วิกฤตโควิด-19 ตัวเร่งสร้างโอกาสใหม่ในสังคมอายุยืน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มีคำกล่าวที่ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะเพียงแค่หนึ่งปี ทำให้เกิดการปรับตัวของทั้งองค์กรและตัวบุคคลเข้าสู่นิวนอร์มอลได้เร็วขึ้นนับสิบปี แต่ในอีกสิบปีข้างหน้า นิวนอร์มอลอีกรูปแบบที่จะมาโดยไม่รู้ตัวคือ 1 ใน 3 ของคนไทย จะกลายเป็นผู้สูงอายุ (Super-Aged Society) แล้วจากวิกฤติโควิด-19 รอบนี้จะช่วยผลักดันให้เราพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างไรบ้าง

36ข่าวแห่งปี : “New Normal” วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในโลกที่เปลี่ยนแปลง

อนามัยโลกเตือน โควิด-19 อาจระบาดหนักจากวัยรุ่น-วัยทำงาน

ปรับตัวไว มีชัยไปกว่าครึ่ง

ผศ. ดร. ธนพล วีราสา หัวหน้าโครงการ NEO Academy วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไปยังคนทุกกลุ่ม ผู้สูงอายุในวันนี้คือกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั่วโลกต้องช่วยกันทุ่มงบประมาณและการดูแลเป็นพิเศษ เราจึงได้เห็นสินค้าและบริการเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น Telemedicine อีกทั้งผู้สูงวัยก็มีการปรับตัวในการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว บทเรียนของการรับมือโรคระบาดวันนี้ เข้าทำนองว่า “รักตัวกลัวตาย” มากขึ้น นำมาสู่การวางแผนชีวิตในหลายด้านมากขึ้น อาจทำให้สังคมสูงวัยที่น่าเป็นห่วง กลายเป็นสังคมอายุยืนที่แข็งแกร่งและเป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่ต้องการเปิดตลาดใหม่

เทรนด์กินต้านโรค ดันตลาดอาหารสุขภาพโตเร็วขึ้น

โควิด-19 ทำให้คนหันมาทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น และจะยิ่งทำให้เจ็บป่วยยากขึ้นด้วย มูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารเสริมในไทยขณะนี้สูงมากกว่า 1 แสนล้านบาทและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุก็กำลังเติบโตควบคู่ไปด้วย ในปี 2025 คาดการณ์ว่าตลาดอาหารผู้สูงอายุจะขยายตัวขึ้นไปจนถึง 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 25% ตามมาด้วยเทรนด์การออกแบบโภชนาการให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล โอกาสครัวไทยกลับไปคว้าแชมป์บนเวทีครัวโลกอาจกลับมาอีกครั้งหากเราเจาะตลาดได้ถูกกลุ่ม

รู้จักซื้อประกันและปรับเปลี่ยนการลงทุนมากขึ้น

เมื่อโควิด-19 ทำให้บางคนต้องขาดรายได้กระทันหัน และยังมีความเสี่ยงติดเชื้อที่ต้องนอนโรงพยาบาลไปอีกนาน ส่งผลให้คนไทยหันมาบริหารความเสี่ยงด้วยประกันมากขึ้น ประกันชีวิตที่ต้องทำไว้ให้ยาวเพื่อให้คนข้างหลังไม่ลำบาก ประกันสุขภาพซื้อไว้ก่อนจะเป็นโรคร้าย และช่องทางซื้อประกันที่ทำได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน ในขณะที่เงินทองยามเกษียณ โควิด-19 ก็สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการเก็บเงินด้วยตนเอง เมื่อรัฐไม่สามารถให้เงินช่วยเหลือได้ทั่วถึง หรือแม้แต่กองทุนประกันสังคมที่สั่นคลอนเมื่อต้องดึงเงินมาใช้ยามฉุกเฉิน หลายคนหันไปศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้นมากกว่าเงินฝากและพันธบัตร ไปจนถึงการเริ่มสอนให้ลูกหลานลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย นั่นแปลว่ากำลังซื้อของผู้สูงอายุในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แก่แล้วไปไหน เนิร์สซิ่งโฮมอาจไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป

อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19ในสหรัฐอเมริกากว่า 40% เกิดขึ้นในบ้านพักคนชรา สถานที่รวมตัวของผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่แข็งแรงและผู้ดูแลมีจำกัด ที่สหรัฐจึงมีแนวคิดใหม่ให้ผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านเดิมแล้วมีโปรแกรมครบวงจรที่เรียกว่า Programs of All-Inclusive Care for the Elderly (PACE) ดูแลทั้งการรักษาพยาบาล กิจกรรมระหว่างวัน และการรับส่ง ซึ่งคล้ายกับญี่ปุ่นที่เห็นว่าการให้ผู้สูงอายุอยู่ในสังคมเดิมและเพิ่มการดูแลพิเศษเข้าไป จะช่วยชะลอการเสื่อมของทั้งร่างกายและจิตใจมากกว่า เสริมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยลดทรัพยากรคนในการดูแล เช่น อุปกรณ์สวมใส่เพื่อตรวจจับความปลอดภัย รูปแบบของบ้านที่อยู่อาศัยจึงต้องเปลี่ยนไปเพื่อให้ผู้สูงอายุยังได้อยู่ที่บ้าน พร้อมรับบริการรูปแบบใหม่มาบริการถึงที่

ห่างกันมากไป หัวใจอ่อนแอ

การได้ใช้ชีวิตแบบ Social Distancing เพียงแค่หนึ่งปี เมื่อประเทศใดมีการคลายล็อกดาวน์ เราจะพบเห็นกิจกรรมการรวมตัวของผู้คนโดยทันที นั่นเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขาดสังคมไม่ได้ แต่เมื่อเราเข้าสู่สังคมสูงอายุกลับกลายเป็นถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเพราะไม่มีการสร้างกิจกรรมในสังคมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม มีงานวิจัยเชิงประจักษ์มากมายชี้ว่า หากผู้สูงอายุถูกตัดขาดจากสังคมอย่างกระทันหัน จะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคอัลไซเมอร์อย่างรวดเร็ว เมื่อเป็นแล้วแทบไม่มีทางรักษา ทำได้เพียงประคองอาการเท่านั้น พื้นที่ขนาดเล็กในระดับชุมชนให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคมจึงเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันสร้างก่อนสายเกินแก้

ผศ. ดร. ธนพล วีราสา กล่าวทิ้งท้ายว่า โควิด-19 ทำให้ใครหลายคนนึกไปถึงวันสุดท้ายของชีวิต นึกเสียดายกับหลายสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ นึกกังวลกับมรดกที่ต้องจัดการให้คนในครอบครัว นึกขอบคุณที่สุดท้ายยังไม่ติดโควิดและยังใช้เวลาในโลกนี้ไปได้อีกนาน ในมุมของนโยบายประเทศ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อม ไม่ให้เรื่องสังคมสูงวัยกลายเป็นวิกฤตของประเทศ

“ในฐานะภาคการศึกษา เราเห็นทั้งปัญหาและโอกาสในสังคมสูงวัย จึงได้มีการเปิดหลักสูตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจในสังคมอายุยืนมาแล้ว 2 รุ่น มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้เรียนกว่าร้อยชีวิตมาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ 6 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อสังคมอายุยืน โควิด-19 ยิ่งตอกย้ำว่า ยังมีโอกาสอีกมากมายให้ผู้ประกอบการไทยมาช่วยกันสร้างสังคมที่น่าอยู่ไปด้วยกัน”

ดูข้อมูลเพิ่มเติม หลักสูตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจในสังคมอายุยืน รุ่นที่3

https://www.neobycmmu.com/executive-course-longevity-batch3

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ