เผยผลฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 99%


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผลการทดลอง การกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกา และวัคซีนซิโนแวค ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่า ทั้งวัคซีนทั้ง 2 ชนิด สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก โดยเฉพาะผู้ได้รับวัคซีนแอสตราซิเนกา เข็มแรกไปแล้ว 4 สัปดาห์ เกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดี ต่อเชื้อไวรัสโควิด19 ในระดับสูงถึง 97.26% และผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวก ครบสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีได้ถึง 99.49% ส่วนกลุ่มผู้เคยมีการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ตรวจพบแอนติบอดี สูงถุง 92.40%

นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโรคโควิด-19 ทั้งสองชนิดที่ฉีดในคนไทย ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยในการศึกษานี้ได้ทำการตรวจวัดระดับแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือด พร้อมแบ่งการวิเคราะห์เป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่  กลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิดโดยธรรมชาติ จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่  

มาแล้ว! ผลศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 “แอสตร้าเซเนก้า” และ “ซิโนแวค”

ซิโนแวค-แอสตร้าเซเนก้า กระตุ้นภูมิคุ้มกันคนไทยได้ดีมาก

กลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน กลุ่มที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรก   กลุ่มที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และหลังฉีดเข็มที่สองแล้ว 4 สัปดาห์ ซึ่งผลการตรวจวัดระดับแอนติบอดี ของผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค พบว่า ก่อนฉีดวัคซีน ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด หรือภูมิคุ้มกันเท่ากับ 0%   แต่หลังฉีดเข็มแรกไป 3 สัปดาห์  ตรวจพบแอนติบอดี 65.96%  และหลังฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 4 สัปดาห์  ตรวจพบแอนติบอดี สูงถึง 99.49%

ดังนั้น วัคซีนซิโนแวก สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก โดยเริ่มสร้างแอนติบอดีหลังฉีดเข็มแรกทันที และแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม  แต่หลังฉีดครบสองเข็มไปแล้วพบว่าสร้างแอนติบอดีในระดับสูงมาก

ส่วนผู้ฉีดวัคซีนของแอสตราซิเนกา พบว่า ก่อนฉีดวัคซีน ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ หรือเท่ากับ 0% หลังฉีดเข็มแรก 4 สัปดาห์  ตรวจพบแอนติบอดี สูงถึง 97.26%  แต่ยังไม่มีผลการตรวจหลังฉีดเข็มที่สอง  เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลาฉีดเข็มที่สอง

ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มอายุและตามเพศของผู้ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาโดยละเอียดแล้วพบว่า เพศชาย ตรวจพบแอนติบอดี 93.55%  ส่วนเพศหญิง ตรวจพบแอนติบอดี สูงถึง 100%   ส่วนข้อกังขาที่ว่า แอสตราจะฉีดให้กับคนที่อายุต่ำกว่า 60ปี ได้หรือไม่นั้น ผลการทดลองพบว่า กลุ่มอายุ 18-59 ปี ตรวจพบแอนติบอดี สูงถึง 100% และกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ตรวจพบแอนติบอดี  93.11%

ดังนั้นสรุปได้ว่า วัคซีนทั้งสองชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง ทั้งวัคซีนแอสตราซิเนกาในเข็มแรก  และผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวก ครบสองเข็มแล้ว สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิดได้เป็นอย่างดี

ขณะที่  นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า   ต้องยอมรับว่าการลงทะเบียนผ่านทางแอพพลิเคชันหมอพร้อม ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนสูงอายุ เพราะชาวบ้านทั่วไปทำไม่เป็น ต้องอาศัยลูกหลานช่วยทำให้   ซึ่งในประเทศสหราชอาณาจักร เขาจะไม่ลงทะเบียนผ่านแอบพลิเคชัน  แต่จะส่งข้อความทางจดหมาย อีเมล SMS และโทรศัพท์มือถือ เพื่อตามให้ประชาชนให้มาฉีดวัคซีน ซึ่งประเทศไทยควรทำตามอย่างประเทศอังกฤษ เพราะคนไทยบางคนกลัวผลข้างเคียงของวัคซีน จึงไม่มั่นใจในความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน

แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเขามีแรงจูงใจให้คนมาฉีดวัคซีนด้วยการแจกขนม แจกฟรีค่าโดยสารรถประจำทาง หรือรถไฟฟ้าเป็นต้น ในบางรัฐแจกลอตเตอรี่ให้รางวัลใหญ่ มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์

ผมจึงขอเสนอให้รัฐแจกลอตเตอรีฟรีให้แก่คนที่มาฉีดวัคซีน โดยออกงวดพิเศษทุกเดือน ให้รางวัลใหญ่ เช่น  “เดือนละ 1 ล้านบาท” ต่อเนื่องทุกเดือนจนถึงปลายปี เพื่อดึงดูดคนไทยที่ยังไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ และกลัวผลข้างเคียงให้มาฉีดวัคซีน ซึ่งวิธีนี้น่าจะใช้ได้ผลกับคนไทยมากที่สุด ทำให้คนที่ลังเลหรือกลัว กล้ามาฉีดวัคซีนกันมากขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทยให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกันในวันนี้ องค์การเภสัชกรรม รับมอบวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน จำนวน 5 แสนโดส ทำให้ปัจจุบันมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาแล้วรวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านโดส และในปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะเข้ามาเพิ่มอีก 1.5 ล้านโดส  รวมจำนวนทั้งหมดที่ไทยจะได้รับคือ 6 ล้านโดส โดยวัคซีนทุกล็อตที่รับเข้ามาจะมีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 2-8 องศา ตลอดเวลาการจัดส่งและจัดเก็บ  ยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด

ซึ่งเป็นคลังที่มีคุณภาพ มาตรฐาน จากนั้นองค์การฯจะตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และเอกสารต่างๆ เมื่อผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนแล้ว จะส่งให้กรมควบคุมโรคตรวจรับวัคซีนและกระจายไปยังหน่วยบริการ และสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนของกรมควบคุมโรคต่อไป

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ