เครื่องมือสำรวจฝุ่น มองฝุ่นพิษเมืองไทยผ่านดาวเทียม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ฝุ่นบุกปกคลุมไปทั้งเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็มาทุกปี หาข้อมูลจาก จิสด้า หนึ่งในหน่วยงานที่มองทะลุดาวเทียมสำรวจฝุ่นเมืองไทย

"ประเทศไทยเจอไคลเมท เชนจ์ (Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลัน) ในทุกๆ ปี กทม.และปริมณฑล จะเจอฝุ่นช่วงนี้ทุกปี ถัดไปก็จะเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ จนกระทั่งสิ้นเดือนเมษายน เป็นแพทเทิร์นที่จะเคลื่อนตัวไปในภูมิภาคอื่นๆ"  วรนุช จันทร์สุริย์ นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า บอกกับ พีพีทีว นิวมีเดีย

"วราวุธ" ขอโทษคนกทม.ฝุ่นหนากระทบสุขภาพ

เธอบอกอีกว่า ปีนี้ฝุ่น PM 2.5 มาเร็วและรุนแรงเป็นบางช่วงสลับกันไป แต่ถ้าเปรียบเทียบทุกปียังอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียง แต่บางช่วงที่รุนแรงมาก เพราะกิจกรรมการเดินทางรถยนต์ การปล่อยมลพิษ การเผาในที่โล่ง เป็นปัจจัยทำให้บางช่วงมีค่าสูงขึ้นมาก

PM 2.5  ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะช่วงหลายปีมานี้ คนกรุงเทพฯ เผชิญกับฝุ่นนี้มาโดยตลอด ในทุกๆ เช้าสิ่งแรกๆที่ต้องทำจนแทบจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันคือ เปิดสมาร์ทโฟนเพื่อดูว่าค่าฝุ่น PM 2.5  เกินมาตรฐานหรือไม่ ถ้าเกินแล้วเกินที่อยู่ในจุดที่มีผลกระทบต่อสุจภาพหรือไม่ อย่างเช่น วันที่ 21 ม.ค. ผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่าเกินค่ามาตรฐานจำนวน 69 พื้นที่

พบ 69 พื้นที่ กทม.ค่าPM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน

ส่วนหนึ่งที่คนในเมืองหันมาสนใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น อาจเป็นเพราะสามารถเช็กสภาพอากาศได้ง่ายๆ จากสมาร์ทโฟน ซึ่งแอปพลิเคชันที่เธอแนะนำคือ แอร์วิชวล (AirVisual) Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ iqair หรือ ของ จิสด้า เอง เพื่อมอนิเตอร์ สภาพอากาศพวกนี้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการติดตามทำให้คนตื่นตัวมากขึ้นและหันมาดูสุขภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบ

แต่ วรนุช ในฐานะนักภูมิสารสนเทศชำนาญการ และดูเรื่องฝุ่นโดยเฉพาะ มอง สภาพภูมิอากาศที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM 2.5 นี้ผ่านเครื่องมือดาวเทียม ซึ่งติดตามฝุ่น PM 2.5 โดยใช้โมเดลแบบจำลองในการติตดามทุกชั่วโมง และพบว่าปีนี้สถานการณ์ฝุ่นเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม ต่อเนื่อง 15 และ 16 มกราคม มาต่อเนื่อง รุนแรงเป็นบางช่วงสลับกันไป

รู้จักเครื่องมือดาวเทียมสำรวจฝุ่นของไทย

อย่างที่กล่าวไป วรนุช ในฐานะนักภูมิสารสนเทศชำนาญการ และดูเรื่องฝุ่นโดยเฉพาะ มอง สภาพภูมิอากาศที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM 2.5 นี้ผ่านเครื่องมือดาวเทียม ซึ่งในเมืองไทยจะใช้อยู่ 2 ดวงหลักๆ คือ  ดาวเทียม Himawari-8 ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่น โดยดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้าหรือเป็นดาวเทียมโคจรในตำแหน่งที่ตรงกับภูมิภาคนี้ตลอดเวลา ทำให้สามารถได้จำนวนรอบในการถ่ายภาพโลกต่อวันเพิ่มขึ้น และเมื่ออ้างอิงจากงานศึกษาวิจัยพบว่า ความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่วัดจากเซนเซอร์บนพื้นโลกมีความสัมพันธ์กับค่าที่ปรากฏบนข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Himawari-8 รายชั่วโมง

ต่อมาคือ ดาวเทียม Terra และดาวเทียม Aqua ของ NASA ได้ถูกออกแบบให้ทำงานสอดประสานกัน แต่ละดวงจะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 2 รอบสลับกัน รวมทั้งหมดก็ 4 รอบต่อ 24 ชั่วโมง และทั้งสองดวงยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่คล้ายคลึงกัน หนึ่งในนั้นก็คือ ระบบ MODIS ที่มีแนวถ่ายภาพที่กว้างครอบคลุมทั่วประเทศไทยในการถ่ายเพียงครั้งเดียว โดยรวมแล้วข้อมูลจากระบบ MODIS เป็นผลดีต่อการติดตามการเปลี่ยนแปลงมลพิษทางอากาศในรอบวัน

" ดาวเทียมมีตัวเซนเซอร์ที่ติดอยู่เพื่อตรวจวัดค่าต่างๆ ค่าฝุ่นเป็นเซนเซอร์หนึ่งที่ติดในดาวเทียมและนำมาคำนวณ วิเคราะห์ฝุ่นได้ในรายชั่วโมง แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องก้อนเมฆ ช่องว่างอาจทำให้บางพื้นที่คำนวณไม่ได้ จำจึงเป็นต้องใช้นวัตกรรมความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษที่จะพยายามปิดช่องว่าง โดยกรมควบคุมมลพิษ มีข้อมูลรายสถานีที่มีเครื่องมือไปติดตั้งไว้ในหลายๆ จังหวัด ตัวจิสด้า มีดาวเทียม เอาข้อมูลสองชุดมารวมกันและประเมินและวิเคราห์เป็นปริมาณฝุ่นได้รายชั่วโมงในทุกๆ พื้นที่ ที่สามารรถวัดค่าฝุ่นได้ในทุกๆ จุดที่เรายืนอยู่ " วรนุช จันทร์สุริย์ นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า

ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียมเมื่อนำมาประมวลผลโดยร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษพบว่า ปัจจัยที่จะทำให้ฝุ่นอยู่กับเราได้นานมากแค่ไหน คือ ความเร็วลม และสภาพอากาศ เนื่องจากฝุ่นจะกระจายอยู่ทุกที่ที่เราอยู่ แต่จะมีปัจจัยเสริมที่จะทำให้มันมีผลกระทบต่อพื้นที่เราอาศัยอยู่มากหรือน้อย คือเรื่องของสภาพอากาศ ปกติช่วงฤดูหนาวไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน  ภาคกลาง หรือ กรุงเทพในช่วงเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์สภาพอากาศจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น ภาคใต้ช่วงนี้อากาศดีแต่จะเริ่มมีฝุ่นช่วงความกดอากาศสูงในช่วงเดือนมิถุนายน ประกอบกับปัจจัยหมอกควันข้ามแดนจากประเทศอินโดนีเซีย

"ฝุ่นมามีผลกระทบต่อสุขภาพเพราะอากาศมันปิดถูกกดลงมาให้ต่ำลง เราอยู่ในพื้นที่ปกติไม่ได้สูงเกิน 100 เมตร  พอมันสภาพอากาศมันกดลงมา ก็เลยได้รับผลกระทบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฝุ่นอาจอยู่ในที่สูงมาก พออากาศหนาวเย็นตัวลง ปิดลงมันก็กดลงมา ส่วนลมเป็นปัจจัยเสริม ลมอ่อน มันไม่ได้แรงมาก มันก็วนๆ อยู่ แต่ถ้าอากาศมันปิดจริง แล้วลมแรง หนาวมาก ฝุ่นอาจไม่ได้กระทบเราโดยต้อง เพราะว่ามันไปเร็วลมแรง"

วรนุช  แนะนำว่า อีกวิธีส่วนตัวที่จะดูว่าทุกๆ เช้า เป็นฝุ่นหรือหมอก คือ ถ้าออกจากบ้านแล้วอากาศไม่ได้เย็นให้สันนิษฐานเลยว่าเป็นฝุ่น

ในเช้าวันใหม่ของทุกๆวันอย่าลืม ดูค่าฝุ่น สังเกตอากาศรอบตัว แล้วเตรียมตัวเองก่อนออกจากบ้านกัน

ที่มาข้อมูลดาวเทียม : จิสด้า

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ