มถึง 90 ชิ้น 

หลังประเด็นนี้ถูกเปิดเผยก็มีนักวิชาการออกมาแสดงความเห็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์ที่โพสต์แสดงความเห็นในเรื่องนี้  แต่ทางอาจารย์ปิ่นแก้วไม่สะดวกให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมข่าวจึงสอบถาม รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ปกติแล้วการทำวิจัยในแต่เรื่อง บอกไม่ได้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประเด็น แต่ก็จะต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนการทำวิจัยข้ามสาขาหรือข้ามศาสตร์ ก็มีความเป็นไปได้ เพราะเคยมีนักวิชาการไทยบางท่านทำ แต่ยอมรับว่าเป็นไปได้ยากที่อาจารย์คนหนึ่งจะทำงานวิจัยหลายสิบชิ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น

อาจารย์สมชายบอกว่า การซื้องานวิจัย ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล แต่สะท้อนปัญหาในมหาวิทยาลัย เพราะปัจจุบันการประเมินคุณค่าทางวิชาการผูกติดกับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติ  ซึ่งอาจจะต้องทบทวนว่าการประเมินแบบนี้มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วก็นำไปสู่การจ้างทำ หรือ ซื้องานวิจัย ถือเป็นเรื่องร้ายแรงและผิดจรรยาบรรณ เปรียบเทียบเหมือนกับอาชญากรทางวิชาการ มีความผิดทางกฏหมาย

ส่วนการตรวจสอบงานวิจัยตามปกติแล้ว หากมีการนำเสนองานวิจัยเพื่อขอตำแหน่งจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาประเมินตรวจสอบ แต่หากไม่ได้ขอตำแหน่งก็อาจจะไม่ได้มีการตรวจสอบงานวิจัยดังกล่าว 

ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมข่าวสอบถามไปที่ศูนย์สื่อสารองค์กรและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับแจ้งว่าผู้บริหารของมหาวิทยาลัยรับทราบเรื่องนี้แล้ว และอยู่ในระหว่างการประชุม

ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีการลงข่าว เรื่อง การกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้ว ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรมทางวิชาการต่อไป

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ