แพทย์รามาฯ เผย เตียงโควิดวิกฤตหนัก สับรัฐแหลก ด่านหน้า “ขอปืนใหญ่ แต่ได้ปืนแก๊ป”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยเรื่องราวสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ผู้ป่วยเริ่มหาเตียงไม่ได้ บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ สับการทำงานของภาครัฐ เปรียบด่านหน้า “ขอปืนใหญ่ แต่ได้ปืนแก๊ป” ใช้ตามมีตามเกิด

อภ. แจง วัคซีน “โมเดอร์นา” อยู่ระหว่างร่างสัญญาจัดซื้อ คาดมาไตรมาส 4

ทะลุ 200,000 ราย ผู้ป่วยสะสม เช็ก 99 คลัสเตอร์กทม.พบใหม่ 3 แห่ง ปริมณฑลอีกเพียบ    

ไทยยังสาหัส ติดเชื้อรายใหม่ 4,108 ราย เสียชีวิต 31 ราย

เมื่อวานนี้  24 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Suppachok NeungPeu Kirdlarp กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ที่ขณะนี้ผู้ป่วยจำนวนมาก โรงพยาบาลเตียงเริ่มไม่พอ บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด รวมถึงปัญหาระบบการทำงานของรัฐบาล ที่ทำให้สถานการณ์เริ่มแย่ลง

โดย นพ.ศุภโชค  ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะสังเกตว่ายอดคนไข้ใหม่รายวันนั้นไม่ลดลงเลย มีแต่จะเพิ่มเรื่อยๆ และแนวโน้มแอดมิท ต่อวันก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง โดยการตรวจหาเชื้อแบบ Swap หลายที่ทำการตรวจได้จำกัด และบางสถานพยาบาลได้จำกัดการตรวจต่อวันจริง ซึ่งเข้าใจและเห็นใจ เพราะบางโรงพยาบาลตรวจกันจนเกินศักยภาพที่เจ้าหน้าที่จะทำไหวแล้ว มีบางที่ไม่ยอมตรวจให้คนไข้ เพราะก็กังวลว่าถ้าผลออกมาเป็นบวก (positive) แล้วจะให้ไปอยู่ที่ไหน จะต้อง แอดมิทที่ไหน เตียงจะหาได้หรือไม่

“สรุป เชื่อว่า ที่เห็นยอด 4,000 คน/วันนั้น อาจจะไม่ใช่ยอดที่แท้จริง เพราะถ้าตรวจได้มากพอ อาจจะยอดติดเชื้อจริงสูงมากกว่านี้”

นพ.ศุภโชค กล่าวต่อว่า กรณีที่รัฐบาลให้นำผู้ป่วย ที่พบผลตรวจว่าติดโควิด สามารถนำส่งเข้าส่วนกลางผ่านระบบ CO-link ได้ทันที แต่กลับยังพบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเป็นเวลานาน และบางครั้งโรงพยาบาลส่งรายชื่อเข้าระบบส่วนกลางเพื่อหาเตียง ปรากฏว่าผู้ป่วยยังไม่ได้เข้าแอดมิทนาน 3-4 วันจนอาการแย่งลง จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงบอกกลับมาว่า ตรวจโควิดที่ไหนก็ให้รักษาตัวที่นั่น จึงทำให้หลายโรงพยาบาบไม่กล้าตรวจโควิด เนื่องจากกลัวเกินศักยภาพในการรองรับแอดมิทผู้ป่วย  

“อ้าว พอแบบนี้ โรงพยาบาลหลายๆที่ก็ไม่กล้าตรวจเยอะสิ เพราะถ้าตรวจเยอะเกินกว่าศักยภาพในการรับ admit ผู้ป่วยได้ แล้วจะทำไง เพราะส่งส่วนกลางไป ก็วนกลับมาที่เก่าเหมือนบูมเมอแรง เหมือนกินซูชิหมุนเลยที่ส่งไปแต่ไม่มีใคร(ยอม)คับ จนวนกลับมาที่เดิม บางโรงพยาบาลเริ่มบอกว่า เราไม่รับตรวจแล้ว ให้ท่านไปตรวจที่อื่นเอง”

ภายหลังโรงพยาบาลเริ่มไม่รับตรวจ คนต้องดิ้นรนกระจายตัวไปหาที่ตรวจด้วยตนเอง และเมื่อเกิดการเดินทาง การแพร่กระจายเชื้อโรคก็ยิ่งกระจาย คุมไม่ได้ เมื่อเตียงเต็มไม่เพียงพอ (แต่ก็งงที่รัฐชอบบอกว่ามีเตียงทิพย์ตลอดเวลา) คนไข้จากที่เป็นสีเขียว ก็กลายเป็นสีเหลือง  จากสีเหลือง ก็กลายเป็นสีส้ม แดง พอส้ม หรือแดง (อาการหนัก) จึงต้องใช้ ICU/intermediate ward และใช้โรงพยาบาลที่ศักยภาพสูง จนเตียงไอซียูเต็ม

สาเหตุที่ทำให้เตียงไอซียูเต็ม เพราะผู้ป่วย 1 ราย ต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ บางคนใช้เวลา 2 เดือน บางคนเอาท่อช่วยหายใจออกไม่ได้ต้องเจาะคอ ทั้งนี้ ไม่สามารถเพิ่มศักยภาพได้การรักษาได้ เนื่องจาก พยาบาล แพทย์ มีไม่เพียงพอ และบางรายก็ติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มได้อีก ขณะเดียวกัน ระบบ Node ที่จะส่งต่อเคสที่หนักเมื่อเกินศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาล ก็เริ่มติดขัดฝืดเคืองมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็ไปต่อไม่ได้ ล่าสุดมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing home) แห่งหนึ่ง ติดเชื้อกว่า 40 คน และผู้สูงอายุอายุ 80-90ปี อาการเริ่มแย่ลง ไม่สามารถรับเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลได้อีกแล้ว จนมีผู้ป่วยบางส่วนเริ่มเสียชีวิต และเปลี่ยนเป็นสถานที่ดูแลระยะสุดท้าย (palliative care) เหมือนในต่างประเทศที่เคยปรากฎมา  

“ปัญหาการหาเตียง ทั้งสามัญและ ICU ในตอนนี้ของ กทม. และปริมณฑลนั้นคือวิกฤตมาก ๆ และเราอาจจะเป็นแบบที่อินเดียประสบพบในไม่ช้านี้ และนี่คือยังไม่นับว่าสายพันธุ์เดลต้า (น้องอินเดีย) กำลังจะมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดกับสายพันธุ์เบต้า(น้องแอฟริกาใต้) จากเจ้าตลาดเดิม (สายพันธุ์อัลฟา น้องอังกฤษ)  ตอนนั้น คิดไม่ออกเลยว่าจะเป็นเช่นไร”

แพทย์ รพ.รามาธิบดี ระบุว่า รัฐบาลเคยดีใจที่ไทยติดอันดับ 6 ในการรักษาจัดการโควิด-19 แต่ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันของไทยแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว จากวันละ 2 แสนคน/วัน เหลือแค่หลักพัน หลังฉีดวัคซีนคุณภาพสูง อย่าง ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ไปกว่า 150 ล้านโดส ขณะที่ไทยใช้ซิโนแวค (ที่มาแบบซื้อง่ายขายคล่อง) แอสตร้าเซเนก้า (ที่มาแบบจำกัดจำเขี่ย) และอัตราการฉีดแบบม้าตีนต้น และจำนวนการฉีดยังน้อยมากๆ ซึ่งสงสัยว่าเหตุใดไม่หาวัคซีนที่สามารถต่อกรกับสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้อย่าง ไฟเซอร์ โมเดอร์นา  และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน  ให้เร็วกว่านี้  ส่วนที่บอกว่าจะได้วัคซีนอีกยี่ห้อช่วงไตรมาส 4  แต่เหตุใดประเทศอื่นๆ ซื้อได้ก่อนไทย

“ผมไม่เคยเชื่อว่าเราจะเปิดประเทศด้วย ซิโนแวค ได้เลย เพราะเราก็เห็นตัวอย่างมากมายที่ฉีด sinoVac แล้วต้องกลับมา lock down กันมากมาย เหมือนที่ผมเคยได้กล่าวไว้หลายเดือนก่อน ช่วง vaccine forum  และผมคิดว่า อะไรที่เรายังไม่มีข้อมูล ถ้าเป็นนักวิชาการที่ยังซื่อสัตย์กับ profession ของตัวเอง ก็จงอย่าพูดอะไรที่ยังไม่มีแม้แต่งานวิจัย หรือpublication มาพูด เพราะไอ้ของที่ดี มีงานวิจัยรองรับมากๆ มีข้อมูล real world setting ดีๆ มาชัดเจน ประสบการณ์ใช้ที่มากพอ ทำไมไม่ยอมพูด ไม่ยอมใช้ และไม่ยอมพูดตามข้อมูลความจริงที่มีปรากฎ จนงงว่า เราจะนำพาประเทศไปแบบนี้หรือ”

เราอยากมีคนอย่าง ดร.แอนโธนี่ ฟาวซี ผู้อำนวยการ​สถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ที่คอยให้คำปรึกษากับผู้มีอำนาจของประเทศไทย และยังหวังลึกๆ ว่าจะมีคนแบบนี้มานำพาให้เราพ้นวิกฤตได้จริง แพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าว

“ทีมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ากำลังต่อสู้สงครามประหนึ่งชาวบ้านบางระจัน ที่ใส่ชุดตะเบงมานและเอาจอบ ขวาน มีด มาสู้ศึก ขอปืนใหญ่ไปแต่ไม่ได้มา ได้แต่ปืนแก๊ป และตอนนี้พยายามหล่อปืน ตีดาบใช้ตามมีตามเกิด” 

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ