แผนฉีดวัคซีนโควิด-19 ปี 64 เป้า 50 ล้านคน เตรียมกระจายหน่วยเคลื่อนที่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สธ.เปิดแผนระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งเป้าปีนี้ (2564) ฉีดได้ 50 ล้านคน เตรียมกระจายจุดฉีด เช่น ในห้างสรรพสินค้าและหน่วยเคลื่อนที่ ย้ำไม่ต้องห่วงผลกระทบ กำลังหารือวางแผนเยียวยา

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ในงานเสวนาออนไลน์ “นับถอยหลัง 16 ล้านคนฉีดวัคซีนโควิด-19” นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ว่า การระบาดระลอกนี้รุนแรงมาก และจะยังไม่จบเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะยังมีผู้ติดเชื้อกระจายในกรุงเทพฯ มาก

แต่นายสาธิตบอกว่า ขอประชาชนอย่าตกใจกับตัวเลขที่สูงขึ้น หากมีการตรวจเชิงรุกและการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นเท่าไรก็จะยิ่งแก้ไขสถานการณ์ได้เร็วเท่านั้น

กรมวิทย์ฯ ยัน “ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า” มีคุณภาพปลอดภัย ชวนทุกคนฉีดวัคซีนโควิด-19

“อนุทิน” เผย ไทยเตรียมรับ วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เริ่ม ก.ค.นี้

ผู้เชี่ยวชาญย้ำ วัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อไม่ด้อยไปกว่ากัน

นายสาธิตบอกว่า “ทุกการวิจัยวัคซีนโควิด-19 เพิ่งดำเนินการมาได้เพียง 1-2 ปีเท่านั้น แต่ทุกประเทศก็รณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาด หรือลดอัตราการเสียชีวิต ช่วงนี้สังคมไทยกลัววัคซีนโควิด-19 เพราะดูข่าวผลข้างเคียง ไม่ได้รอการพิสูจน์ข้อบ่งชี้ชัดเจน บวกกับต้นทุนที่กลัวอยู่แล้ว ทำให้คนไม่กล้าฉีด ประชาชนต้องติดตามข้อมูลให้ครบถ้วน และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุดเป็นข้อสำคัญควรรณรงค์”

เป้าหมายฉีดคนไทย 50 ล้านคน พร้อมตั้งศูนย์ฉีดในห้าง - หน่วยเคลื่อนที่

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงแผนดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ว่า เป้าหมายตอนนี้ของประเทศไทย คือการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรในประเทศไทย 50 ล้านคนภายในปี 2564

สำหรับซัพพลายที่ได้มาตอนนี้ นพ.โสภณบอกว่า ไทยมีวัคซีนซิโนแวคอยู่ 2.5 ล้านโดส เมื่อวานมาสมทบเพิ่มอีก 1 ล้านโดส กลางเดือน พ.ค. นี้จีนจะบริจาคมาอีก 500,000 โดส และปลายเดือนนี้จะมาอีก 2 ล้านโดส รวมจะมีวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค 6 ล้านโดส ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า จะทยอยมาเดือนละ 10 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส ดังนั้นประเทศไทยก็จะขาดวัคซีนอีกกว่า 30 ล้านโดส

โดยขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังเจรจากับไฟเซอร์อยู่ คาดว่าอาจจะได้วัคซีนไฟเซอร์มา 10-20 ล้านโดส รัฐบาลยืนยันว่าจะเอาวัคซีนโควิด-19 เข้ามาให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาว่า “ไฟเซอร์ มาแล้ว”

นายอนุทินระบุว่า จากการประชุมแผนการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์มาให้ประชาชนได้ข้อสรุปแล้ว โดยประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส เริ่มส่งได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 หรือเดือน ก.ค. ปีนี้

นพ.โสภณกล่าวว่า วัคซีนทั้งหมดจะถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลในระบบ 1,200 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้จะมีการตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่นอกโรงพยาบาลต่าง ๆ และอาจมีหน่วยเคลื่อนที่ไปตามตลาด วัด โรงงาน หรือสถานที่เสี่ยง พร้อมยืนยันว่า ระบบบริการการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่น่าจะมีปัญหา

ระดมฉีด  3 กลุ่มเป้าหมายก่อน คือ 

หนึ่ง แบ่งตามกลุ่มอายุ โดยในเดือน มิ.ย.-ก.ค. นี้ ประชาชนกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง 4.6 ล้านคน และกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.5 ล้านคน รวมประมาณ 16 ล้าน จะได้วัคซีนก่อน ตามด้วยกลุ่มอายุ 18-59 ปีประมาณ 32 ล้านคน

สอง แบ่งตามกลุ่มอาชีพ โดยบุคลากรการแพทย์จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 7 แสนคนภายในเดือนนี้ แล้วขยายไปยังกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่านหน้าอื่น ๆ เช่น ทหารตำรวจชายแดน เจ้าหน้าที่ในฮอสพิเทล ผู้ปฏิบัติงานที่เสี่ยงสัมผัสโรค พนักงานบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น ครู พนักงานขับรถ เข้าหน้าที่ท่าอากาศยาน

สาม แบ่งตามพื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล พื้นที่สีแดงเข้มกับพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ พัทยา

ส่วนในกรณีที่วัคซีนโควิด-19 ซึ่งเตรียมไว้ฉีดให้ประชาชนกลุ่มแรก 16 ล้านคนใช้ไม่หมด อาจมีการจัดการนำไปฉีดตามพื้นที่เสี่ยง หรือฉีดให้กับบุคลากรบางอาชีพในบางพื้นที่ เช่น ครูในกรุงเทพฯ เพื่อให้ไม่มีวัคซีนเสียเปล่า เพราะวัคซีนมีอายุการใช้งานจำกัด

ไม่ต้องห่วงผลกระทบ กำลังหารือวางแผนเยียวยา

ปัญหาหนึ่งที่ นพ.โสภณ เห็นตรงกับนายสาธิตคือ ปัจจุบันกระแสสังคมคนที่ต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดลง เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย จากข่าวผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

“สำคัญคือทำยังไงให้คนออกมาฉีด ให้คนไม่กังวล แต่ขอย้ำว่าฉีดแล้วดี ในต่างประเทศฉีดอัตราการระบาดหรือเสียชีวิตก็ลดลง ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า ถ้าติดโรคมีโอกาสป่วยหนักเสียชีวิตมากกว่าฉีดวัคซีน ตัวไหนมีให้ฉีดก็อยากให้ฉีดก่อน วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณยังสร้างความมั่นใจให้ประชาชนด้วยว่า ได้มีการเตรียมมาตรการเยียวยาเตรียมไว้แล้ว 100 ล้านบาทอยู่ในระหว่างวางแผนหารือ “ถ้ามีผู้เกิดความผิดปกติจากวัคซีนโควิด-19 จะมีการเยียวยาแน่นอน ถ้าเสียชีวิตหรือทุพพลภาพก็ 400,000 บาท ป่วยต่อเนื่อง 100,000 บาท เราเตรียมไว้แล้วในส่วนของการเยียวยาเพื่อสร้างความเชื่อมั่น”

นพ.ยง ย้ำ ฉีดแล้วไม่ดีไม่มี ขอให้ไปฉีด

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เน้นย้ำว่า เชิญชวนให้ทุกคนฉีดวัคซีน เพราะประเทศที่ฉีดมากก็เตรียมเปิดประเทศแล้ว เช่น อิสราเอล และข้อมูลที่นำเสนอเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด

“ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไร ฉีดแล้วยังติดเชื้อโควิด-19 ได้อยู่ จะไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาเอง ที่สหรัฐฯ ฉีดแล้วหล้ายล้านโดส ก็มีคนที่ติดเชื้อได้กว่า 9,000 คน มันเป็นการฉีดเพื่อลดความรุนแรงของโรค และหากเป็นก็จะมีโอกาสเสียชีวิตน้อย” นพ.ยงกล่าว

นพ.ยงอธิบายว่า คนทั่วไปก่อนฉีดวัคซีนจะไม่มีภูมิต้านทานโควิด-19 เลย 1 ส่วนภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของคนที่ติดเชื้อแล้วหาย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ยูนิตต่อมิลลิลิตร แต่หากฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มครบจะมีภูมิคุ้มกัน 85 ยูนิตต่อมิลลิลิตร “ดังนั้นบอกว่าฉีดแล้วไม่ดีไม่ได้ ขอให้ไปฉีด”

เขาบอกว่า อยากให้ประชาชนทุกคนมีภูมิเหมือนเคยติดเชื้อแล้ว ขอยืนยันว่าฉีดแล้วมีภูมิจริง มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์รับรอง

“ผมไม่เคยปฏิเสธวัคซีนตัวไหนเลย ยินดีให้ฉีดทุกตัว แต่ตัวที่เราอยากได้อาจจะยังไม่มีเราก็ต้องฉีดสองตัวนี้ที่เรามีก่อน” นพ.ยงย้ำ

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ