นักบอลติดโควิด-19 พร้อมลูก 5 วัน ยังไม่ได้ รพ.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โควิด-19 ที่ลุกลามไปทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการฟุตบอลไทย ที่ก่อนหน้านี้ นายบวร ตาปลา นักฟุตบอลของทีมเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ประกาศว่าติดเชื้อโควิด-19 ทั้งครอบครัวตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2564 พร้อมกับภรรยา ลูกเล็กอีก 2 คน วัย 2 ขวบ และ 2 เดือน ล่าสุด ผ่านไป 5 วัน ลูกๆเริ่มมีอาการป่วยมากขึ้น แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากทางโรงพยาบาล

"สตูล" จังหวัดสุดท้ายไข่แตก นักท่องเที่ยวสาวญี่ปุ่นนำเชื้อ ไทม์ไลน์เที่ยวดำน้ำ "หลีเป๊ะ"

ด่วน!ศบค.เคาะ 9 ข้อ แบ่งพื้นที่ควบคุมสูงสุด สั่งปิดทั้งประเทศ - ข้อห้าม กำหนดเวลา เริ่ม 18 เม.ย.

นักฟุตบอลสโมสรเชียงใหม่ ยูไนเต็ด "บวร ตาปลา" ได้โพสต์ข้อความพร้อมไทม์ไลน์ของตนเองลงในสื่อโซเชียลมีเดีย ระบุว่า ตนเองน่าจะได้รับเชื้อมาจากรุ่นน้องในงานเลี้ยงฉลองของสโมสรในวันที่ 2-4 เมษายน 2564 ถัดมาวันที่ 7 ได้ขับรถกลับบ้านที่กรุงเทพฯ พอถึงวันที่ 9 เมษายน 2564 ตนเองได้รู้ว่ารุ่นน้องที่ไปงานเลี้ยงด้วยกันติดเชื้อโควิด วันที่ 11 ตนเองจึงได้ไปเข้ารับการตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 และมารู้ผลว่าพบเชื้อเป็นบวก ในวันที่ 12 เมษายน 2564 และมีผู้ติดเชื้อในครอบครัวอีก 3 คน ประกอบด้วย ภรรยา, ลูกสาววัย 2 ขวบ และ ลูกสาววัย 2 เดือน

เมื่อรู้ผลแล้วนายบวรได้พักคอยอยู่ที่บ้านย่านรามคำแหง เพื่อรอการช่วยเหลือจากทางโรงพยาบาล แต่เมื่อติดต่อไปแล้วก็ยังไร้การตอบรับ มีเพียงให้ฝากชื่อที่อยู่ไว้เท่านั้น จนล่วงเลยมาถึง 5 วันแล้ว ก็ยังไม่มีการส่งรถโรงพยาบาลมารับ อยากฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดหาเตียงให้ตนเอง  ภรรยา และลูกสาวอีก 2 คน ตอนนี้ลูกสาววัย 2 ขวบ เริ่มมีอาการไอและมีน้ำมูก ส่วนลูกสาววัย 2 เดือน มีอาการไอ เป็นห่วงลูกทั้งคู่อย่างมาก

ล่าสุดทีมข่าวพีพีทีวี ได้ติดต่อคุณบวร ได้รับแจ้งว่าขณะนี้ได้รับการติดต่อจากข้าราชการระดับสูงท่านหนึ่ง ว่าให้ไปติดต่อที่โรงพยาบาลสมิติเวช  ศรีนครินทร์ เพื่อรับคิวการส่งตัว เพื่อไปที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ ( ซึ่งเป็น Hospitel ) ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้ลูกสาวคนโต เริ่มอาการหนักขึ้น เสียงแหบ คล้ายจะอาเจียนด้วย

ส่วนการประสานหาเตียงผู้ป่วยในกรณีพบการติดเชื้อ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ระบุว่าหากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลใดและพบว่าติดเชื้อ โรงพยาบาลนั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบหาเตียงว่างให้ โดยขั้นตอนแรกเจ้าหน้าที่จะหาเตียงว่างในโรงพยาบาลนั้นก่อน หากไม่มีเตียงว่างจะประสานกับโรงพยาบาลในเครือข่าย ในที่นี้หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็จะมีเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชน แต่หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐจะเป็นโรงพยาบาลในเครือข่ายกรมการแพทย์ สำนักการแพทย์ เครือข่ายมหาวิทยาลัย แต่ถ้าเตียงในโรงพยาบาลเครือข่ายเต็ม ก็จะประสานหาเตียงข้ามเครือข่าย โดยศูนย์บริหารจัดการเตียง (ศูนย์เอราวัณ) จะเป็นผู้รับเรื่องและช่วยหาเตียงว่างให้

ส่วนการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ พญ.ปฐมพร ระบุว่าแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับไหน หากไม่แสดงอาการหรืออาการไม่หนัก ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ที่จับคู่ไว้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการหนัก เช่น เชื้อเข้าสู่ปอด จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ก็และจะถูกรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มีแพทย์และพยาบาลดูแลตลอด

ขณะที่ แพทย์หญิงกฤติยา ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันว่า สปสช.เป็นกองทุนที่ดูแลและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยโควิด-19 หากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีอาการไปเข้ารับการตรวจ หรือผู้ที่ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากถูกเรียกเก็บเงินจากเจ้าหน้าที่สามารถร้องเรียนไปได้ที่สายด่วน 1330

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ