วัคซีน โควิด19 "ความหวังมนุษยชาติ"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตลอดปี 2563 ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ขณะเดียวกันหลายประเทศ พยายามที่จะพัฒนาวัคซีน เพื่อที่จะเข้ามาช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลาม เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่พยายามทุกวิถีทาง ทั้งศึกษาวิจัยด้วยตัวเอง ตั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงลงนามสัญญาสั่งซื้อจากประเทศชั้นนำของโลกอย่างจากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) จำนวน 26 ล้านโดส โดยคนไทย 13 ล้านคนแรก 3 กลุ่มจะเป็นใครบ้าง

เทียบ “วัคซีนโควิด-19” ทำไมไทยต้องจอง “แอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด”

เทียบแต่ละประเทศ ซื้อวัคซีนโควิด-19 ไปในราคาเท่าไหร่

จากการที่รัฐบาลไทยลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกยน 2563 ที่ผ่านมา ด้วยการจองล่วงหน้า จากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมกับที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จำนวน 26 ล้านโดส โดยมีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนดังกล่าว

วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกานี้ เบื้องต้น มีการทดลองในมนุษย์เฟส 3 พบว่าได้ผลดี มีประสิทธิภาพการป้องกันโรคเฉลี่ย 70.4% ถือเป็นความหวังของประเทศไทย 13 ล้านคนแรก ที่จะได้รับวัคซีนชนิดนี้ ภายในกลางปี 2564

นายแพทย์ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทย อยู่ในขั้นตอนที่บริษัทแอสตราเซเนกา จะถ่ายทอดเทคโนลีให้กับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เพื่อให้ไทยสามารถเดินสายการผลิตได้เอง ราวๆ เดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ใคร คือผู้ที่จะได้รับวัคซีน ใน 13 ล้านคนแรก

3 กลุ่มในการรับวัคซีน

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกว่า 70 ล้านคน หากจะให้วัคซีนครบทุกคน คนละ 2 เข็ม ต้องมีวัคซีนถึง 140 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเท่าที่มีอยู่ความหวังอยู่ 26 ล้านโดสนั้นจึงต้องวางแผนว่าจะฉีดให้กลุ่มใดก่อน ถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ อยู่ระหว่างพิจารณา ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการฉีดวัคซีน เช่น

1. ฉีดวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุ

2.ฉีดในกลุ่มที่มีโอกาสในการแพร่เชื้อสูง เพื่อป้องกันการระบาดของโรค คือ กลุ่มที่มีอายุ 20-39 ปี เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ แข็งแรง และแทบไม่แสดงอาการแม้ว่าจะติดเชื้อแล้ว 

และ 3. ฉีดในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข เพราะถ้าคนกลุ่มนี้เกิดการติดเชื้อฯ หรือป่วย จะทำให้เสียบุคลากรด่านหน้าในการรับมือกับโควิด 19 

นอกจากวัคซีนที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีด้วยของ แอสตราเซเนกา-อ็อกซฟอร์ดนี้ // เรายังมีการวิจัยของไทยเราเองที่เป็นอีก 1 ความหวังเช่นเดียวกัน ได้แก่

1.ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ที่ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาวัคซีน แบบ mRNA

2.วัคซีนแบบ DNA  พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด อยู่ระหว่างการเตรียมการทดลองในมนุษย์ โดยจะไปทดลองระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย

3.วัคซีนที่ใช้เทคนิคการผลิตโปรตีนจากใบยาสูบ ของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพในความดูแลของ CU Enterprise

4. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated) พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง และ พัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ

5. วัคซีนแบบอนุภาคไวรัส (Viral Like Particle:VLP) โดย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช และสวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง

6. วัคซีนแบบใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) โดยสวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง และ

7. วัคซีนแบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live-attenuated) พัฒนาโดย สวทช. เช่นเดียวกัน อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง  

ปัจจุบัน การระบาดของโควิด 19 ยังเกิดขึ้นทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง รวมถึงไทยเองที่กำลังประสบกับการระบาดระลอกใหม่ ถึงแม้ว่าในอนาคตจะมีวัคซีนเข้ามา แต่ก็เปรียบเสมือนเป็นการดับไฟ เบื้องต้น ยืดระยะเวลาออกไป ขณะนี้ สิ่งที่ทุกคนจะทำได้โดยไม่ต้องรอ คือ ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะสิ่งเหล่านี้ อาจจะเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดที่เราสามารถสร้างขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรอใคร

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ