เฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์ พบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 206 รายใน กทม.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พบระบาดระลอกใหม่ ขณะนี้สายพันธุ์อัลฟาครองโลก ตามมาด้วยสายพันธุ์เดลตา ส่วนสายพันธุ์เบตายังอยู่ชายแดนใต้

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวเรื่อง การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า สถานการณ์ในปัจจุบันตั้งแต่มีการระบาดในระลอกเดือนเมษายน 2564 พบว่า จากข้อมูลที่ตรวจเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มตัวอย่าง 3,964 ราย สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดมากที่สุดคือสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) ประมาณ 3,500 กว่าราย

นายกฯ ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์บริการฉีดวัคซีนแรงงานม.33

วัคซีนโควิดเข็ม 1 และ 2 ต่างชนิดกัน พบภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าเกณฑ์

ตามมาด้วย สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากแคมป์คนงานย่านหลักสี่ อยู่ที่ 235 ราย หรือ 6% จาก 3,964 ราย อยู่ใน กทม. 206 ราย ,นนทบุรี 2 ราย และพิษณุโลก 2 ราย  บุรีรัมย์ 1 ราย, อุบลราชธานี 1 ราย, สมุทรสงคราม 1 ราย และอุดรธานี 17 ราย จากการรวมกลุ่มบายศรีสู่ขวัญ โดยกำลังสอบสวนความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่หรือไม่ รวมทั้งยังพบที่ร้อยเอ็ด 1 ราย, นครราชสีมา 2 ราย และสระบุรี 2 ราย ⁣ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ)ในอนาคตเนื่องจากแพร่กระจายเร็วกว่า

⁣ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้)  ในพื้นที่ภาคใต้ ยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้ออกมานอกพื้นที่ซึ่งพบเคสล่าสุด 26 รายใน จ.นราธิวาส เดินทางข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น เริ่มมี สายพันธุ์รหัสพันธุกรรม  B.1.524 ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ เป็นสายพันธุ์ที่เจอ จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ประมาณ 10 ราย แต่ยังไม่ถูกจัดอันดับ

อนาคตสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) อาจมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในอังกฤษเองพบว่า สายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) เริ่มเข้ามาแทนที่ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) การระบาดรวดเร็วกว่าถึง 40 เท่า มีความรุนแรงของโรคมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 

ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่แพร่กระจายเร็วกว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ผลลัพธ์คือเมื่อมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ชุมชน จะยากต่อการควบคุมมากกว่า เป็นอีกประเด็นที่ต้องสนใจ ในอังกฤษเองก็กำลังกังวลว่า ในบางเมืองมีายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) หลุดเข้าไปจะแพร่กระจายเร็วมาก 

ไวรัสโควิด-19 ตัวนี้เป็น RNA ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงง่ายตามวิวัฒนาการ แตกลูกแตกหลานไวมาก เมื่อเข้าสู่ร่างกายมันไม่แปลกที่มีการปรับตัวให้อยู่รอดได้นานที่สุด

ซึ่งหากย้อนดูสายพันธุ์เอสดั้งเดิมตั้งแต่แพร่ระบาดจากอู่ฮั่น จะพบว่าแพร่กระจายได้น้อยกว่าปัจจุบันมาก แต่เมื่อสายพันธุ์เอสกับสายพันธุ์แอล เดินทางออกจากจีนและไปแพร่กระจายในยุโรปอย่างรวดเร็ว เกิดแตกลูกหลานเป็นสายพันธุ์แพร่ระบาดได้เร็ว และเป็นธรรมชาติของไวรัส "สายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วจะขึ้นมาครองโลก สายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ช้าก็ถดถอยไปและถูกแทนที่" 

ต่อมาเกิดเป็น สายพันธุ์ จี ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เอส และ แอล เดิม แตกลูกหลานออกมา สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ฯลฯ 

 

 

แต่ก็พบการแพร่กระจายของสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ช้ากว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จึงยังสามารถควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ได้ 

นพ.ยง  กล่าวต่อว่า แต่หากพิจารณากันจริงๆ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เกิดขึ้นก่อนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) คือ สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) เริ่มเห็นตั้งแต่เดือน ก.ค.ปี 63 ขณะที่ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)  มาพบช่วงเดือน ต.ค. แต่สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) แพร่กระจายไม่เร็วเท่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ทำให้ปัจจุบัน สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จึงครองโลก และทำให้เกิดการระบาดในประเทศไทยเป็นระลอกที่สาม โดยจุดบ่งชี้ที่เห็นว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)  แพร่กระจายได้เร็ว คือ ปริมาณไวรัสในลำคอมีจำนวนสูงมาก ทำให้สามารถแพร่กระจายได้ง่าย และตรวจพบได้ง่าย

ในเมื่อแพร่กระจายได้ช้ากว่า ทำไม สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ถึงน่ากังวล

นพ.ยง  อธิบายว่า มีจุดกลายพันธุ์ที่ทำให้ภูมิต้านทาน หรือ วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง ถ้าภูมิต้านทานของคนยังสูง โอกาสเป็นซ้ำก็ยาก หรือภูมิต้านทานวัคซีนยังสูง หรือ ลดลงนิดหน่อย ก็มีโอกาสเป็นยาก แต่มีเพียงจุดอย่างเดียวคือ การแพร่กระจายของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ไม่ได้เร็วเท่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)  เพราะฉะนั้นการครองโลกแบบสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จึงช้ากว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องเฝ้าระวัง เพราะก็ยังคงต้องควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดออกมานอกพื้นที่ เพราะหากแพร่กระจายแล้วจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ