หมอ “ธีระวัฒน์” แนะอย่าฉีดวัคซีนไขว้ซิโนแวคกับยี่ห้ออื่นถ้าไม่ครบโดส


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แพทย์จุฬาเรียกร้องให้เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้บุคลากรด่านหน้าที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มป้องกันติดเชื้อแล้วแพร่สู่ผู้ป่วย

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬฯฯ ระบุว่า ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไขว้สูตรระหว่าง วัคซีน “ซิโนแวค” กับยี่ห้ออื่น เพราะตามสูตรหรือข้อบังคับของผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค จะต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มจึงจะทำงานเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่า หลังผ่านไป 2 เดือนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสภูมิคุ้มกันตกลงมากจริง จึงควรฉีดอีก 1 เข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนยี่ห้อแอสตราเซเนก้า และเร่งฉีดให้บุคลากรการแพทย์โดยด่วน

ประเทศใดบ้าง เริ่มฉีดวัคซีนเข็ม 3 สกัดโควิดกลายพันธุ์

ฉีดวัคซีนครบแล้วยังติด สาเหตุที่หมอขอวัคซีนโควิดเข็ม 3

อัปเดตข้อมูล “การฉีดวัคซีนโควิด-19 สองเข็มต่างชนิดกัน” ทำได้หรือไม่?

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความเห็นเรื่องการฉีดวัคซีนไขว้ยี่ห้อ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบุว่า การไขว้ยี่ห้อ ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว เพราะการไขว้ยี่ห้อ ควรจะฉีดเป็น Booster dose หรือเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และ ป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตา กับ สายพันธุ์อัลฟา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงวิกฤตของบุคลากรด่านหน้า ที่ต้องเจอคนไข้ทุกวัน เพราะ 2-3 วันที่ผ่านมาพบว่าในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีบุคลากรที่ติดเชื้อและนำเชื้อแพร่สู่ผู้ป่วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนและข้อเรียกร้อง คือ การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นแอสตราเซเนก้า ให้กับบุคลากรการแพทย์ เพราะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้ และวัคซีนแอสตราเซเนก้า เป็นวัคซีนที่หาได้เร็วที่สุด

 “ที่ไม่ควรทำ คือ ไม่ควรฉีดวัคซีนไขว้เข็ม ระหว่างซิโนแวคเข็มแรก กับ วัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เพราะซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย ผู้ผลิตออกแบบให้ฉีดวัคซีนให้ครบโดส หรือ ครบ 2 เข็มก่อน วัคซีนถึงจะทำงานเต็มที่ หลังจากนั้นจึงจะฉีดยี่ห้ออื่นเพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน”

 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า สำหรับการฉีดวัคซีนไขว้ยี่ห้อ ควรจะเป็นวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น แอสตราเซเนก้า กับ ไฟเซอร์ หรือแอสตราเซเนก้า กับ โมเดอร์นา เพราะมีผลการศึกษารองรับจำนวนมาก และวัคซีนแวคเตอร์ไวรัส กับ วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA เพียงเข็มแรกมีประสิทธิภาพในการป้องกันแล้ว

คอนเทนต์แนะนำ
"หมอบุญ" เผยมองแง่ดี อภ.แจ้งความ เตรียมหลักฐานชี้แจง ยืนยันข้อมูลทุกอย่างเป็นความจริง

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ