“ศักยภาพสาธารณสุขไทยเกินรับไหว” หมอประสิทธิ์ ห่วงระลอก 4 สายพันธุ์เดลตาลามไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หมอประสิทธิ์ ห่วงอีก 2 สัปดาห์ศักยภาพสาธารณสุขไทยเกินรับไหว คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ย้ำ ยุทธศาสตร์ต้นน้ำลดผู้ติดเชื้อ ช่วยปลายน้ำผู้ป่วยล้นไอซียู ในจุดที่สายพันธุ์เดลตากำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลักในการแพร่ระบาด

กาแฟดำ กับ สุทธิชัย หยุ่น พูดคุยกับ  ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่าง สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และในอีกไม่เกิน 1 เดือน จากสายพันธุ์อัลฟา จะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพราะด้วยศักยภาพของสายพันธุ์ที่ แพร่กระจายเร็ว

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กับสายพันธุ์เดลตา บทเรียนจากออสเตรเลีย-อินโดนีเซีย

จริงหรือไม่? ติดโควิดเดลตาได้ หากเดินผ่านผู้ติดเชื้อ

และยิ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยที่พุ่งสูง ผู้ป่วยหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางกับการรับมือของโรงพยาบาล ทุกแห่งเตียงล้น ไอซียูเต็ม เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีประมาณ 300 – 400 รายต่อวัน แต่ปัจจุบันขึ้นไปถึง 500 รายต่อวัน ขณะที่คนไทยปอดอักเสบจากเดิมอยู่ที่ 1,200 ราย ขณะนี้อยู่ที่ 1,800 ราย ซึ่งนั่นหมายความว่าเรากำลังเจอกับวิกฤตจริงๆ

คนไข้หนักโดยลำพังก็วิกฤตอยู่แล้ว แต่ละคนต้องใช้เวลาในการอยู่ในโรงพยาบาล หอผู้ป่วยหนักนานขึ้นไปด้วย แต่เรามีคนไข้หนักทะลักเข้ามาอีก สิ่งที่เกิดขึ้นเราพยายามขยายเตียงเพื่อรับคนไข้ แต่ขยายยังไงมันไม่มีวันขยายโดยไม่สิ้นสุดหรอก บุคลากรตอนนี้ทั้งประเทศทุกโรงพยาบาลจะส่งต่อผู้ป่วยก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้นต้องใช้ยุทธศาสตร์ ตัดต้นน้ำเพื่อไม่ให้กระทบปลายน้ำ

ยุทธศาสตร์การจัดการโควิด-19 แบบต้นน้ำ ปลายน้ำ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เคยให้ไว้ตั้งแต่ปี 2563 และสำหรับในปีนี้ ที่มี “วัคซีน” ทยอยเข้ามาเสริมทัพเป็นกลางน้ำ เพราะฉะนั้นในสถานการณ์แบบนี้สิ่งที่จะสกัดโควิด-19 ได้สำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับต้นน้ำ (ลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ให้เร็ว) ถ้าผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงปลายน้ำ (ผู้ป่วยในโรงพยาบาล) ก็จะลดลงตามไปด้วย

จากข้อมูลที่เราเห็น ย้อนหลัง 6 สัปดาห์ที่แล้ว เรายังมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นเลขหลักเดียว ต่อมาเป็น สองหลักและเริ่มเห็นหลักสิบ เป็น  5  เป็น 6 แล้วนะ เราไม่อยากเห็นเป็นเลขสามหลักเด็ดขาด เพราะฉะนั้นเรามีทางเดียวต้องรีบหยุดมันก่อนที่มันจะแก้ไม่ทัน

สำหรับสถานการณ์อัตราการเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้ป่วยใหม่  ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วิเคราะห์ว่า มี 2 ปัจจัยร่วม คือ การเดินทางกระจายออกของคน ซึ่งหลายคนไม่เคยได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และไม่มีอาการ แต่ขณะนี้คณะกรรมโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด จะสามารถตรวจเชิงลึกได้จากมาตรการคัดกรองคนเข้าพื้นที่ โดยธรรมชาติแล้วเมื่อพบผู้ติดเชื้อก็จะสามารถควบคุม รักษาได้  คนเหล่านี้อาการไม่มาก แข็งแรง ภายใน 2 สัปดาห์มีภูมิในตัว ก็จะสามารถคุมสถานการณ์ได้

อีกปัจจัยคือ วัคซีน มีหลายตัวอย่างจากต่างประเทศ ทั้งสหราชอาณาจักร อิสราเอล สหรัฐ รวมถึงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ออกมาว่า อย่างน้อยประเทศใดประเทศหนึ่งฉีดวัคซีน 25% จะเริ่มเห็นผลบวกของวัคซีน ขณะที่ของไทยปัจจุบันอยู่ราวๆ แค่ 10.7% ยังต้องเร่งระดมฉีด เพราะฉะนั้นถ้าทำได้ 25% ขึ้นไป จะได้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ “สายพันธุ์เดลตา” ที่กำลังเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟามากขึ้น และโดยธรรมชาติของสายพันธุ์ที่แพร่กระจายเร็ว ยิ่งต้องแข่งกับเวลา

ที่ผมห่วงตอนนี้ เนื่องจาก ภายใน 1 เดือน สายพันธุ์เดลตาไม่ใช่ 30% แล้ว สายพันธุ์เดลตาคงเป็น 80-90% ในประเทศไทย ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ เราก็ต้องแข่งกับเวลา เราเจออะไรที่มันเร็ว ถ้าเราช้า เราแพ้แน่

ในส่วนของมาตรการเยียวยาที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เช่น การสั่งปิดแคม์คนงาน การงดให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  ระบุว่า ขอติดตามดูก่อน 14 วัน สามารถเอาอยู่หรือไม่

ก็ไม่อยากทำให้เศรษฐกิจเสีย แต่โรคเรื้อรังกับโรคเฉียบพลันต่างกัน การจัดการโรคเฉียบพลันเอาให้เร็ว แต่ถ้าเฉียบพลันกลายเป็นเรื้อรังมันยาว

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ