สำรวจตปท.ชดเชยผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายประเทศมีมาตรการชดเชยกรณีที่เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้โครงการฉีดวัคซีนดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้น

เริ่มที่ประเทศญี่ปุ่น  เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ครอบครัวที่มีญาติเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวน 44 ล้าน 2 แสนเยน (ประมาณ 12 ล้าน 6 แสนบาท) ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพที่กำหนดไว้สูงสุดที่ 209,000 เยน (ประมาณ 6 หมื่นบาท)

ขณะเดียวกัน ครอบครัวจะได้รับเงินชดเชยรายปีมากกว่า 5 ล้านเยน (ประมาณ 1 ล้าน 4 แสนบาท) หากมีญาติที่ทุพพลภาพระยะยาวจากการฉีดวัคซีนโควิด-19

สมาคมประสาทวิทยาฯหนุนปชช.ฉีดวัคซีนโควิด ชี้ผลดีมากกว่าผลเสีย

นพ.โสภณ ย้ำผู้สูงอายุ 60 ปีฉีดซิโนแวคได้

ส่วนที่อังกฤษ รัฐบาลได้ขยายโครงการชดเชยที่มีอยู่แล้วสำหรับโรคที่กำหนด เช่น วัณโรค และหัด ให้ครอบคลุมโรคโควิด-19 ด้วย  ยกตัวอย่างกรณีที่ทุพพลภาพรุนแรงจากการฉีดวัคซีน จะได้รับเงินชดเชยก้อนเดียวไม่หักภาษี 120,000 ปอนด์ (ประมาณ 5 ล้าน 2 แสนบาท)

 เมื่อเดือน มี.ค. มาเลเซีย ประกาศตั้งกองทุนชดเชยวงเงิน 10 ล้านริงกิต (ประมาณ 75 ล้านบาท) ภายใต้การบริหารของสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 และเกิดผลข้างเคียงรุนแรง โดยกำหนดเงินชดเชยสำหรับกรณีที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรไว้ที่ 500,000 ริงกิต (ประมาณ 3 ล้าน 8 แสนบาท)  ขณะที่ผู้ที่มีอาการข้างเคียงรุนแรงและต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานจะได้รับเงินชดเชย 50,000 ริงกิต (ประมาณ 3 แสน 8 หมื่นบาท)

ขณะที่ ประเทศไทย   คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติให้ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ แนวทางการจ่าย เพื่อรองรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับประชาชนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 เกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด

กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร : ได้รับเงินคุ้มครองไม่เกิน 400,000 บาท

กรณีเสียอวัยวะ หรือพิการ : ได้รับเงินคุ้มครองไม่เกิน 240,000 บาท

กรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง : ได้รับเงินคุ้มครองไม่เกิน 100,000 บาท

ทั้งนี้ เงินคุ้มครองดังกล่าว สามารถทำเรื่องเบิกจ่ายได้ภายใน 5 วัน หลังจากยื่นคำร้อง

ด้าน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เสนอว่า  รัฐบาลควรประกาศจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต 8-12 ล้านบาท หากพิสูจน์ว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด -19 เพื่อสร้างความมั่นใจในการฉีดวัคซีน เนื่องจากความน่าจะเป็นของการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนนั้นต่ำมากๆ รัฐบาลอาจไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนนี้เลย แต่จะทำให้ประชาชนลดความวิตกกังวลหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนาขึ้น การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนจะทำให้การเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงได้เร็วขึ้น         

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขควรเพิ่มเงินพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานอย่างหนัก ทำงานด้วยความยากลำบากและมีความเสี่ยง และ ควรจ่ายค่าชดเชยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในกรณีเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่และติดเชื้อโควิด -19 ครอบครัวละ 20 ล้านบาท

อีกทั้ง รัฐบาลควรให้แรงจูงใจทางด้านภาษีและการหักลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลหรือเอกชนที่ได้ช่วยเหลือกิจการสาธารณสุขของประเทศเพื่อรับมือระบาดระลอกสามและระลอกสี่ และให้ Tax Credit กับเอกชนที่ช่วยจัดหาวัคซีนและฉีดวัคซีนโควิดด้วย

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ