“ไทย-อินโดฯ” ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ทำคนหมดความเชื่อมั่น “ซิโนแวค”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อไทยและอินโดนีเซียฉีด “ซิโนแวค” ครบโดสแต่ยอดติดเชื้อยังพุ่ง จนต้องประกาศฉีดสลับชนิด ทำให้ประชาชนสองประเทศไม่เชื่อมั่นในวัคซีนซิโนแวค

ในภูมิภาคเอเชีย วัคซีนโควิด-19 ของจีนมีบทบาทสำคัญมากในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากรในหลายประเทศแถลนี้ โดยมีหลายล้านคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม

แต่วัคซีนของจีนถูกตั้งข้อสงสัยมานับตั้งแต่มีการฉีดแรก ๆ แล้วว่า “มีประสิทธิภาพดีจริงหรือ” และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพนี้ก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากบางประเทศในเอเชีย นั่นคือประเทศไทยและอินโดนีเซีย ประกาศว่าจะฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มแรก แล้วสลับฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่นเป็นเข็มสอง

"ส่อง สปป.ลาว" รับ 3 ยี่ห้อวัคซีนโควิด-19 จากโคแวกซ์

กรมการแพทย์ เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับยี่ห้อให้แก่ผู้ลงทะเบียน 19 ก.ค.64

รองสารวัตรฯ สน.เทียนทะเล ติดโควิดดับ แม้ฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายวัคซีน ให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มสอง นับตั้งแต่ 19 ก.ค. เป็นต้นไป

ส่วนบุคลากรการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบโดสไปแล้วอาจจะได้รับการจัดสรรให้ฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่นเพื่อกระตุ้นภูมิ

ด้านอินโดนีเซียประกาศการเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกล่าวว่า บุคลากรการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็ม จะได้รับวัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มที่สาม

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีรายงานว่า บุคลากรการแพทย์อินโดนีเซียที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบโดสหลายร้อยคนติดเชื้อโควิด-19 โดยบางคนในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว

สมาคมแพทย์อินโดนีเซีย เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 1-17 ก.ค. มีแพทย์อินโดนีเซียเสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วจำนวน 114 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเท่ากันในเดือนอื่น ๆ ที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขบุคลากรการแพทย์อินโดนีเซียที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ทั้งหมดคาดว่าอยู่ที่ราว 1,200 ราย

อินโดนีเซียกับประเทศไทยนับเป็นสองชาติในภูมิภาคอาเซียนที่มีการระบาดของโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นมาก รองลงมาเป็นมาเลเซียและเวียดนาม จนต่างต้องประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือ แต่ส่วนสำคัญที่สุดยังคงเป็นเรื่องของวัคซีน

สำหรับมาเลเซียประกาศว่า เมื่อรับมอบวัคซีนซิโนแวคล็อตสุดท้ายเรีบบร้อย ก็จะหันไปพึ่งพาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์แทน ขณะที่ฟิลิปปินส์และกัมพูชายังคงจะสั่งซื้อซิโนแวคต่อไป

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยและอินโดนีเซียทำให้ทั้งรัฐบาลสองประเทศถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงความสามารถในการบริหารประเทศ และทำให้ความไม่เชื่อมั่นในวัคซีนซิโนแวคทวีคูณขึ้นไปอีก

สื่อต่างประเทศยังวิเคราะห์ว่า ผลลัพธ์เหล่านี้ส่งผลไม่น้อยต่อภาพลักษณ์ของประเทศจีน ซึ่งพยายามวางตนเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการต่อสู้โควิด-19 ระดับโลกมาตลอด และมีการบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศต่าง ๆ ไม่น้อย หากวัคซีนโควิด-19 ของจีนหมดความน่าเชื่อถือ จีนเองก็จะเสียความน่าเชื่อถือไปด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวคในกรณีฉุกเฉินได้ มี 37 ประเทศที่ใช้วัคซีนยี่ห้อนี้ โดยวัคซีนซิโนแวคของจีนนั้น มีข้อกังขาใน 3 ประเด็นที่ทั่วโลกต่างพูดถึง ได้แก่

หนึ่ง วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคนั้น มีผลการทดลองทางคลินิกในหลายประเทศว่า มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการได้ 50-79% แต่ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 96-100% กระนั้น มีงานวิจัยไทยระบุว่า ภูมิคุ้มกันจากซิโนแวคนั้น จะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อผ่านไปทุก ๆ 40 วัน กับมีข่าวผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบโดสในไทยและอินโดนีเซียเสียชีวิต จึงทำให้มีความน่าเชื่อถือน้อย

สอง ยังไม่มีการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคในกลุ่มประชากรจริง (Real World) ที่ได้รับการยอมรับในทางสากล มีเพียงผลการทดลองทางคลินิกเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประสิทธิภาพยังมีความไม่ชัดเจน

และสาม การระบาดขงสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ในทั้งสองประเทศ ซึ่งสายพันธุ์เดลตาเป็นเหมือนดาวข่มวัคซีนซิโนแวค โดยแม้ยังไม่มีผลการศึกษาทางการที่เป็นสากลและเชื่อถือได้ แต่มีการศึกษาเบื้องต้นแล้วว่า วัคซีนซิโนแวคอาจมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาน้อยกว่า 20% หรือแม้แต่งานวิจัยของไทยเองโดย ม.มหิดล ก็พบว่า วัคซีนซิโนแวคต้านสายพันธุ์เดลตาได้น้อยกว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเสียอีก

เมื่อวัคซีนทำได้เพียง “ลดโอกาสการเสียชีวิต” แต่ยังไม่สามารถ “ป้องกันการเสียชีวิตทั้งหมด” ก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องหาแนวทางในการควบคุมโรคให้ได้ เพราะยิ่งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงขึ้นเท่าไร ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวัคซีนก็ยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า “ขณะนี้ประชาชนชาวไทยโกรธมาก ... หลายคนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการสื่อสารของรัฐบาลและการพึ่งพาวัคซีนซิโนแวคมากเกินไป ... ตอนนี้มีคนจำนวนมากขึ้นปฏิเสธการรับวัคซีนซิโนแวค เพราะเชื่อว่าไม่มีประสิทธิภาพ เกิดความไม่ไว้วางใจอย่างมากในตัวรัฐบาลไทย และปัญหาเรื่องวัคซีนกลายเป็นเรื่องการเมืองอย่างหนัก”

สถานการณ์ขณะนี้ จึงคล้ายกับการเดินอยู่ในวังวน ถ้ายอดติดเชื้อไม่ลดลง ประชาชนก็อาจไม่เชื่อในวัคซีน แต่ถ้าประชาชนไม่ฉีดวัคซีน ยอดติดเชื้อและเสียชีวิตก็อาจไม่ลดลงเช่นกัน

ในสถานการณ์ที่ความเชื่อมั่นถูกทำลายไปแล้วนี้ ถ้ารัฐบาลต้องการให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น ก็มีแต่ต้องควบคุมการระบาดให้ได้เท่านั้น จึงอาจจะพอให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นวัคซีนอีกครั้ง

และข้อสำคัญคือ สิ่งที่จะโน้มน้าวประชาชนให้เชื่อในวัคซีนโควิดข19 ได้ ณ วันนี้ ไม่ใช่คำพูดที่จับต้องไม่ได้ของใคร แต่เป็นภาพสถานการณ์ที่ดีขึ้นจนเห็นได้ด้วยตาเปล่าต่างหาก

 

เรียบเรียงจาก BBC / Reuters / Straits Times

ภาพจาก AFP

คอนเทนต์แนะนำ
เผยเหตุ แอปฯ - เว็บจองวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ล่ม หลังคนแห่เข้าระบบพร้อมกันเกือบ 8 แสนคน
“หมอโอภาส” เผย หาก 2 เดือนยอดโควิดไม่ลด อาจต้องปิดเมืองแบบอู่ฮั่น

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ