ปรากฏอาคารหลังหนึ่งตั้งตระหง่านอยู่ ณ จุดกึ่งกลางราวกับเป็นศูนย์รวมของชุมชนในพื้นที่ ป้ายหน้าอาคารบ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้คือ “โรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย” ที่แม้ในบางมุมจะดูทรุดโทรม แต่ผู้มาเยี่ยมเยือนต่างยังสัมผัสได้ถึงมนต์สเน่ห์แห่งความหลังแค่เพียงก้าวเท้าเข้ามาในเขตอาคาร และภายใต้หลังคาสังกะสีที่เริ่มจะผุกร่อนนี้ ยังเป็นที่ประจำการของเครื่องจักรสีข้าวอายุ 43 ปี ซึ่งหากจะเปรียบกับคอมพิวเตอร์ ก็คงจะเป็นรุ่นบุกเบิกที่บางส่วนเริ่มจะชำรุดไปตามกาลเวลา และยากที่จะหาอะไหล่ใดมาทดแทนได้อีก
ส่องจันท์ (บุรี) หาแรงบันดาลใจ จาก 3 กษัตริย์มหาราชสู่นวัตกรรมการพัฒนาประเทศ
ฝ่าวิกฤตโลกเดือด ทุบสถิติ 120,000 ปี ด้วยความพอเพียง
แต่สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจคือ สัญญาณแห่งชีวิตของเครื่องจักรจากอดีตกาลนี้ยังคงเต้นอยู่ บอกเป็นนัยว่ายังมีลมหายใจ และถึงแม้ว่าโรงสีข้าวแห่งนี้จะเป็นโรงสีขาวพระราชทานแห่งสุดท้ายแล้วที่เหลืออยู่ แต่ด้วยศักดิ์ศรีของคำว่า “พระราชทาน” ทำให้วันนี้ เครื่องยนต์ยังคงเดินหน้าทำงานต่อ ตามที่กำลังของมันจะเอื้ออำนวย เพื่อรับใช้ประชาชนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพื่อให้เป็นประจักษ์พยานแห่งพระราชปณิธานในการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระผู้ให้ เสียงเครื่องยนต์ที่ดังราวกับจะเป็นการทำงานครั้งสุดท้าย จึงเหมือนเป็นการตะโกนร้องเรียกให้ประชาชนได้หันมาดูว่า “ฉันกำลังทำอะไร...อย่าปล่อยฉันให้เป็นเศษเหล็กที่ไร้ความหมายเลย”
หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 40 - 50 ปีก่อน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในเวลานั้นเมื่อเทียบกับเวลานี้ แม้แต่คนในพื้นที่เองก็อาจจะจินตนาการไม่ออกว่า ชาวบ้านโดยเฉพาะในตำบลอ่าวน้อย ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำมาหากินมากเพียงใด ด้วยสภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ทำให้การทำนาให้ได้ผลผลิตดีนั้นเป็นเรื่องยาก อีกทั้งยังต้องนำข้าวเปลือกไปสีที่ต่างเมือง ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร เสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ชาวประจวบคีรีขันธ์ไม่สามารถผลิตข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในพื้นที่ได้ ต้องนำเข้าข้าวจากต่างจังหวัดมาทดแทน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรจากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่หลายครั้ง พระองค์ทรงตระหนักดีว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการเข้าใจรากเหง้าของปัญหาอย่างลึกซึ้ง จึงทรงศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ทรงวางแผนการพัฒนาแบบองค์รวม โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ ทั้งการปรับปรุงดิน การจัดการน้ำ และมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงสีข้าวพระราชทานขึ้นที่ตำบลอ่าวน้อย ในปี พ.ศ.2524 พร้อมกับส่งเสริม และพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้มั่นใจว่าโรงสีจะสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน หลังจากที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว วงล้อของระบบการผลิตอาหาร และพืชผลทางการเกษตรจึงได้หมุนวนต่อเนื่องมาได้จนมาถึงทุกวันนี้
กว่า 40 ปีที่ผ่านไป แม้เครื่องจักรโบราณของโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อยจะยังคงทำงานได้ แต่ประสิทธิภาพย่อมไม่อาจเทียบเครื่องสีข้าวสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม บทบาทสำคัญในปัจจุบันของโรงสีแห่งนี้ มิใช่แค่เพียงทำหน้าที่สีข้าว หรือเป็นเพียงอาคารเก่าที่รอการบำรุง หากแต่เป็นอนุสรณ์ที่มีลมหายใจ และคอยเตือนใจคนไทยถึงคุณค่าแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ทอดทิ้งกัน เสียสละเพื่อส่วนรวม และเหนือสิ่งอื่นใด คือการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ตรัสว่า “ถ้ารับประทานข้าวให้นึกถึงชาวนาด้วย เพราะถ้าไม่มีชาวนา เราก็ไม่มีข้าวกิน” พระราชดำรัสนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของพระองค์ที่ทรงเห็นคุณค่าของเกษตรกร ไม่ใช่เพียงผู้ผลิตอาหาร แต่เป็นผู้พิทักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สำคัญ หากชาวนาไม่สามารถเลี้ยงชีพจากการปลูกข้าวได้ ก็จะไม่มีใครอยากประกอบอาชีพนี้อีก เพราฉนั้น หัวใจของการแก้ปัญหานี้คือ ต้องทำให้ชาวนาดำเนินชีวิตอยู่ได้ พึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดี โครงการโรงสีข้าวพระราชทานจึงไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังเสริมสร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีให้กับชาวนา ทำให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น สะท้อนแนวพระราชดำริในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงบริบทท้องถิ่นและการพึ่งพาตนเองของชุมชน นอกจากนี้ โรงสียังเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทย และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งยังคงเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน
โรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อยจึงไม่เพียงเป็นแค่อาคารเก่าที่ยืนหยัดท่ามกลางกาลเวลา แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณและแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นบทเรียนมีชีวิตที่สอนให้เราเห็นคุณค่าของการพึ่งพาตนเอง ความสามัคคี และการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง แม้วันนี้เสียงเครื่องจักรอาจไม่ดังกึกก้องเหมือนในอดีต แต่เสียงแห่งการพัฒนายังคงก้องกังวานในใจของผู้คน เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้สืบสานพระราชปณิธาน และร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังเช่นที่โรงสีข้าวพระราชทานแห่งนี้ได้ทำหน้าที่นี้มาอย่างยาวนาน
โครงการตามรอยพระราชา ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 41 ได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย และได้ทำกิจกรรมสีข้าวเปลือก 2.4 ตัน ได้เป็นข้าวกล้อง และข้าวขาวรวม 1.2 ตัน เพื่อมอบให้กับนักเรียนจาก 10 โรงเรียนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้มาร่วมเรียนรู้วิธีการสีข้าว คัดเลือกข้าว แพ็คข้าวด้วยตัวเอง เชิญติดตามโครงการตามรอยพระราชาได้ที่ Facebook : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey และทาง LINE : The King’s Journey
ค้านเพิกถอนอุทยานฯทับลานเป็นที่ดินการเกษตร หวั่น กระทบต่อระบบนิเวศ
สรุป 4 ทีมสุดท้าย ยูโร 2024 โปรแกรมรอบรองฯ เวลาแข่งขัน EURO 2024
เปิดใจคู่รัก LGBTQ+ จักรภพ เพ็ญแข - ป๊อป สุไพรพล หลังซ่อนสัมพันธ์ 23 ปี