อัปเดตข้อมูล “การฉีดวัคซีนโควิด-19 สองเข็มต่างชนิดกัน” ทำได้หรือไม่?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รวมข้อมูลการใช้วัคซีนชนิดหรือยี่ห้อหนึ่งเป็นเข็มแรก และใช้วัคซีนอีกชนิดหรืออีกยี่ห้อเป็นเข็มสอง หรือเข็มสาม (บูสเตอร์)

ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังพิจารณาการเปลี่ยนไปใช้วัคซีนโควิด-19 ต่างขนิดหรือยี่ห้อร่วมกัน หรือการฉีดวัคซีนแบบไขว้ชนิด (Heterologous prime-boost COVID-19 vaccination) คือการใช้วัคซีนชนิดหรือยี่ห้อหนึ่งเป็นเข็มแรก และใช้วัคซีนอีกชนิดหรือยี่ห้อเป็นเข็มสอง หรือเข็มสาม (บูสเตอร์)

ปัญหาความล่าช้าในการจัดกาวัคซีนบางยี่ห้อจนเกิดการขาดแคลนในหลายประเทศ ทำให้การฉีดวัคซีนไขว้ชนิดจากผู้ผลิตหลายรายอาจลดแรงกดดันในการจัดหาวัคซีน

ยังไร้ข้อสรุปปมฉีดต่างยี่ห้อ ศบค.รอฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญ

หนุ่มใหญ่เครียด ฉีดวัคซีนครบสองโดส แต่คนละยี่ห้อ

วัคซีนโควิดเข็ม 1 และ 2 ต่างชนิดกัน พบภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าเกณฑ์

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเบื้องต้นบางอย่างที่บ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนไขว้ชนิดอาจนำไปสู่การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้วัคซีนโควิด-19 ตัวเดียวกันสองโดส

ปัจจุบัน บางประเทศกำลังวางแผนที่จะฉีดวัคซีนไขว้ชนิด เนื่องจากขาดแคลนวัคซีน หรืออาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่หายากของวัคซีนโควิด-19 บางตัว ขณะที่บางประเทศก็กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการศึกษาทางการแพทย์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของการสลับฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือการฉีดวัคซีนไขว้

การใช้วัคซีนต่างชนิดร่วมกันหรือไขว้ชนิดกันอาจฟังดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับเรา แต่สำหรับนักภูมิคุ้มกันวิทยาแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่

นักวิจัยด้านเอชไอวี (HIV) ได้ศึกษาการใช้วัคซีนในลักษณะนี้มานานแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากการป้องกันไวรัสเอชไอวีจำเป็นต้องมีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่ซับซ้อน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำได้ด้วยวัคซีนเพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง เนื่องจากวัคซีนเหล่านี้มักจะสร้างปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันเพียงประเภทเดียวหรือกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันเพียงชุดเดียว

แม้ว่าเราจะยังไม่มีวัคซีนป้องกันเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ แต่ในปี 2012 ที่ผ่านมา วัคซีนเอชไอวีที่พัฒนาแล้วมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การใช้วัคซีนประเภทต่าง ๆ รวมกัน

หรือแม้แต่วัคซีนอีโบลาที่พัฒนาโดยจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็เป็นอีกตัวอย่างของการใช้วัคซีนผสมที่มีประสิทธิภาพซึ่งยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเข็มแรกใช้วัคซีนชนิดอะดีโนไวรัสเวกเตอร์ และเข็มที่สองใช้วัคซีนดัดแปลงจากวัคซีนฝีดาษ

ผลการศึกษาเบื้องต้น

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพคาร์ลอสที่ 3 แห่งสเปน (Carlos III Health Institute) ซึ่งรับผิดชอบการศึกษา CombiVacS หรือการศึกษาการใช้วัคซีนโควิด-19 สองชนิดร่วมกัน ได้ออกมาเปิดเผยเป็นที่แรกในโลกถึงผลการใช้วัคซีนแอสตร้าเนก้าเป็นเข็มแรก และใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มสอง

จากการทดลองในผู้มีสุขภาพดีอายุ 18-60 ปีจำนวน 673 คน ในจำนวนนี้ 441 คน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์หลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 สัปดาห์ พบว่า มีระดับแอนติบอดีสูงขึ้นประมาณ 40 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเพียงเข็มเดียว และพบว่ามีแอนติบอดีเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เท่า ซึ่งสูงกว่าการฉีดด้วยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเดียวกัน 2 โดส

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และยังคงมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อเนื่อง

ยังมีทีมวิจัยเยอรมนีที่ศึกษาอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าเข็มแรกและไม่มีประวัติติดเชื้อจำนวน 129 คน ในกลุ่มนี้ 32 คนเลือกฉีดแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มสอง และอีก 55 เลือกฉีดวัคซีนไฟเซอร์

ทั้งสองกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มสองพบว่า มีระดับแอนติบอดีต่อต้านโปรตีนหนาม (Spike Protein) เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สองเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อต้านโปรตีนหนามได้ 11.5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าสองเข็มที่ระดับแอสติบอดีเพิ่มขึ้น 2.9 เท่า

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยเยอรมนียังพบว่า เมื่อฉีดแอสตร้าเซเนก้าเข็มแรก แล้วฉีดไฟเซอร์เป็นเข็มสอง มีการตอบสนองกับโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) และแกมมา (บราซิล) มากกว่าการฉีดแอสตร้าเซเนก้าสองเข็ม

ส่วนการศึกษา Com-COV ในสหราชอาณาจักร นำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คัดเลือกอาสาสมัคร 830 คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลในการให้ผู้ป่วยได้รับวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าและไฟเซอร์ร่วมกัน

ผลการวิจัยเบื้องต้นระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนสองเข็มต่างชนิดมีแนวโน้มที่จะรายงานพบผลข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลางมากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าสองเข็ม แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาเชิงประสิทธิภาพโดยละเอียดของ Com-COV นั้นคาดว่าจะเผยแพร่ภายในเดือน มิ.ย. แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม และมีแผนจะทำการศึกษา Com-COV2 โดยเพิ่มวัคซีนโมเดอร์นาและโนวาแวกซ์ในการศึกษาด้วย

การศึกษาที่กำลังดำเนินการ

เมื่อสังเกตผลการศึกษาเบื้องต้นจากทั้ง 3 ประเทศข้างต้นจะพบว่า คู่วัคซีนโควิด-19 ยอดนิยมที่ถูกนำมาจับคู่ศึกษาในปัจจุบันคือ แอสตร้าเซเนก้าเข็มแรก และไฟเซอร์เข็มสอง ส่วนการศึกษาคู่วัคซีนอื่น ๆ ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการในหลายประเทศ

ประเทศไทยเอง ก็กำลังมีการศึกษาการใช้วัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าและซิโนวคร่วมกัน โดย นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในทางปฏิบัติ ประเทศไทยยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกและเข็มสองต่างชนิดกัน ยกเว้นในกรณีเมื่อฉีดเข็มแรกแล้วเกิดอาการแพ้วัคซีน ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเข็มสอง

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเปิดรับอาสาสมัครรับวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดกัน ในโครงการวิจัย “ความปลอดภัย ผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน และการใช้แทนกันของวัคซีนโรคติดเชื้อโคโรนา” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการนี้จะแบ่งกลุ่มศึกษาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มสองเป็นแอสตร้าเซเนก้า และอีกกลุ่มจะฉีดเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซเนก้า เข็มสองเป็นซิโนแวค

นพ.ยงเคยให้ข้อมูลไว้ว่า ได้มีการตรวจสอบผู้ที่แพ้วัคซีนเข็มแรกและไปฉีดเข็มสองเป็นวัคซีนต่างชนิดกันจำนวน 5 คน

พบว่า 4 รายที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และเข็มสองได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า มีภูมิต้านทานที่ขึ้นสูงกว่าการได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และ 1 รายที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มแรก แล้วเข็มสองได้วัคซีนซิโนแวค พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่ผลการใช้งานจริงที่น่าเชื่อถือยังคงต้องรอการศึกษาที่กำลังเปิดรับอาสาสมัครนี้

นพ.ยง เสริมว่า ถ้าการสลับใช้วัคซีนโควิด-19 ปลอดภัย จะกลายเป็นอีกแนวทางหนึ่งในยามที่วัคซีนขาดแคลนหรือมีผู้แพ้วัคซีน และเป็นแนวทางในการที่จะนำมาใช้ในการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 (บูสเตอร์) โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน

ขณะนี้ ยังมีการศึกษาของทางบริษัทแอสตร้าเซเนก้าเอง เกี่ยวกับการศึกษาการใช้วัคซีนโควิด-19 สปุตนิกวี (Sputnik-V) ของรัสเซียเป็นวัคซีนเข็มสอง เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเดียวกัน (อะดีโนไวรัสเวกเตอร์)

ด้านญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็กำลังศึกษาการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นเช่นกัน ขณะที่บ้านใก้ลเรือนเคียงของเราอย่างฟิลิปปินส์ก็วางแผนศึกษาการใช้วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนที่ฟิลิปปินส์มีมากที่สุด ร่วมกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ โดยมีแผนการศึกษาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปีนี้ จนถึง พ.ย. ปีหน้า

ทางรัสเซียเอง กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (RDIF) ระบุไว้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ว่า อาจเริ่มการทดลองใช้วัคซีนโควิด-19 สปุตนิกวีร่วมกับวัคซีนจีนยี่ห้อต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาหรับ เบื้องต้น RDIF รายงานว่า ไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรงในการทดลองทางคลินิกการใช้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าสลับกับสปุตนิกวี

ประเทศที่ประกาศใช้วัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดร่วมกันแล้ว

แม้ปัจจุบันผลการศึกษาเรื่องการใช้วัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดร่วมกันจะยังไม่มีผลชัดเจนเป็นประจักษ์ แต่ก็มีอยู่หลายประเทศที่ประกาศให้ใช้วัคซีนต่างชนิดเป็นวัคซีนเข็มสองหรือเข็มสามได้แล้ว ดังนี้

บาห์เรน – ทางการบาห์เรนกล่าวเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ว่า ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับวัคซีนบูสเตอร์เป็นวัคซีนไฟเซอร์หรือซิโนฟาร์มได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าวัคซีนเข็มแรกที่ฉีดเป็นวัคซีนชนิดใด

แคนาดา – คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติด้านการสร้างภูมิคุ้มกันเสนอเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ว่า ให้ผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าเป็นวัคซีนเข็มแรก สามารถเลือกวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาเป็นวัคซีนเข็มสองได้ เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนในกรณีที่ฉีดเข็มแรกเป็นโมเดอร์นาหรือไฟเซอร์ ก็สามารถข้ามยี่ห้อได้ แต่ให้เป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกัน

เยอรมนีและฝรั่งเศส – สองประเทศนี้มีความกังวลเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันเช่นกัน จึงแนะนำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกเป็นแอสตร้าเซเนก้า รับวัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนเข็มที่สองแทน

อิตาลี – AIFA หน่วยงานด้านการแพทย์ของอิตาลีกล่าวเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มแรก จะได้รับวัคซีนเข็มสองเป็นยี่ห้ออื่น

สเปน –กระทรวงสาธารณสุขกล่าวเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ว่า สเปนอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีที่ได้รับแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มแรก เลือกได้ว่าจะรับเข็มสองเป็นแอสตร้าเซเนก้าเมือนเดิมหรือวัคซีนไฟเซอร์

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ – ประกาศให้สามารถใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นบูสเตอร์สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 โดสเรียบร้อยแล้ว

เกาหลีใต้ – กล่าวเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ว่า ผู้คนราว 760,000 คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นวัคซีนเข็มแรก จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง เนื่องจากความล่าช้าของการจัดหาวัคซีนผ่านโครงการ COVAX

ขณะที่ประเทศอีกส่วนมาก เช่น ไทย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จะอนุญาตให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดร่วมกันได้เฉพาะในกรณีที่เกิดการแพ้วัคซีน หรือวัคซีนขาดแคลนเท่านั้น

เรียบเรียงจาก AP / Business Insider / CNN / GAVI / News Medical / Reuters / The Conversation / The Lancet

ภาพจาก AFP

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ