รู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์” หนึ่งในยาต้านโควิดที่ไทยใช้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทำความรู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์” รักษาผู้ป่วย โควิด-19 หลังหญิงสาวรายหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการตาเป็นสีม่วง หลังเธอกินยาต้านโควิดไปได้ 2 วัน

ข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ช่วงที่มีการเกิดโรคระบาดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 (coronavirus disease 2019; COVID-19) กลุ่มนักวิจัยชาวจีนได้ตรวจหาฤทธิ์ยาและสารอื่นจำนวนกว่า 70,000 ชนิด โดยใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์บนคอมพิวเตอร์ (computer simulation) และการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในหลอดทดลอง เพื่อหาศักยภาพของยาหรือสารอื่นเหล่านั้นในการนำมาใช้รักษาโควิด-19 ทำให้พบยาที่น่าสนใจบางชนิด ซึ่งรวมถึง favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์), chloroquine phosphate และ remdesivir

“หมอนิธิพัฒน์” ไขข้อสงสัย สาวตาเป็นสีม่วงหลังกิน “ยาฟาวิพิราเวียร์” ยันไม่อันตราย

พบผู้ป่วยโควิด-19 ตาเปลี่ยนสี หลังกินยาฟาวิพิราเวียร์

CDC ยันฉีดวัคซีนโควิดไม่กระทบตั้งครรภ์

เบื้องหลังโรงงานผลิตยารักษาโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม

องค์การเภสัชฯ เตรียมผลิตยา"ฟาวิพิราเวียร์”

สำหรับ ฟาวิพิราเวียร์ (ชื่ออื่นคือ T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir) มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ค้นพบโดย บริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

องค์การเภสัชกรรม เพิ่มกำลังการผลิตยารักษา โควิด-19 จำนวน 5 รายการ

เคยใช้รักษา ไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ก่อนจีนอนุมัติให้ใช้รักษาโควิด-19

ช่วงปี พ.ศ. 2557 ถึง 2559 มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบอาฟริกาตะวันตก จากข้อมูลในอดีตมีผู้ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พบว่า ยามีความปลอดภัย

สำรอง "ยาฟาวิพิราเวียร์" รับโควิด-19 ระบาด เตรียมสั่งเพิ่ม 5 แสนเม็ด

คาดปี 64 ไทยเริ่มผลิตวัตถุดิบยา “ฟาวิพิราเวียร์” เองได้  

ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับยาต้านโคโรนาไวรัสชนิดอื่น คือ ปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับอนุมัติในประเทศจีนให้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ และอนุญาตให้นำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563

ฟาวิพิราเวียร์ จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ก็ต่อเมื่อรับประทานยาเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ได้เป็น favipiravir ribosyl triphosphate ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase (หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในกระบวนการถ่ายแบบอาร์เอ็นเอ (RNA replication)

สารออกฤทธิ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยานี้ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์

ฟาวิพิราเวียร์ ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับโดย aldehyde oxidase เป็นส่วนใหญ่ และโดย xanthine oxidase เพียงเล็กน้อย เกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ

ขณะที่อาการไม่พึงประสงค์เมทื่อได้รับยานี้ เช่น กรดยูลิคในเลือดสูงขึ้น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลลดลง ค่าการทำงานของตัว AST และ ALT เพิ่มขึ้น บางรายอาจมีอาการท้องเสีย

ขณะเดียวกัน การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า ยาผ่านรกและขับออกทางน้ำนมได้ ยามีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง และอาจทำให้ลูกในท้องพิการได้โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาในขนาดสูง ดังนั้น จึงมีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ 

ในการศึกษาแรก (โดย Beijing Chaoyang Hospital ร่วมกับ Union Hospital และ Jinyintan Hospital) เริ่มลงทะเบียนรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าร่วมในการศึกษาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน เพื่อให้ ฟาวิพิราเวียร์ รับประทานวันละ 2 ครั้ง ขนาดยาที่ทำการศึกษาคือ 1,600 มิลลิกรัม, 1,800 มิลลิกรัม และ 2,400 มิลลิกรัม ให้ยานาน 10 วัน บางการศึกษาจะมีการเปรียบเทียบการใช้ ฟาวิพิราเวียร์ กับ lopinavir/ritonavir หรือ baloxavir marboxil ขณะนี้ ฟาวิพิราเวียร์ จึงเป็นยาตัวหนึ่งที่เป็นความหวังสำหรับใช้รักษาโควิด-19

สำหรับประเทศไทย  องค์การเภสัชฯ เตรียมผลิตยา"ฟาวิพิราเวียร์” รวมถึง องค์การเภสัชกรรมได้มีการสำรองและกระจาย ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)  สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 อีก จำนวน 5 แสนเม็ด คาดว่ายาดังกล่าวจะมาถึงไทยในวันที่ 29 เม.ย.นี้ โดยสต็อกยาของเดิมมีทั้งหมด 411,200 เม็ด ช่วงการระบาดในต้นเดือน เม.ย. พบว่ามีการใช้ยาไปแล้วกว่าวันละ 20,000 เม็ด

 

ข้อมูลจาก กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ / รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ