"เตียงเริ่มไม่พอ" นพ.นิธิพัฒน์ เสนอล็อกดาวน์ กทม.อย่างน้อย 7 วัน เคลียร์ปัญหาค้างคา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"นพ.นิธิพัฒน์" นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ เสนอรัฐล็อกดาวน์ กทม.อย่างน้อย 7 วัน สกัดวิกฤตโควิดระลอกสี่

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล เสนอให้ภาครัฐล็อกดาวน์พื้นที่กรุงเทพฯ อย่างน้อย 7 วัน เพื่อจัดการปัญหาที่ค้างคา ทั้งเรื่องเตียงผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอต่อการรักษา

เรื่องจริงจากหมอ โควิดระบาดซึมลึก หวั่น 120 วันอันตราย วิกฤตเตียงคัมแบค โควต้าวัคซีนจังหวัดพิเศษ!

สมาคมอุรเวชช์ฯ กระทุ้งรัฐบาล เด็ดขาด หวั่นระบบดูแลคนป่วยล่มสลาย

"ดูเหมือนเราจะจนตรอกมีทางเลือกไม่มากแล้ว ลองพิจารณาสถานการณ์โควิดใน กทม.ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนี้

1. ยอดผู้ป่วยใหม่รายวันไม่ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปเกินสี่หลัก

2. อัตราการตรวจพบเชื้อรายใหม่ในการตรวจเชิงรับ คือ ตรวจผู้ที่เข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งรัฐและเอกชน สูงกว่า 10% ทั้งๆ ที่แต่ละโรงพยายามตรวจให้น้อย เพราะไม่มีเตียงรับผู้ป่วยถ้าผลเป็นบวก

3. มีสัดส่วนผู้ป่วยเด็กมากขึ้นกว่าระลอกก่อนๆ แสดงว่าโรคระบาดซึมลึกเข้าไปในครอบครัวและชุมชน โชคดีว่ากลุ่มนี้อาการไม่รุนแรง แต่สร้างปัญหาการจัดเตรียมเตียงดูแลทั้งใน รพ.หลักและ รพ.สนามสำหรับเด็กอายุน้อย

4. มีสัดส่วนผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังเสี่ยงมากขึ้น แสดงว่าโรคระบาดซึมลึกเข้าไปในครอบครัวและชุมชนอีกเช่นกัน ทำให้การใช้เตียงใน รพ.หลักติดขัด จำนวนเตียงระดับ 2 และ 3 ที่ขยายศักยภาพมาหลายรอบเหลือไม่ถึง 5% ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตกลับมาเพิ่มขึ้นใหม่และอาจทำนิวไฮ

“หมอนิธิพัฒน์” ห่วงโควิดระลอกสี่ หลังนายกฯ จ่อเปิดประเทศใน 120 วัน สวนทางติดเชื้อพุ่ง

ผมได้รับคำถามจากผู้ใหญ่ที่เคารพและจากสื่อมวลชนหลายแขนงว่า แล้วภาคการแพทย์จะทำอย่างไรได้บ้าง ผมตอบว่าถึงตรงนี้เราไม่สามารถเพิ่มเตียงระดับ 2 และ 3 ไปมากกว่านี้ได้แล้ว เพราะติดขัดเรื่องกำลังคน ถ้าปล่อยให้มีผู้ป่วยใหม่ที่จำเป็นต้องอยู่ รพ.หลักเพิ่มขึ้นเร็ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะต้องนำไปดูแลรักษาในพื้นที่ทั่วไป ที่ไม่ได้เตรียมไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด ทำให้ผู้ป่วยอื่นได้รับการบริการลดกว่ามาตรฐานมาก (เดิมลดบ้างพอรับได้) ทำให้ผู้ป่วยโควิดไม่ได้รับการดูแลเต็มที่ เพราะคนและเครื่องมือติดตามไม่พอ และท้ายสุดทำให้บุคลากรและผู้ป่วยอื่นเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล

“สมาคมอุรเวชช์ฯ” ประกาศสู้ศึกโควิด-19 แม้ไม่มีแม่ทัพที่เด็ดขาด

สำหรับผมแล้ว คำตอบสุดท้ายสำหรับวิกฤตโควิดระลอกสี่ คือ การล็อกดาวน์กรุงเทพฯ อย่างน้อย 7 วัน เพื่อเร่งจัดการปัญหาค้างคา และลดปัญหาใหม่ที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ที่กว่ามาตรเด็ดขาดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนจะเห็นผล และที่สำคัญถ้าจะทำตามที่เสนอนี้ ต้องห้ามไม่ให้คนกรุงเทพฯ แตกรังออกต่างจังหวัดเหมือนที่เราทำพลาดมาแล้วช่วงสงกรานต์"

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ