เทียบ “วัคซีนโควิด-19” ทำไมไทยต้องจอง “แอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดข้อได้เปรียบ วัคซีนโควิด-19 “AZD1222” จากแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดที่ไทยสั่งจองแล้ว 26 ล้านโดส

“อนุทิน” เผย ไทยจองวัคซีนโควิด-19 หลอดละ 151 บาท จองแล้ว 26 ล้านโดส

วัคซีนป้องกันโควิด-19 จาก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้ผล 70%

หลังมีการเปิดเผยผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 “AZD1222” ที่พัฒนาโดยแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของอังกฤษ ว่ามีความสามารถในการป้องกันโควิด-19 “สูง” ทำให้มีนักวิเคราะห์มองว่า วัคซีนโควิด-19 ตัวนี้อาจมีข้อได้เปรียบบางอย่างที่วัคซีนโควิด-19 ไม่มี โดยพาะเรื่องของราคาและการขนส่งโลจิสติกส์

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติอนุมัติงบกว่า 6 พันล้านบาท สั่งจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งสามารถครอบคลุมการรักษาคนไทยร้อยละ 20 ของประชากรหรือ 13 ล้านคน

โดยผลการทดลองทางคลินิกเฟส 3 เบื้องต้น พบว่า วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดมีประสิทธิภาพเฉลี่ย 70% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 นักวิจัยกล่าวว่า ตัวเลขนี้อาจสูงถึง 90% หากปรับขนาดยา แต่ผลโดยรวมแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้ต่ำกว่าวัคซีนอื่น ๆ เล็กน้อย เช่นวัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ส่วนของโมเดอร์นามีประสิทธิภาพ 94%

อย่างไรก็ตาม ดร.แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) ที่ปรึกษาการรับมือโควิด-19 ของทำเนียบขาวได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสเพียง 50-60% ก็ถือว่าเป็นที่ยอมรับได้แล้ว

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการจัดเก็บ ขนส่ง และกระจายวัคซีนโควิด-19 นั้น วัคซีนของแอสตราเซเนกา-ออกซ์ฟอร์ดดูเหมือนจะมีข้อได้เปรียบบางประการ

ยักษ์ใหญ่ด้านเภสัชกรรมของอังกฤษกล่าวว่า วัคซีน AZD1222 สามารถจัดเก็บ ขนส่ง และจัดการได้ในสภาพแช่เย็นปกติที่ 2-8 องศาเซลเซียส เก็บได้นานอย่างน้อย 6 เดือน ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ต้องจัดเก็บที่อุณหภูมิ -80 องศาเซเลซียส ส่วนวัคซีนของโมเดอร์นาอยู่ในนาน 6 เดือนที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส แต่ถ้าเก็บที่อุณหภูมิปกติ 2-8 องศาเซลเซียส จะอยู่ได้นาน 30 วัน ทำให้เมื่อเทียบกันแล้ว การจัดเก็บวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดจึงง่ายกว่ามาก

แอสตราเซเนกายังให้คำมั่นที่จะแจกจ่ายวัคซีนโดยไม่หวังผลกำไร “ตลอดระยะเวลาที่ยังมีการระบาดของโควิด-19” โดยก่อนหน้านี้ Financial Times รายงานว่า วัคซีน AZD1222 ซึ่งต้องใช้ 2 โดสมีราคาอยู่ที่ประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90-120 บาท) ต่อโดสเท่านั้น ขณะที่ไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขบอกว่า จะจัดซื้อได้ในราคา 151 บาทต่อโดส ซึ่งเมื่อเทียบกับวัคซีนอีกสองตัว พบว่าราคาต่ำกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ (600 บาทต่อโดส) และโมเดอร์นา (970-1,120 บาทต่อโดส) อย่างมาก

นักยุทธศาสตร์ของ Deutsche Bank อธิบายว่า บางประเทศ เช่น บราซิล เม็กซิโก อินเดีย และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มที่จะเป็น “ผู้ได้ผลประโยชน์รายใหญ่” จากวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด เพราะ “ต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่ายของแอสตราเซเนกาที่ถูกกว่า ทำให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางให้ความสนใจ”

แอสตราเซเนกากล่าวว่า บริษัทสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้มากถึง 3 พันล้านโดสในปีหน้า

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาและอินเดีย ได้ตกลงที่จะสั่งจองวัคซีนของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดไว้จำนวน 500 ล้านโดส สหภาพยุโรปสั่งจองไว้ 400 ล้านโดส สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย บราซิล และประเทศอื่น ๆ แถบละตินอเมริกาจองไว้แล้วอย่างน้อย 100 ล้านโดส

เรียบเรียงจาก CNBC

ภาพจาก AFP

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ