สุทธิชัย หยุ่น : ใช้วิกฤตโควิดสร้างผู้นำทุกระดับ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“สุทธิชัย หยุ่น” วิเคราะห์ วิกฤตโควิด กำลังสร้างโอกาสของผู้นำ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ต้องแสดงภาวะผู้นำ ที่ เหนือผู้นำ

ในวิกฤตเช่นนี้ มีโอกาสที่จะทดสอบความเป็นผู้นำในระดับต่างๆ จริงๆ "ผมยินดีมาก ที่เห็นการแข่งขันของจังหวัดในการที่จะระดมให้ประชาชนในจังหวัด ไปลงทะเบียน ขอฉีดวัคซีน"

มีตัวอย่างชัดเจน จังหวัดลำปาง จังหวัดบุรีรัมย์ ผมไม่ได้มองว่าเป็นการแข่งขัน หรือแย่งชิงความเป็นหนึ่ง นี่เป็นความพยายามช่วยกัน เป็นตัวอย่างว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เป็นผู้นำของแต่ละจังหวัด

สุทธิชัย หยุ่น : ยุทธศาสตร์วัคซีน ต้องมีทั้ง "ดึงและดัน" 

สุทธิชัย หยุ่น : “วัคซีนโควิด” หมอให้ฉีด ทำไมไม่ฉีด?

 

 

ผู้ว่าฯนั้นเป็นผู้ที่ต้องมีวิสัยทัศน์ ผู้ริเริ่ม นำไปสู่แผนปฏิบัติ นำเอาแผนใหญ่ จากศบค. ลงมาในจังหวัด และแต่ละจังหวัดย่อมมี สิ่งแวดล้อม มีกลไก มีมาตรฐานในแง่ต่างๆ แตกต่างกัน

แต่ผมเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร) นั้นพยายามใช้สูตรของการบริหารวิกฤต มีการตั้งเป้า ตั้งเป้าเสร็จ มีการเขียนแผน เขียนแผนเสร็จ มีแอคชั่นแพลน ลงรายละเอียด ต่อจากนั้นสร้างทีม สร้างทีมเสร็จ ก็ต้องมีการกระจายทีม มี 3 ทีม ถ้าทีมหนึ่งทีมใดติดเชื้อโควิด-19 อีก 2 ทีม มาทดแทนได้

นี่คือการบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤต ที่เป็นมืออาชีพ หลังจากนั้นที่สำคัญไม่น้อย ก็คือ การสื่อสารกับประชาชน สร้างความมั่นใจ

ในกรณีของลำปางและบุรีรัมย์นั้น ลงไปถึงระดับชุมชน 

การที่สามารถใช้กลไกที่สำคัญที่สุดในระดับท้องถิ่นของระบบสาธารณสุขเรา ก็คือ อสม. เคาะประตูเลย และถ้าหากคุณพี่ ป้า น้า อา บอกว่าไม่มีมือถือ หรือมีมือถือแต่ไม่มีมีอินเตอร์เน็ต ไม่รู้เข้าแอปฯยังไง เอาบัตรประชาชนมาก็จะขึ้นทะเบียนให้

ในจังหวัดเองก็มีแอปฯ ในกรณีของลำปาง เขามีแอปพลิเคชัน "ลำปางพร้อม" เพื่อจะเชื่อมต่อกับหมอพร้อมระบบใหญ่มันก็จะได้ไม่มีคอขวด

ชาวบ้านเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจเพราะคนที่มาคุยด้วย มีความรู้จักมักจี่กัน เป็นคนมีความรู้ ได้รับการอบรมมาแล้ว อธิบายได้ว่าการฉีดวัคซีนนั้นมีประโยชน์ อย่างไร ความเสี่ยงของการไม่ฉีดวัคซีนนั้นคืออะไร  เราเห็นที่ลำปาง ขอให้คนส่วนใหญ่มลงทะเบียนตอนนี้ก็ 2 แสนก่วา  ของบุรีรัมย์ 3 แสนกว่า

จำนวนอาจไม่สำคัญเท่ากับความพร้อมเพรียงของประชาชน

ที่ลำปาง บอกถ้าใครไม่ร่วมจะกลายเป็นคนนอกคอกนะ จะกลายเป็นคนส่วนน้อยเลยนะ

ที่บุรีรัมย์ ผู้ว่าฯ (นายธัชกร หัตถาธยากูล) ก็ถึงขั้น ใช้กฎหมายว่า ถ้าหากคนที่อยู่ในกลุ่มสี่ยง แล้วไม่ยอมลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนก็ข้าข่าย ทำผิดกฎหมาย

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องของการใช้จิตวิทยา อาจไม่ได้ต้องการลงโทษใคร แต่ในวภาวะเช่นนี้ ต้องใช้ทั้งจิตวิทยา ใช้ทั้งการสื่อสาร

ที่สำคัญที่สุด ใช้ความจริงใจ เอาข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่มีการปิดบังอำพราง ผมถือว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นการทดสอบระบบของเราในภูมิภาค ว่าผู้นำในแต่ละระดับของเรา ตั้งแต่ผู้ว่าฯ ไปจนถึงนายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และอสม.

การที่เราสร้างระดับต่างๆให้มีความเป็นผู้นำให้สามารถรับมือกับวิกฤตได้ ถ้าผ่านโควิดได้ วิกฤตอื่นๆที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตอะไรก็ตาม ภัยธรรมชาติ โลกร้อน หรือวิกฤติโรคระบาดอีกรูปแบบหนึ่ง หรือมีความไม่สงบในบ้างด้านในแต่ละจุด ไฟไหม้ป่า สามารถจะบริหารวิกฤตได้

"พอเราสร้างกลไกอย่างนี้ ความแข็งแกร่ง มันก็มาจากการที่ประชาชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะว่า เมื่อทั้งหมดเห็นว่าภัยคุกคามนี้ ทุกคนได้รับผลระทบหมด ถ้าร่วมกันเรารอด แต่ถ้าเราไม่ร่วมกัน ไม่มีใครรอด"

เหมือนกับ หลักครั้งนี้เลย ว่าถ้าไม่ใช่ทุกคนที่รอด ก็จะไม่มีใครรอด

เพราะมันแปลว่าโรคระบาดครั้งนี้ มันไม่ไว้หน้า มันจะโจมตี จะทำลายปอดของทุกคน ถ้าทุกคนรวมกันสกัดกั้นทุกคนปลอดภัย แต่ถ้าบางคนสู้ บางคนเหลาะแหละ ไม่สู้ คนที่ไม่สู้นั้น คนที่ไม่เอาจริงเอาจังนั้น ก็จะโดนโจมตี แล้วก็จะไปแพร่เชื้อกับคนอื่น ถึงแม้เค้าจะพยายามมีวินัย มีความเคร่งครัดต่อกฎกติกาแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้น ผมว่าวิกฤตครั้งนี้คือการสร้างผู้นำ ทดสอบกลไกระบบ และผมก็เชื่อว่า เมื่อภัยมาถึงตัวอย่างนี้ ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน กำลังเข้าสู่ห้องเรียนของการเรียนรู้ความเป็นผู้นำ

และเป็นของจริงด้วยครับ

"ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเรียนรู้จากของจริง ถ้ารอด จะเป็นความแข็งแกร่งของทั้งชุมชน แต่อย่าถามว่าถ้าไม่รอด เพราะว่าเราจะไม่ตั้งคำถาม เพราะคำว่าไม่รอด ต้องไม่อยู่ในความคิด ต้องไม่อยู่ในสารบบของการทำงาน ทั้งหมดนี้เป้าหมายเดียวกัน เราจะรอดด้วยกัน เราจะรุ่งถ้าเราสร้างผู้นำในทุกระดับ จากวิกฤตครั้งนี้ได้"

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ