กทม.วิกฤต รับผู้ป่วยสีแดงได้อีก 20 เตียง ขยายเพิ่มไม่ได้ งานล้นมือบุคลากรทางการแพทย์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมการแพทย์ ยอมรับ เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ทุกกลุ่มเต็มศักยภาพ ขยายเตียงเพิ่มไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยหนัก ICU หลังบุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนจำกัด ที่ขณะนี้นี้ภาระงานเกินศักยภาพมาติดต่อนาน 2 เดือนแล้ว

“นพ.ยง” คาด 3-4 เดือน โควิดสายพันธุ์เดลต้าอินเดีย ระบาดหนักในไทย

สลด! โควิดคร่า 51 ชีวิต ทำนิวไฮ พบอีกศูนย์ดูแลคนแก่เชื้อลาม ยังรอช่วยเหลือ ชลบุรี สมุทรปราการ สาหัส  

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐ ทุกระดับสี ในพื้นที่ กทม. ทุกแห่งศักยภาพในการรับ เกือบเต็มที่จะรับผู้ป่วยแล้วรายใหม่แล้ว โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดง ใน กทม. เหลือประมาณ 20 เตียง จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่า การระบาดระลอกเดือนเมษายนจะมีเตียงรองรับผู้ป่วย ได้วันละ 400-500 คน ซึ่งขณะนั้น แต่ละโรงพยาบาลได้แบ่งเตียงไอซียู  ในทุกสังกัดเพิ่มขึ้น รวมถึงการแบ่งโซน 6 พื้นที่ในกทม. เพื่อดูแลผู้ป่วย และบริหารจัดการเตียงร่วมกัน 

แต่เนื่องจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม. ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวันกว่าวันละ 1,000 คน ทำให้สถานการณ์เตียงที่จะรองรับผู้ป่วยในทุกระดับสี เกือบวิกฤต  ขณะเดียว แนวโน้มกลุ่ม ผู้ป่วยสีเหลือง อาการหนักขึ้น กลายเปลี่ยนเป็นสีแดงเพิ่มขึ้นด้วย  จึงส่งผลให้อัตราครองเตียงสีแดงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

นอกจากนี้  โรงพยาบาลเอกชน ประมาณ100-200 แห่ง ในพื้นที่กทม. แม้จะมีห้องไอซียูรองรับได้ 1-2 เตียง แต่ปัญหาสำคัญ คือ ขาดบุคลกรทางการแพทย์ ในการดูแล เนื่องจากบุคลกรเหล่านี้ก็มาจากโรงพยาบาลรัฐที่ทำงานนอกเวลา ขณะเดียวกันบุคลกรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.รัฐทุกแห่งตอนนี้ ได้ทำงานเกินกำลังในการดูแลผู้ป่วยทุกคนอยู่แล้ว

“ตอนนี้ที่เรากังวลก็คือว่าเราจะหา ICU รีเฟอร์ค่อนข้างลำบาก เพราะตอนนี้เราทำทุกวิถีทาง เพิ่ม ICU บริหารจัดการกันเป็นโซน พี่พูดสิคะพอได้ยินใช่ไหมเราทำเป็น 6 โซนแล้วก็มีโรงเรียนแพทย์และราชวิถี เป็นหัวหน้าเป็นหัวหน้าโซนแต่ละโซน ก็พยายามดู ดูแลกันภายในโซน เช่นโรงพยาบาลเล็กๆ ถ้ามี ICU ก็ไม่ต้องรีเฟอร์มา ก็ดูแลคนไข้ที่นั่นเพราะว่ามี ICU เหมือนกัน แต่ว่าจะมีหมออาจารย์จากโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลราชวิถีเป็นคนให้คำแนะนำ กลับ ICU นานๆ ก็พยายามดูแลจัดการ กันภายในคือทำทุกวิถีทางแล้ว ก็ค่อนข้าง ตึงจริง ๆ ครับ” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

สำหรับการแก้ปัญหา ขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขและทุกฝ่าย พยายามหาทางแก้ปัญหาทุกทาง ทั้งการแบ่งโซนผู้ป่วยตามพื้นที่  เพื่อให้ลดผู้ป่วยอาการรุนแรงให้ได้มากที่สุด รวมถึงให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ ที่เป็นยาหลัก เร็วขึ้น รวมถึงให้นำยาฟ้าทะลายโจรมารักษาผู้ป่วยที่อาการน้อย

ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพ และปริมณฑลวันที่ 21 มิถุนายน จากกรมการแพทย์ พบว่า ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง อย่างห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง  ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง

ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง  ห้องสามัญ ครอง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง และห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 ว่าง 3,267 เตียง เตียงสนาม ครองเตียง ว่าง 803 เตียง

ด้าน ศบค.รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ เพิ่ม 3,174 คน แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 3,138 คน และจากเรือนจำ 36 คน มีผู้หายป่วยกลับบ้านได้ 1,941 คน ทำให้ยอดป่วยสะสม เฉพาะระลอก 3 นี้ มีจำนวนผู้ป่วยแล้ว 199,676 คน

โดยวันนี้ยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวน 51 คน นับเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตสูงที่สุด หรือ นิวไฮอีกครั้ง

 

หลังจากโควิดระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน มียอดนิวไฮต่อเนื่อง ตั้งแต่

  • วันที่  27  เม.ย. 64     เสียชีวิต  15 คน 
  • วันที่   3   พ.ค. 64     เสียชีวิต  31 คน
  • วันที่  27  พ.ค. 64   เสียชีวิต  47 คน
  • วันนี้ วันที่  23  มิ.ย. 64   เสียชีวิต  51 คน

 

ส่วน ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนัก และใส่เครื่องช่วยหายใจ ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่

  • 16 มิ.ย. อาการหนัก 1,306 คน เครื่องช่วยหายใจ 364 คน
  • 17 มิ.ย. อาการหนัก 1,313 คน เครื่องช่วยหายใจ 376 คน
  • 18 มิ.ย. อาการหนัก 1,360 คน เครื่องช่วยหายใจ 378 คน
  • 19 มิ.ย. อาการหนัก 1,343 คน เครื่องช่วยหายใจ 383 คน
  • 20 มิ.ย. อาการหนัก 1,374 คน เครื่องช่วยหายใจ 390 คน
  • 21 มิ.ย. อาการหนัก 1,436 คน เครื่องช่วยหายใจ 395 คน
  • 22 มิ.ย. อาการหนัก 1,479 คน เครื่องช่วยหายใจ 410 คน

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจ เป็นการโพสต์ข้อความของ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งได้แสดงข้อมูลของ นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี ที่ระบุว่า ปัญหาของห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ก็เข้าขั้นวิกฤตเช่นเดียวกัน เพราะห้องฉุกเฉิน จะมีคนป่วยมาจำนวนมาก และทุกเคสมีความเสี่ยงของโรคโควิด19 ที่สูง ทำให้การดำเนินการมีขั้นตอนเพิ่มมากขึ้น โดยยังเข้าไปรักษาตามวอร์ดต่าง ๆ ได้ เพราะต้องรอผลตรวจโควิด ทำให้ห้องฉุกเฉินที่หนาแน่นอยู่แล้ว หนาแน่นมากขึ้น รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานต่อเนื่อง เกิดความอ่อนล้าอย่างหนัก

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ