ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กับสายพันธุ์เดลตา บทเรียนจากออสเตรเลีย-อินโดนีเซีย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ท่ามกลางการรุกคืบเข้ามาของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา การเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” พรุ่งนี้ จะทำให้ไทยกลายเป็นเหมือนออสเตรเลีย หรืออินโดนีเซีย?

พรุ่งนี้ (1 ก.ค.) จะเป็นวันแรกของโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)” หรือการเปิดพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่กำลังเป็นข้อกังวลใหญ่ระดับโลก และข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยมีอยู่ ว่าจะป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่

ปลดล็อก "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ปัญหา COE ราชกิจจาฯประกาศเปิดประเทศนำร่อง 1ก.ค.คำสั่งศบค. 3 มาตรการ

กรมควบคุมโรค ผุดมาตรการคุมเข้มโควิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” รับเปิดประเทศ 1 ก.ค. 64

หมอศิริราช หวั่น "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" เสี่ยงเจอเชื้อกลายพันธุ์

หลายประเทศ แม้แต่ประเทศที่มีวัคซีนโควิด-19 ประสิทธิภาพสูงอย่างสหรัฐฯ ยังประกาศแนะนำให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย (ไม่บังคับ) โดยให้เหตุผลว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาซึ่งมีความน่ากลัวกว่าสายพันธุ์อื่น อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักของสหรัฐฯ และของโลก

ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เป็นสายพันธุ์เดลตากว่า 20% จากทั้งหมด แต่ทั้งนี้สถานการณ์ของสายพันธุ์เดลตาในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาความอันตรายของเชื้อ

แต่ 2 ประเทศที่น่าสนใจที่กำลังเผชิญกับสายพันธุ์เดลตาคือ “ออสเตรเลีย” และเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา “อินโดนีเซีย”

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดการป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้คนยังสามารถไปร้านอาหาร ไนต์คลับ เข้าร่วมงานเทศกาล และไปโรงละครได้ โดยความสำเร็จนี้มาจากมาตรการปิดพรมแดนและการกักตัวที่เข้มงวด แม้มีการระบาดเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ปิดเมืองและติดตามผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยง มาได้ทุกคน

แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กลับสามารถเจาะแนวป้องกันของออสเตรเลียได้ ใน 1 สัปดาห์ มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 100 กว่ารายแล้ว กลายเป็นวิกฤตระดับชาติ มีการแพร่ระบาดทั้ง 4 รัฐทั่วประเทศ

ซิดนีย์ ดาร์วิน เพิร์ธ และบริสเบน เมืองหลวงของทุกรัฐในออสเตรเลีย กลับเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์ ทำให้ชาวออสเตรเลียมากกว่า 20 ล้านคน หรือประมาณ 80% ของประชากรต้องอาศัยอยู่ภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่การปิดประเทศในช่วงเริ่มต้นของการระบาด

ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ (28 มิ.ย.) รัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐพยายามที่จะอุดกำแพงโดยพยายามขยายการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19

ปัจจุบัน ออสเตรเลียฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 7.4 ล้านโดส เป็นผู้ฉีดเข็มแรก 6.2 ล้านคน หรือ 24.4% ของประชากรทั้งประเทศ มีผู้ติดเชื้อสะสม 30,600 ราย เสียชีวิต 910 ราย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เดลตาในออสเตรเลีย ทำให้เมื่อวันเสาร์ (26 มิ.ย.) นิวซีแลนด์ประกาศหยุดโครงการทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) ระหว่าง 2 ประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระบาดในนิวซีแลนด์ แต่ล่าสุดมีข่าวว่า ทั้งสองประเทศจะเปิดทราเวลบับเบิลบางส่วนอีกครั้งในเร็ววันนี้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เล่าว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่อนุมานข้อมูลว่า โควิด-19 เดลตาอาจมีความสามารถในการแพร่เชื้อในลักษณะที่เรียกว่า “การแพร่อย่างรวดเร็ว (Fleeting Transmission)” โดยเป็นการแพร่ที่ผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อไม่รู้จักกันมาก่อน และไทม์ไลน์ร่วมของพวกเขาที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อเป็นเพียงการเดินสวนกันที่ห้างสรรพสินค้า

“รหัสพันธุกรรมในไวรัสสองคนนี้ตรงกันพอดี ก็เลยรู้ว่าเป็นไวรัสตัวเดียวกัน สองคนนี้เจอกันโดยเดินสวนกันที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งถ้าสมมติเดินสวนกันแค่นี้แล้วติดได้จริง แปลว่าสายพันธุ์เดลตาใช้เวลาในการแพร่กระจายไม่นาน แต่เคยเอามาทดลองมั้ย อันนี้ยังไม่มีใครเคยทำ ออสเตรเลียใช้หลักฐานอันนี้แล้วอนุมาน แต่อาจจะยังเชื่อได้ไม่มาก เพราะไทม์ไลน์ของผู้เกี่ยวข้องอาจจะไม่แม่นยำ 100% หรืออาจจะมีคนอื่นนอกจากพวกเขาที่เป็นจุดเชื่อมโยง” ดร.อนันต์กล่าว

นักไวรัสวิทยาบอกว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลตานี้จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในกรุงเทพฯ ไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือนเช่นเดียวกับในต่างประเทศ “ไวรัสส่วนมากจะมีสมดุลหนึ่งอยู่ คือถ้าแพร่กระจายน้อยอาจจะหนีภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ถ้าแพร่กระจายมาก อย่างสายพันธุ์อัลฟา จะหนีภูมิคุ้มกันไม่ต่อยได้ แต่เดลตาเหมือนจะกระจายตัวได้ดีและหนีภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้มีความกังวลว่า เดลตาจะเป็นสายพันธุ์หลักของโลกที่จะทำให้เกิดปัญหา

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่แม้เจอสายพันธุ์ทะลวงแนวป้องกันมาได้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้อยู่ หากภูเก็ตควบคุมการระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้อย่างออสเตรเลีย ก็จะนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่หากทำไม่ได้ สถานการณ์ไทยเราก็อาจไปคล้ายคลึงกับ “อินโดนีเซีย”

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอินโดนีเซียปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาวะที่ต้องเรียกว่า “หายนะ” เนื่องจากสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดมากขึ้น ทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูง และทำให้โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขต้องรับภาวระหนักจนชะงักงัน นับเป็นจุดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันมากกว่า 20,000 รายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระลอกใหม่ของการระบาดที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 เดลตาซึ่งแพร่กระจายได้มาก

แจน เกลฟานด์ หัวหน้าคณะผู้แทนของสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า “ในทุกวันเราจะเห็นว่า สายพันธุ์เดลตากำลังผลักดันให้อินโดนีเซียเข้าใกล้ขอบเหวของหายนะได้อย่างไรบ้าง”

เขาบอกว่า โรงพยาบาลในพื้นที่ “เขตสีแดง” หลายแห่งรายงานว่ามีผู้ป่วยเกินกำลังจะรับไหว รวมถึงในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศเอง ก็มีเตียงผู้ป่วยรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อีกเพียง 7% เท่านั้น

สิตี นาเดีย ทาร์มิซี เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียกำลังผลักดันให้มีการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

เธอบอกว่า “โรงพยาบาลของเราเต็มเกือบหมดแล้ว เนื่องจากจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับด้านสุขภาพ และการเข้ามาของเดลตา”

วัคซีนที่อินโดนีเซียใช้เป็นของซิโนแวคเป็นหลัก ฉีดไปแล้ว 40.6 ล้านโดส เป็นผู้ฉีดเข็มแรก 28 ล้านคน หรือ 10% ของประชากรทั้งประเทศ แต่การเข้ามาของสายพันธุ์เดลตำให้ประชาชนหันไปลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้ากันมากขึ้น ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2.1 ล้านราย เสียชีวิต 58,000 ราย มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ดร.อนันต์ให้ความเห็นว่า อินโดนีเซียกำลังมีปัญหาอย่างหนักในระบบสาธารณสุข โรงพยาบาลรับผู้ป่วยไม่ไหวแล้ว ซึ่งอาจเป็นอนาคตอันใกล้ของไทยหากควบคุมสายพันธุ์เดลตาได้ไม่ดีพอ

ขณะที่ไทยเอง วันก่อนมีข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ที่ภูเก็ต ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ผ่านไป 14 วัน มีโอกาสป้องกันโควิด-19 ได้ 90.7% ไม่ติดเชื้อ ถ้าฉีด 1 เข็มผ่านไป 14 วัน กันการติดเชื้อได้ 61.9% แต่ข้อมูลนี้ประเมินจากสายพันธุ์อัลฟาเท่านั้น

ถ้าภูเก็ตเปิดเมือง แล้ววัคซีนที่ใช้คือของซิโนแวค แล้วคาดหวังว่าจะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อสายเดลตาได้ ไม่กระจายในจังหวัด น่าจะเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไป แต่อาจไม่มีผู้ป่วยหนัก อันนี้คาดหวังได้ เพราะถ้าป้องกันป่วยหนักจากเดลตาวัคซีนทุกตัวใช้ได้หมด” ดร.อนันต์กล่าว

เขาเสริมว่า ข้อมูลการใช้วัคซีนซิโนแวคกับสายพันธุ์เดลตายังมีน้อย ส่วนอินโดนีเซียคาดว่ามีข้อมูลดังกล่าวอยู่บ้าง แต่เบื้องต้นมีการเปรียบเทียบเชิงอนุมานว่า วัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนก้า 2 เข็มมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตาประมาณ 60% และลดลงเหลือ 30% ถ้าฉีดเพียงเข็มเดียว และวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิภาพเท่าแอสตร้าเซเนก้า 1 เข็ม จึงพออนุมานได้ว่า ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม อาจจะมีประสิทธิภาพป้องกันเดลตาได้ราว 30% ขณะที่การศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตาถึง 88%

คำถามสำคัญคือ การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีเงื่อนไขอยู่ว่า ห้ามมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 13 รายต่อวัน หรือมากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ แต่หากวัคซีนที่ฉีดไปป้องกันการเสียชีวิตหรือป่วยหนักมากกว่าป้องกันการติดเชื้อ ก็อาจมีโอกาสที่โครงการนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ

ปัจจุบัน ภูเก็ตฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 383,000 คน (82%) เข็มสอง 298,000 คน (64%) นับว่ามีอัตราการฉีดที่น่าพึงพอใจ แต่ยังคงต้องติดตามต่อไปว่า หลังเปิดภูเก็ตแล้ว จะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

ที่สำคัญคือ หากการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวครั้งนี้จัดการได้ไม่ดีพอ มีสายพันธุ์เดลตาเข้ามาได้ผ่านทางแซนด์บ็อกซ์ ด้วยวัคซีนโควิด-19 ที่เรามีอยู่ นอกจากจะต้องปิดภูเก็ตอีกครั้งแล้ว อาจเกิดระเบิดลูกโซ่ทำให้สถานการณ์ภาพรวมในไทยเลวร้ายลงจนกลายเป็นอินโดนีเซียแห่งที่สองก็เป็นได้

สมาคมโรคติดเชื้อส่งจม.ถึงนายกฯ “เร่งจัดหาวัคซีนชนิดอื่นมาทดแทนซิโนแวค”

อธิบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ ข้อมูลใช้จริง "ซิโนแวค" กันติดเชื้อ 80-90%

เรียบเรียงจาก BBCCNA / CNN / Forbes / Reuters / The Guardian

ภาพจาก AFP

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP สุขภาพ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ