นี่คือความเสียหายที่เกิดกับช้าง ซึ่งทำงานแบกนักท่องเที่ยวนาน 25 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย เผยภาพช้างที่ถูกใช้แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จน “กระดูกสันหลังบิดเบี้ยว” จากการแบกนักท่องเที่ยว

“ช้าง” ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศไทย มีบทบาทในการเป็นสหายร่วมรบกับเหล่าทหารกล้าในอดีต จนมีการเปรียบเปรยกันว่า ช้างเปรียบเสมือนอีกหนึ่งสมาชิกในครอบครัวของคนไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่หลายคนทำกับช้างกลับเหมือนไม่ใช่สิ่งที่เพื่อนจะปฏิบัติแก่กัน แต่เหมือนกับการใช้แรงงานทาส ที่เมื่อไม่สามารถใช้การได้อีกแล้ว ก็เพียงแค่เขี่ยทิ้งไป

คอนเทนต์แนะนำ
เปิดยืนยันตัวตน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เสาร์-อาทิตย์ 3 ธนาคารรัฐในห้าง เริ่ม 11 มี.ค.นี้
13 มีนาคม "วันช้างไทย" ร่วมอนุรักษ์สัตว์คู่บ้านคู่เมือง
“ช่วยช้างเท่ากับช่วยโลก” วิถีชีวิตช้างบรรเทาภาวะโลกร้อนได้

ช้างอาจเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และมีพละกำลังแข็งแรง แต่ไม่ว่าจะแข็งแรงแค่ไหน หากถูกใช้งานหนักจนเกินไป ก็ไม่ต่างจากเครื่องจักรที่มีวันผุพัง เพียงแต่เครื่องจักรนี้ไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยนหรือซ่อม

เรากำลังพูดถึงเรื่องราวชะตากรรมที่น่าเศร้าของ “ไพลิน” ช้างไทยเพศเมียที่ถูกใช้งานอย่างหนักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จนสภาพร่างกายทรุดโทรมและต้องทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย (WFFT) ได้เปิดเผยภาพของไพลิน ช้างวัย 71 ปีที่ปัจจุบันมีอาการ “กระดูกสันหลังบิดเบี้ยว” หลังจากทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมานาน 25 ปี โดยถูกใช้งานบรรทุกนักท่องเที่ยว ซึ่งบางครั้งอาจมากถึง 6 คนในครั้งเดียว

จากภาพจะเห็นได้ว่า กระดูกสันหลังของไพลินซึ่งควรจะโค้งมนและยกขึ้นตามธรรมชาตินั้น กลับยุบและจมลงไปจากความหนักอึ้งของงานที่ผ่านมา เพราะต้องแบกทั้งควาญช้าง นักท่องเที่ยว และเก้าอี้นั่งบนหลังช้าง

WFFT บอกว่า “หลังของไพลินยังคงมีรอยแผลเป็นจากแผลกดทับเดิม การกดทับร่างกายของช้างอย่างต่อเนื่องนี้ อาจทำให้เนื้อเยื่อและกระดูกที่หลังของพวกมันเสื่อมสภาพ ทำให้กระดูกสันหลังของพวกมันเสียหายอย่างไม่อาจแก้ไขได้”

การขี่ช้างเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า เป็นการทารุณกรรมสัตว์รูปแบบหนึ่ง เนื่องจากร่างกายของช้างไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับให้มนุษย์ขี่ และมีช้างจำนวนมากเสียชีวิตจากความอ่อนเพลียและภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากพวกมันถูกใช้งานจนตาย

เอ็ดวิน วิค ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง WFFT กล่าวว่า “ไพลินมาถึงสถานพักพิงของเราในปี 2549 หลังจากทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมายาวนาน ... เธอถูกเจ้าของคนก่อนทอดทิ้ง เพราะรู้สึกว่าเธอเชื่องช้าเกินไป มักเจ็บปวดตลอดเวลา และไม่สามารถทำงานได้ดีอีกต่อไป”

ด้าน ทอม เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการโครงการของมุลนิธิฯ เสริมว่า หลังของช้างไม่ได้ถูกธรรมชาติออกแบบมาให้รับน้ำหนักมาก

“กระดูกสันหลังของพวกมันควรขยายสูงขึ้น แต่แรงกดที่กระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายอย่างถาวร อย่างที่เห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับไพลิน” เทย์เลอร์กล่าว

วิคกล่าวว่า มูลนิธิฯ กำลังพยายมื่อสารและแชร์เรื่องราวของไพลิน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความโหดร้ายของการใช้แรงงานช้าง และเตือนผู้คนว่าอย่าขี่ช้างเหล่านี้ หลังอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

“สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าช้างไม่ได้ถูกฝึกให้ขี่ได้เหมือนม้า พวกมันไม่ใช่สัตว์เลี้ยงและถูกพรากมาจากป่า และถูกเก็บไว้ในสภาพที่น่ากลัว” วิคกล่าว

เขาเสริมว่า “คุณสามารถเห็นรูปร่างกระดูกสันหลังของเธอได้ชัดเจนมาก มันเป็นความผิดปกติทางร่างกายที่เธอจะต้องทนใช้ชีวิตด้วย”

ความผิดปกติทางร่างกายที่เกิดขึ้นกับไพลินนี้ พบได้ทั่วไปในช้างที่ใช้บรรทุกท่องเที่ยว  ปัจจุบันไพลินใช้ชีวิตในแต่ละวันร่วมกับช้างที่ได้รับการช่วยเหลืออีก 22 เชือกในเขตอนุรักษ์ของ WFFT ใกล้กับหัวหิน

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย (WFFT)

 

คอนเทนต์แนะนำ
กรมอุตุฯ เตือน ฉ.2 "พายุฤดูร้อน" จังหวัดไหนฝนตกฟ้าคะนอง เสี่ยงลูกเห็บตก 12-14 มี.ค. 66
หมดแล้ว! "เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5" จำนวนที่พักครบ 5.6 แสนสิทธิ
วิธีใช้สิทธิ "เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5" จองโรงแรม-ที่พัก ผ่าน "แอปฯ เป๋าตัง"
The Glory ภาค 2 บทสรุปการล้างแค้น สะท้อนสังคม "บูลลี่" 10 มี.ค.นี้ เวลา 15.00 น. ที่ Netflix

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ