เปิดชีวิต ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาที่บ้าน จนอาการดีขึ้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มาตรการหนึ่งที่ถูกปลดล็อกเพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ไม่เพียงพอ คือการให้กักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ซึ่งวันนี้เลขาธิการ สปสช. ยืนยันว่าหลังจากนี้จะให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาที่บ้าน หากอาการแย่ลงจึงจะนำส่ง โรงพยาบาล/ทีมข่าว PPTV ได้พูดคุยกับผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวที่บ้าน มองว่าเป็นโครงการที่ดี พร้อมรีวิวการรักษาเหมือนมีพยาบาลอยู่ใกล้ ๆ เพราะสื่อสารผ่านไลน์ตลอด

เปิดแผนราชวิถี นำร่องทำ Home Isolation

แนวทาง Community Isolation ผู้ป่วยโควิด รักษาในชุมชน กทม.เปิดแล้ว 104 จุด

สปสช. พร้อมจ่าย ค่าอุปกรณ์ - อาหาร 3 มื้อ 14 วัน ผู้ป่วยโควิดรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation)

เป็นการแชร์ประสบการณ์รักษาโควิด-19 ที่บ้าน ตามโครงการ Home Isolation ของหญิงวัย 32 ปีรายหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด-19 จากคนในครอบครัว เธอตัดสินใจขอเจ้าหน้าที่เข้าระบบ Home Isolation เพราะอยากอยู่บ้านมากกว่า รพ.สนาม ประกอบตนเองอาการไม่หนักและอยากเก็บโควต้าเตียงให้กับคนที่อาการหนักกว่า

หญิงคนนี้เล่าว่า เริ่มไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังสัมผัสผู้ป่วย โดยมีอาการไอ ผื่นขึ้น จมูกไม่ได้กลิ่น จนวันที่ 9 ก.ค. จึงทราบผลพบว่าติดเชื้อ

จึงโทรศัพท์แจ้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพ หรือ สปสช. ขอเข้า Home Isolation โดยได้ย้ายมาอยู่บ้านเช่าอีกหลัง ที่เจ้าของที่ใจดีให้ใช้กักตัวชั่วคราว แยกออกมาจากแม่ที่อาศัยในบ้านเช่าหลังเดิม จนวันที่ 12 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่เริ่มส่งถุงยังชีพและอุปกรณ์มาให้ ประกอบด้วยอาหารแห้ง  ยาฟ้าทะลายโจรและพาราเซตามอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และปรอทวัดไข้

โดยมีพยาบาลประจำที่สื่อสารผ่านทางไลน์ ซึ่งให้กินยาฟ้าทะลายโจร และส่งผลวัดไข้/ค่าออกซิเจน ทุกเช้า-เย็น จนปัจจุบันอาการดีขึ้น จมูกได้กลิ่นปกติ ผื่นหาย เหลือเพียงไอเล็กน้อย แต่ยังต้องกักตัวต่อและส่งข้อมูลอาการให้พยาบาลจนครบกำหนด 14 วัน

ทั้งนี้ระหว่างที่กักตัวที่บ้าน ทุกเช้าเจ้าหน้าที่มาส่งอาหารปรุกสุกให้ 3 มื้อ โดยมีการสลับเมนูในแต่ละวันเพื่อไม่ให้น่าเบื่อจนเกินไป อย่างวันนี้ได้รับอาหารเป็นข้าวผัด / ข้าวไข่ยัดไส้ / ไข่เจียว / และข้าวผัดพริกหยวก หรือหากอยากกินอะไรเป็นพิเศษ ก็สามารถให้แม่ซื้อมาแขวนไว้ที่ประตูบ้านได้ เธอจึงมองว่าการรักษาแบบ Home Isolation ค่อนข้างสะดวกกว่าอยู่ รพ.สนาม แต่ก็ยังรู้สึกใกล้ชิดกับพยาบาลอยู่ เพราะมีการติดต่อผ่านไลน์ตลอดเวลา หากมีอาการผิดปกติก็สามารถแจ้งได้ทันที

 “พอดีเราอ่านตามข่าวนะคะ เขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นมา ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเริ่มเมื่อไหร่ แล้วพอดีทางเจ้าหน้าที่เขาก็ถามเหมือนกันว่า อยากจะอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม หรือว่าอยู่บ้าน เราก็บอกว่าขอเป็นอยู่บ้านดีกว่า เราอยากให้เตียงกับคนที่ป่วยหนักอยู่แล้วประมาณนี้ คือเราก็คิดไว้อยู่แล้วว่าให้เตียงคนที่ป่วยหนักดีกว่า ของเราไม่ได้มีอาการที่รุนแรงมากขนาดนั้น” หญิงป่วยโควิด กล่าว

ด้านนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. เริ่มนำร่องโครงการ Home Isolation รักษาที่บ้าน และ Community Isolation รักษาในสถานที่ที่ชุมชนจัดไว้ให้ 2-3 สัปดาห์แล้ว มีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ เกือบ 2,000 คน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา เริ่มปรับแผนให้ผู้ป่วยในเกณฑ์สีเขียว เข้า Home Isolation หรือ Community Isolation ทั้งหมด โดยจากสัดส่วนอาการผู้ป่วยโควิด-19 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเกณฑ์สีเขียว คือมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในเกณฑ์สีเหลือง และ 5 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเกณฑ์สีแดง ดังนั้นเมื่อผลักดันให้ผู้ป่วยสีเขียวเข้าระบบ Home Isolation มากขึ้น ก็จะเหลือเตียงไว้รองรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง ที่อาการหนักกว่ามากขึ้น

โดยช่องทางการเข้าระบบ Home Isolation หากพบว่าติดเชื้อ ให้โทรเบอร์ 1330 ต่อ 14 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่งอุปกรณ์มาให้ผ่านบริการเดลิเวอรี่ ประกอบด้วย เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยารักษา (เริ่มต้นที่ “ฟ้าทะลายโจร” ถ้าไม่ดีขึ้นให้ “ฟาวิพิราเวียร์”) รวมถึงอาหารวันละ 3 มื้อ และจะมีแพทย์คอยวีดีโอคอลสอบถามอาการวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ซึ่ง Home Isolation สำหรับคนที่สามารถแยกกักตัวในบ้านได้โดยไม่สัมผัสกับใครเท่านั้น ถ้าหากแยกกักตัวไม่ได้ สปสช. จะให้เข้าระบบกักตัวในสถานที่ที่ชุมชนจัดไว้ โดยจะมีการส่งแพทย์เข้าไปประจำ และจัดอุปกรณ์-ยารักษา-อาหาร 3 มื้อ ให้เหมือน Home Isolation นอกจากนี้ก็กำลังพิจารณาว่าอาจจัดหาออกซิเจนไปไว้ประจำด้วย หากอาการแย่ลงจะส่งรักษาใน รพ. ทันที เชื่อว่า ระบบนี้จะทำให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาได้ไวขึ้น มั่นใจว่า การรักษาที่บ้านไม่ด้อยกว่าในโรงพยาบาลหากมีการจัดการที่ดี

 

ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงที่ยังต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เตรียมปรับฮอสปิเทล 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นห้อง เข้ามารองรับผู้ป่วยสีเหลือง โดยจะเพิ่มอุปกรณ์ ทั้งเครื่องวัดความดัน และออกซิเจนแบบสายเสียบจมูกทุกห้อง ส่วนบุคลากร  จำเป็นต้องมีแพทย์อยู่ประจำตลอดเวลา

คอนเทนต์แนะนำ
แนะวิธีใช้ Antigen Test Kit พร้อมข้อควรระวัง ไม่แนะนำซื้อทางออนไลน์
"หมอบุญ" ชี้ สื่อต่างประเทศตีความผิด ยืนยันไฟเซอร์มาแน่ภายในสิ้นเดือนนี้

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ