รวมข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์ “แลมบ์ดา” อันตรายกว่า “เดลตา” จริงหรือ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รวมข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์ “แลมบ์ดา” หลังมีข่าวว่า สายพันธุ์แลมบ์ดามีอันตรายมากกว่าเดลตา

กลายเป็นที่ฮือฮาและพูดถึงค่อนข้างมาก เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ระบุผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันจันทร์ (5 ก.ค.) ที่ผ่านมาว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda) มีอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดลตา (Delta) ทำให้เกิดความกังวลในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดาแล้วอย่างน้อย 8 ราย ท่ามกลางการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่รุนแรง

จับตาโควิดสายพันธุ์ “แลมบ์ดา” อันตรายกว่า “เดลตา” พบแล้ว 30 ประเทศ

รู้จัก "โควิด-19 สายพันธุ์เอปซิลอน” ระบาดในปากีสถาน หวั่นลามมาไทย

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียยังระบุด้วยว่า ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาพบครั้งแรกในเปรู ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก โดยเปรูมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมกว่า 2 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สะสมสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก เกือบ 194,000 ราย

โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดานั้นพบครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค. 2020 และเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เพิ่มสายพันธุ์แลมบ์ดาไว้ในรายชื่อสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variant of Interest; VOI)

WHO ถอด “เอปซิลอน-ซีตา-ธีตา” ออกจากสายพันธุ์โควิด-19 ที่ต้องสนใจ (VOI)

WHO เพิ่มชื่อโควิด-19 “สายพันธุ์แลมบ์ดา” เป็นสายพันธุ์ต้องให้ความสนใจ

โดยชื่อรหัสทางวิทยาศาสตร์ของสายพันธุ์แลมบ์ดาคือ “C.37” องค์การสุขภาพของภาคพื้นอเมริกา (PAHO) ระบุว่า ตัวอย่างที่เก็บจากผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเปรู ช่วงเดือน พ.ค-มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น เป็นเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาเกือบ 82% ส่วนในชิลีและอาร์เจนตินาก็มีสัดส่วนการระบาดราว 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่

ปัจจุบัน มีการค้นพบสายพันธุ์แลมบ์ดาระบาดอยู่ใน 29 ประเทศ มากที่สุดในยุโรป 11 ประเทศ อเมริกาใต้พบใน 10 ประเทศ ส่วนเอเชียพบใน 2 ประเทศ คือ ตุรกี และอิสราเอล ล่าสุดพบในออสเตรเลียด้วย

แต่คำถามสำคัญคือ “สายพันธุ์แลมบ์ดาอันตรายกว่าสายพันธุ์เดลตาจริงหรือ?”

เปรียบเทียบการกลายพันธุ์

โควิด-19 สายพันธุ์เดลตานั้น จากข้อมูลที่ทราบกันดี มีการกลายพันธุ์ประมาณ 13 ตำแหน่ง แต่มีอยู่ 3 ตำแหน่งที่น่ากังวล คือ D614G เชื่อว่าทำให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น และเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับการสูญเสียประสาทรับรู้กลิ่น, L452R ทำให้โปรตีนหนามของไวรัสแข็งแกร่งขึ้น และทำให้ความสามารถในการรับรู้ของระบบภูมิคุ้มกันลดลง และ P681R อาจเพิ่มการติดเชื้อในระดับเซลล์

การกลายพันธุ์ดังกล่าว ทำให้สายพันธุ์เดลตามีคุณสมบัติที่พูดโดยง่ายคือ “แพร่กระจายเร็ว ติดเชื้อง่าย หนีภูมิคุ้มกัน” ซึ่งเป็นความสามารถที่ทำให้ทั่วโลกกังวล

ส่วนการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์แลมบ์ดานั้น นักวิจัยพบการกลายพันธุ์แบบใหม่ที่ไม่เคยเห็นจำนวนมาก เช่น ตำแหน่ง L452Q, F490S, del246-252, G75V และ T76I แต่ก็ยังพบการกลายพันธุ์ที่คุ้นเคย เช่น D614G ที่พบในสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา

นั่นทำให้เราพอจะบอกได้เพียงว่า สายพันธุ์แลมบ์ดาสามารถแพร่กระจายได้เร็วคล้ายคลึงกับสายพันธุ์เดลตาเท่านั้น และมีการศึกษาตัวอย่างจากบุคลากรการแพทย์ในชิลี ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ เบื้องต้นพบว่า สายพันธุ์แลมบ์ดาแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และแกมมา (บราซิล)

แต่เรายังไม่อาจททราบได้ชัดเจนว่า การกลายพันธุ์แบบใหม่อื่น ๆ จะส่งผลต่อคุณสมบัติของโควิด-19 สายพันธุ์นี้อย่างไรบ้าง และอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นแค่ไหน ดังนั้นการจะสรุปว่า “แลมบ์ดาอันตรายกว่าเดลตา” นั้น เป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะตอบ

ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19

นักวิจัยพบว่าวัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพในการต่อต้านตัวแปรแลมบ์ดาในเอกสารพิมพ์ล่วงหน้าที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา สามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้ แต่ประสิทธิภาพคงเดิมหรือลดลงอย่างไรนั้น ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาของชิลี พบว่า สายพันธุ์แลมบ์ดามีการกลายพันธุ์ที่มี “ความสามารถในการหลบหนีจากภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นโดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค”

นั่นหมายความว่า ข้อมูลเท่าที่มี (ซึ่งยังไม่ครวบถ้วนสมบูรณ์) พบว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยังสามารถป้องกันสายพันธุ์แลมบ์ดาได้ดีอยู่ ส่วนการป้องกันสายพันธุ์เดลตาเท่าที่มีรายงานจากหลายการศึกษาในหลายประเทศ มีประสิทธิภาพอยู่ที่ราว 64-88%

ส่วนวัคซีนซิโนแวคยังไม่มีข้อมูลการศึกษากับสายพันธุ์เดลตา และกับสายพันธุ์แลมบ์ดาเอง ก็มีแนวโน้มว่าประสิทธิภาพจะไม่ดีนัก ด้อยกว่าเมื่อเจอกับอัลฟาและแกมมาซึ่งอยู่ที่ราว 70%

ดังนั้นที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญในช่วงนี้ ยังคงเป็นการป้องกันไม่ให้โควิด-19 ระบาดหนักกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงป้องกันไม่ให้โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ เล็ดรอดเข้ามา ส่วนสายพันธุ์แลมบ์ดาจะอันตรายหรือรุนแรงกว่าเดลตาและสายพันธุ์อื่น ๆ หรือไม่นั้น ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไป

เรียบเรียงจาก bioRxiv / Euro News / Financial Times / Independent / medRXiv / Science Focus

ภาพจาก AFP

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ