วัคซีน mRNA จุฬาฯ เตรียมทดสอบทางคลินิกเฟส 1 กลางเดือน มิ.ย. นี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดความคืบหน้า วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA พัฒนาโดยฝีมือคนไทย คาดมีใช้ปีหน้า

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (Chula VRC)  ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ พีพีทีวี นิวมีเดีย ว่า ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังพัฒนา 2 ตัว

ตัวหนึ่งพัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA “ChulaCov19”

“ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” รอวัคซีนโควิด 3.6 แสนโดส เชื่อทันเปิดประเทศ 1 ก.ค.นี้

แผนสหรัฐฯ แบ่งปันวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกไทยหนึ่งในนั้น

"ชมรมแพทย์ชนบท" แฉอีก! เดือนมิถุนาโกลาหล โยกโควตาวัคซีนวุ่น

อีกตัวพัฒนาโดยคณะเภสัชศาสตร์ เป็นสตาร์ทอัปบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม พัฒนาโปรตีนวัคซีนที่ทำจากใบพืช ซึ่งทั้งสองต่างเป็นเทคโนโลยีที่ดีระดับต้น ๆ ของโลก

เทคโนโลยี mRNA แบบเดียวกับ “ไฟเซอร์” และ “โมเดอร์นา”

วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19 ของ “ไฟเซอร์” และ “โมเดอร์นา” เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในหลายประเทศ

วัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ ตัวนี้ ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนหนาม (Spike Protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ

เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมหรือตกค้างในร่างกาย

“เทคโนโลยี mRNA ทั่วโลกมีการศึกษามานานกว่า 20 ปี เดิมพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นรักษาโรคมะเร็งเป็นหลัก แต่ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการพัฒนาเป็นวัคซีน ไม่ใช่แค่วัคซีนโควิด-19 แต่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดบางชนิด ไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า” ศ.นพ.เกียรติเล่า

สำหรับ Chula VRC เอง เดิมพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ จากเทคโนโลยีอื่น เช่น วัคซีนจาก DNA โปรตีนวัคซีน ไวรัลวัคซีน จนรู้จักกับเทคโนโลยี mRNA จึงมองว่า น่าจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญแห่งอนาคต

“เราติดต่อหนึ่งในผู้บุกเบิก ผู้ที่ทำให้เทคโนโลยีนี้ก้าวกระโดด คือ ศ.ดรูว์ ไวส์แมน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2017 เราเชิญเข้ามา 2 ครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟัง จนตอนนี้เรากำลังพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ ไข้เลือดออก มะเร็ง และไข้ฉี่หนู แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด เราคุยกันว่า ทำวัคซีนโควิด-19 ดีหรือไม่ ให้ประเทศที่มีรายได้ไม่มากได้เข้าถึงเทคโนโลยี mRNA” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

ความคืบหน้าวัคซีน ChulaCov19

ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า ขณะนี้ บริษัทวัคซีนไทย ไบโอเน็ต เอเชีย กำลังตั้งใจทุ่มเทรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี mRNA ความพร้อมตอนนี้เกือบ 100% แล้ว คาดว่าจะเริ่มซ้อมผลิตวัคซีนได้ในเดือน ก.ค. นี้

โดย ณ ตอนนี้ การผลิตวัคซีน mRNA นั้นต้องจ้างโรงงานที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ แต่หากไบโอเน็ตทำสำเร็จ ก็เท่ากับว่าประเทศไทยมีโรงงานในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งหากไทยสามารถผลิตเองได้มาก ต้นทุนก็ถูกลง โดยมีวัคซีนคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ

ศ.นพ.เกียรติ เผยว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ การทดสอบทางคลินิกเฟส 1 จะเริ่มขึ้น โดยใช้วัคซีนที่ผลิตจากโรงงานแคลิฟอร์เนียก่อน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 36 คนอายุ 18-55 ปี ซึ่งจะแบ่งเป็นอีก 3 กลุ่มย่อย กลุ่มละ 12 คน กลุ่มแรกฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม กลุ่มสองฉีด 25 ไมโครกรัม และกลุ่มสุดท้ายฉีด 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่า วัคซีนโควิด-19 ChulaCoV19 มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ปริมาณเท่าไร

“เรากำลังคัดกรองอาสาสมัครอยู่ เมื่อดูว่ากลุ่มไหนรับวัคซีนปริมาณเท่าไรเกิดผลอย่างไร กลุ่มไหนผลข้างเคียงน้อย และมีระดับภูมิคุ้มกันสูง ก็เลือกปริมาณนั้น แล้วขยับไปทดสอบกับอีกกลุ่มคือกลุ่มผู้สูงอายุ” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

เขาเสริมว่า ปัจจุบันโมเดอร์นาใช้วัคซีนปริมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ 30 ไมโครกรัม ต้องศึกษาว่าคนไทยหรือเอเชียเหมาะกับ 10 หรือ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม “พอรู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง ก็เข้าสู่การทดสอบทางคลินิกเฟส 2 อาสาสมัครหลักร้อยคน ถ้ายืนยันได้ว่าประสิทธิภาพดีมาก ก็ศึกษาความปลอดภัยเพิ่มเติม”

ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า ทุกอย่างต้องใช้เวลา ต้องใช้เวลาจนถึงประมาณสิ้นปีกว่าจะรู้ข้อมูลผลการศึกษา จากนั้นอาจมีการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 กลุ่มอาสาสมัครมากกว่า 20,000 คน ว่าป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้จริงหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือนข้างหน้า สรุปแล้ววัคซีน ChulaCoV19 อาจจะเรียบร้อยกลางปี 2565

แต่ ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า หากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่า “วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิเท่าไร” ก็จะช่วยลดขั้นตอนได้

สมมติว่า เกณฑ์วัคซีนโควิด-19 ที่ดีต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า 80 IU (International Unit) แล้ววัคซีนของเรามากกว่า ก็สามารถใช้ได้เลย ไม่ต้องทำการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 สาม “อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตอนนี้ ตัวไหนทดสอบแล้วเกิน 40 IU ก็ผ่านเกณฑ์ ใช้งานได้เลย ถ้าวัคซีนโควิด-19 มีเกณฑ์อย่างนั้นก็อาจจะนำมาใช้ได้เร็วขึ้น อาจจะต้นปี 2565”

นอกจากนี้ ยังมีแผนเปรียบเทียบว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของจุฬาฯ นี้ จะใกล้เคียงไฟเซอร์ แอสตร้าเซเนก้า และซิโนแวค ได้หรือไม่ โดยจะมีการประสานไปยังมาเลเซีย เพราะที่นั่นฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อขอตัวอย่างเลือดผู้ที่ฉีดวัคซีนมาเทียบกับวัคซีนของเรา ถ้าผลใกล้เคียงเทียบเท่ากันก็จะถือเป็นข่าวดีว่า วัคซีนไทยดีเทียบเท่าวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัคซีนโควิด-19 ที่หลายคนต้องการฉีด

สเปกเด่นวัคซีน ChulaCoV19

วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ มีคุณสมบัติที่ถือว่าเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจหลายประการ

1. จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCoV19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา เป็นอย่างมาก

2. ผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน  ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน  3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี

3. วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด แต่วัคซีน mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์มีวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ ระยะยาวจะเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่ประเทศจน ๆ สามารถตั้งโรงงานขนาดเล็กขึ้นได้ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็วเช่นกัน

ก้าวต่อไปในอนาคตของ Chula VRC

ศ.นพ.เกียรติ เผยว่า ขณะนี้ทาง Chula VRC กำลังดำเนินการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA รุ่นที่ 2 ที่ 3 ออกมาขนานไปกับรุ่นแรก เพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 โดยภายใน 2 สัปดาห์นี้กำลังจะทดลองกับหนูทดลอง

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสต่าง ๆ มีการกลายพันธุ์โดยธรรมชาติ ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 จะต้องมีการอัปเดตสม่ำเสมอลักษณะเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งวัคซีนชนิด mRNA โปรตีนวัคซีน และอื่น ๆ บางชนิด สามารถผลิตได้รวดเร็ว นำมาสู้กับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ ปีต่อปีได้ในอนาคต จึงถือเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ Chula VRC ยังมีแผนระยะยาวกว่านั้น นั่นคือการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ

“เราหวังไกลถึงวัคซีนอื่นที่ไม่ใช่วัคซีนโควิด-19 เราจะมีที่ยืนในตลาดโลก อาจจับมือกับบริษัทข้ามชาติ กับไบโอเน็ตที่มีลู่ทางในเอเชีย เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตวัคซีน เราอยากเห็นประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ เราต้องคิดไปถึงว่า เราจะทดแทนการนำเข้า ให้ไทยมีของดีระดับโลก” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

เขายังคาดหวังว่า เทคโนโลยีการแพทย์ไทย จะกลายเป็น New S Curve หรือเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เศรษฐกิจก้าวกระโดด นอกเหนือไปจากการท่องเที่ยวที่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อเกิดภาวะวิกฤต

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ