อย่าแชร์! ข่าวปลอม ฉีดวัคซีนโควิดเสียชีวิต – วัคซีนทางเลือกเสียภาษี 14%


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ประกาศเตือนระวังข่าวปลอม กรณีข่าวมีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เกือบ 100 คน และวัคซีนทางเลือกต้องจ่ายแพงกว่า 2,000 บาท เพราะต้องเสียภาษี 2 ครั้ง 14%

BDMS แจงข่าวปลอม เปิดจองฉีดวัคซีนโควิด

นักวิจัยเตือน ตลาดซื้อขายวัคซีนปลอม-ใบรับรองปลอม กำลังเติบโต

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย รายงานว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในประเด็นเรื่อง มีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เกือบ 100 คน แต่รัฐบาลสั่งปิดข่าว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

โดยจากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความว่าตอนนี้มีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนเกือบ 100 คนแล้ว แต่ไม่มีใครลงข่าว

เพราะถูกรัฐบาลสั่งให้ปิดข่าวนั้น ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบ และได้รับการยืนยันจากคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญว่า ปัจจุบันยังไม่มีการรายงานผู้เสียชีวิตจากวัคซีนโควิด-19 อีกทั้งข้อมูลที่นำมากล่าวอ้าง ทางหน่วยงานยังไม่เคยได้รับการรายงานแต่อย่างใด

จากหลายกรณีผู้เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนมากจะมีโรคประจำตัวอยู่เดิม การฉีดวัคซีนเป็นเพียงเหตุการณ์ร่วม โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 พบว่า 89.19% ของผู้ฉีด ไม่มีรายงานผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน มีเพียง 10.81% ของผู้ฉีดที่เกิดผลข้างเคียง สำหรับอาการผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ (6.65% ของผู้ที่ฉีด) ปวดศีรษะ (4.37%) เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง (3.23%) ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด (3.18%) ไข้ (2.08%) คลื่นไส้ (1.56%) ท้องเสีย (1.23%) ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง (0.91%) ผื่น (0.7%) อาเจียน (0.4%) และอาการอื่นๆ (1.34%)

 

ขณะเดียวกัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ยังระบุอีกว่า ตามที่มีการกล่าวถึงในประเด็นเรื่อง วัคซีนทางเลือกต้องจ่ายแพงกว่า 2,000 บาท เพราะต้องเสียภาษี 2 ครั้ง 14% ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการส่งต่อข้อความโดยระบุว่าต้องเสียเงินมากกว่าเพราะวัคซีนทางเลือกต้องเสียภาษี 2 เด้ง 14% มีราคาแพงกว่า 2,000 บาท ทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า การนำเสนอข่าวดังกล่าว มีความคลาดเคลื่อนที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด การนำเข้าวัคซีนทางเลือกเข้ามาใช้ในประเทศต้องเสียภาษี 2 ครั้ง 14% นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากในการคำนวณตามระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT คือ ภาษีขายหักภาษีซื้อ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้นำเข้าวัคซีนได้นำเข้าวัคซีนมาในราคา 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT จากการนำเข้า 7% คิดเป็นภาษีซื้อ 7 บาท (ซึ่งภาษีซื้อนี้ผู้นำเข้าสามารถนำมาขอคืนได้หรือเอาไปหักออกจากภาษีขายได้) และเมื่อผู้นำเข้าขายวัคซีนออกไปในราคา 100 บาทเช่นกัน (กรณีไม่มีการชาร์ต 10% ตามที่เป็นข่าว) ก็จะเสียภาษีขาย 7% คือ 7 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณได้คือ ภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ (7 บาท – 7 บาท) = 0 บาท ดังนั้น ที่กล่าวว่าเสียภาษีซื้อ 7 บาท บวกภาษีขายอีก 7 บาท รวมเป็น 14 บาท จึงไม่ถูกต้องแต่อย่างใด

 

 

โดยก่อนหน้านี้ ในโลกออนไลน์มีการแชร์โพสต์ที่ระบุข้อมูลว่า โรงพยาบาลในเครือ BDMS - Bangkok Hospital Group เปิดลงทะเบียนจองวัคซีนทางเลือกโควิด-19 ได้แล้ว  โดยมียี่ห้อทั้ง  จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) โมเดอร์นา (Moderna) และ ไฟเซอร์ (Pfizer)

ต่อมา ทางเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Hospital โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เข้าไปคอมเมนท์ในโพสต์ดังกล่าง ระบุว่า “โปรดระวังถูกหลอกลวง ทางโรงพยาบาลกรุงเทพยังไม่ได้เปิดให้จองวัคซีน และโรงพยาบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นี้ ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ