วิกฤตจนหมอต้องเลือก ยื้อชีวิต! ประกาศ รพ.ธรรมศาสตร์ 2 ปัจจัยไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ หมอโพสต์อธิบาย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รพ.ธรรมศาสตร์ แห่งแรก ออกประกาศให้แนวทางหมอ เลือกไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ กำหนด 2 ปัจจัยหลีก แพทย์โพสต์อธิบายวิกฤตที่ต้องเลือกโปรดอ่านทุกบรรทัด

กลายเป็นประเด็นคำถามให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์เมื่อ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (Withholding Intubation) สำหรับผู้ติดเชื้อ โควิด -19 ออกโดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  เมื่อวันที่ 22 ก.ค.64 และให้มีผลในวันเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าขั้นวิกฤต รุนแรง ส่งผลให้อุปกรณ์การแพทย์ที่มรอยู่ไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย จึงต้องออกประกาศนี้

หมอเผยความจริง อย่าติดโควิดเลย หมอน้อย อาการหนักเยอะ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยชีวิตขาดจริงหรือ!

“วัดบางน้ำชน” เร่งสร้างเมรุใหม่ หลังเผาศพโควิด-19 ต่อเนื่อง จนพัง

จากกรณีนี้ พล.ต.ต. นพ.ธนิต จิรนันท์ธวัช นายแพทย์ (สบ.6) โรงพยาบาลตำรวจ โพสต์อธิบาย เป็นบทความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า 

"มีเพื่อนถามผม ด้วยความสะเทือนใจ เกี่ยวกับ ประกาศ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เรื่อง ประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยในเนื้อประกาศหลัก มีใจความสรุปได้ดังนี้ ผู้ป่วยโควิด -19 ที่มีอาการหนักวิกฤตเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้อุปกรณ์ให้การรักษาไม่เพียงพอ จึงออกหลักเกณฑ์การพิจารณา  “ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ” เพื่อเป็นแนวทางการรักษาของ รพ.มธ.ในสภาวการณ์ปัจจุบัน"

นพ.ธนิต อธิบายว่า เนื่องจากในขณะนี้ ผู้ป่วยที่อาการหนักวิกฤต ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้ป่วยที่มีการอักเสบของปอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง จนทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว ไม่สามารถหายใจเองได้อย่างเพียงพอ แม้ว่าจะใช้เครื่องให้ออกซิเจน แบบ High flow ซึ่งเป็นเครื่องใช้แรงดันออกซิเจนในขนาดสูงทางท่อผ่านทางจมูก แล้วก็ตาม

ทำให้ต้องมีการรักษาโดยการใช้ “เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator)” เพิ่มขึ้นมาตลอดทุกวัน ซึ่งเป็นการให้ออกซิเจนและควบคุมระบบการหายใจทั้งหมดของร่างกายผู้ป่วยโดยสิ้นเชิง เพื่อจะให้ผู้ป่วยสามารถมีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเพียงพอ จนกว่าจะรักษาการติดเชื้อออกจากปอดได้สำเร็จ ซึ่งมักต้องใช้ระยะเวลานานเกินสัปดาห์ และ หากการรักษาด้วยยาล้มเหลว ระบบของร่างกายต่างๆ จะล้มเหลวต่อเนื่องกันตามมา จนในที่สุดผู้ป่วยก็จะเสียชีวิต

ประเด็นสำคัญในวิธีการรักษาโดยการใช้ “เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator)” คือ ต้องมีการใส่ “ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal Intubation)” ท่อช่วยหายใจนี้ จะถูกใส่เข้าทางปาก ผ่านด้านหลังคอ เข้าผ่านกล่องเสียง ลงสู่หลอดลม และตัวท่อจะมีบอลลูนซึ่งจะถูกทำให้พองตัวปิดไม่ให้อากาศรั่วออกทางข้างๆท่อได้

ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องช่วยหายใจ ได้ปั๊มอากาศที่มีออกซิเจนสูง ด้วยแรงดันบวก เข้าปอดของผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ และ รับอากาศหายใจออก ย้อนกลับออกเพื่อระบายทิ้ง เป็นวงจรของการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจเช่นนี้ไปเรื่อยๆผู้ป่วยจะถูกควบคุมการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจอย่างสิ้นเชิง

 จะเห็นได้ว่า “การใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นด่านแรกที่ต้องผ่าน ก่อนการใช้ เครื่องช่วยหายใจ” 

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย เครื่องช่วยหายใจ จะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหนักมาก การรักษาให้ได้ผลการรักษาที่ดี จำเป็นต้องรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วย ICU ซึ่งจะมี วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยหายใจ ระบบ ออกซิเจน Pipeline ระบบ Monitoring ห้องความดันลบ และที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ แพทย์และพยาบาล ที่มีความชำนาญในเรื่องการใช้เครื่องช่วยหายใจและมีสัดส่วนอัตรากำลังสูงกว่าหอผู้ป่วยปกติ

ทั้งนี้เพื่อการรักษาผู้ป่วยอย่างเข้มข้น มุ่งหวังให้ผู้ป่วยพ้นวิกฤตินี้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม จำนวนเตียงไอซียู ICU วัสดุอุปกรณ์ที่จำเพาะต่างๆ และ ที่สำคัญคือ บุคลากรแพทย์พยาบาล มีจำนวนจำกัด ที่ไม่สามารถที่จะเพิ่มได้ตามความต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ ใช้ห้อง ICU ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้าสู่การรักษาใน ICU มักใช้เวลาการรักษาอยู่ในห้อง ICU หลายสัปดาห์ ทำให้ไม่มีการหมุนเวียนเตียง ICU เพื่อรับผู้ป่วยใหม่ แต่ในทางตรงข้าม ยอดผู้ป่วยที่ต้องการใช้ห้อง ICU เพิ่มขึ้นอย่างมากทุกวัน ทำให้มีผู้ป่วยที่รอเข้า ICU จำนวนมาก เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่รอเรียกมาแอทมิดในดรงพยาบาลกรณีแบบเดียวกัน

ปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุก รพ. ในพื้นที่ระบาดผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีเตียง ICU รองรับ

โดยทางรพ.ได้พยายามปรับเปลี่ยนหอผู้ป่วยธรรมดา เป็นหอผู้ป่วย ICU ชั่วคราว และ จัดหาเครื่องช่วยหายใจ นำมาใช้รักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่า ปัจจุบันหอผู้ป่วยไอซียู มีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อีกทั้งทาง รพ.ยังได้ปรับให้ หอผู้ป่วยธรรมดา ให้รองรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยที่ไม่ได้มีการเพิ่มกำลังบุคลากรและไม่มีระบบ monitoring ต่างๆ ครบครันดังเช่นห้อง ICU เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเร่งด่วนไปก่อน และ รอเข้าห้อง ICU เมื่อมีเตียงว่าง ด้วยวิธีการทุกๆวิธี ที่ทางรพ.พยายามอย่างเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตามก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วยโควิด ที่มีระบบหายใจล้มเหลวที่เพิ่มมากขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆทุกวัน

จึงเป็นที่มาของ ประกาศ หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้แพทย์ผู้รักษาได้มีแนวทางในเรื่องการพิจารณาไม่ใส่ท่อหายใจ (Withholding Intubation) และ เป็นแนวทางให้แพทย์ผู้รักษาได้ให้คำปรึกษาแก่ญาติผู้ป่วย ที่ต้องการการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ในภาวะที่โรงพยาบาลไม่มีเตียง ICU หรือ เครื่องช่วยหายใจ ที่จะรับผู้ป่วยระบบหายใจล้มเหลวรายใหม่ที่รออยู่ได้อีก หรือ มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถให้บริการผป.ทุกรายได้

อนึ่ง การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ ด้วยการรักษาด้วยวิธี ไม่ใส่ท่อหายใจ (Withholding Intubation) และ มุ่งเน้นการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) รวมทั้งการไม่กู้ชีวิต ผู้ป่วย (No Resuscitation) เป็นแนวทางการให้คำแนะนำและการรักษาทางเลือก ที่แพทย์ใช้อยู่แล้ว ไม่ใช่แนวทางใหม่แต่อย่างใด

แพทย์จะปรึกษาหารือกับผู้ป่วยและญาติ ในรายที่การรักษาต่อไปไม่อาจจะฝืนพยาธิสภาพของโรคที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่และหากรักษาก็ไม่อาจทำให้ผู้ป่วยฟื้นจากการรักษาได้ เพียงแต่เป็นการยืดเยื้อต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาปฏิบัติทั่วไปสำหรับผู้ป่วยอาการหนักวิกฤตรุนแรง ก่อนยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว

ในรายละเอียดหลักเกณฑ์ การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วย โควิด-19  ของ รพ.มธ. สรุปได้สั้นๆ ดังนี้

ได้แบ่งผู้ป่วยที่แพทย์ผู้รักษาสามารถพิจารณา ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ และ และ มุ่งเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็น 2 กรณี คือ

1. ผู้ป่วยที่แสดงเจตจำนงไว้ล่วงหน้า โดย

1.1 ผู้ป่วยแจ้งไว้ด้วยตนเ 

1.2 การประชุมครอบครัวร่วมกับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจแทนตัวผู้ป่วย

2. ผู้ป่วยที่ไม่ได้แสดงเจตจำนงไว้ล่วงหน้า  กำหนดให้แพทย์พิจารณาผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 2 ใน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

2.1 อายุมากกว่า 75 ปี

2.2 ดัชนีโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ กำหนดให้ Comorbidity Index มากกว่า 4 คะแนน

2.3 ระดับความเปราะบางของผู้ป่วย กำหนดให้ Frailty scale >= 6

2.4 เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

นพ.ธนิต จิรนันท์ธวัช ให้ความเห็นว่า ประกาศนี้ ถือว่าเป็นประกาศแรก ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการพิจารณาไม่ใส่ท่อหายใจในผู้ป่วยโควิด-19 และมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเหมาะสม ที่สามารถให้แพทย์ผู้รักษาโควิด-19 ที่ รพ. อื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีระบบหายใจล้มเหลว มีจำนวนมากเกินกว่า ระบบการดูแลด้วยเครื่องช่วยหายใจจะรองรับได้

อย่างไรก็ตาม ดังเช่นที่แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยวิกฤตต่างๆ ที่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด

"และ ผมเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำอย่างเช่นที่เคยปฏิบัติมา คือ แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วย ควรต้องแจ้งให้ญาติผู้ป่วยทราบถึงความรุนแรงของโรคและระบบร่างกายที่ล้มเหลวลงจากโรคโควิดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ และ เมื่อผู้ป่วยมีระบบหายใจล้มเหลวที่รุนแรง จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ หากผู้ป่วยมีข้อลักษณะที่เข้าเกณฑ์ตามประกาศนี้ แพทย์ผู้รักษาควรเข้าร่วมปรึกษากับญาติใกล้ชิดทุกคนของผู้ป่วย เพื่อบอกถึงพยากรณ์โรคที่จะดำเนินต่อไป ทรัพยากรการรักษาที่ทาง รพ. มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน ให้ญาติผู้ป่วยเข้าใจ เพื่อเลือกหนทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในบริบทที่เป็นอยู่"

"ขอย้ำ เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกกับประกาศนี้ ดังคำอธิบายหลักเกณฑ์ในข้อ 2 ซึ่งผู้ป่วยจะตกอยู่ในข้อ 2 เกือบทั้งหมด เพราะ การติดเชื้อโควิด-19 ผป.มักไม่ได้แจ้งเจตจำนงล่วงหน้า ดังนั้น ผู้ป่วยที่จะเข้าเกณฑ์ 2 ใน 4 ข้อ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นผู้ป่วยสูงอายุมากๆ เป็นผู้ป่วยที่มีโรคร่วมรุนแรงหลายโรค เป็นผู้ป่วยที่มีความเปราะบางอย่างมาก เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต"

"ประกาศนี้ จะไม่ใช่ผู้ป่วยที่ อายุไม่เยอะมากเช่น 60กว่า มีโรคร่วมไม่มาก แข็งแรงทำงานได้ ผู้ป่วยเช่นนี้ จะไม่ใกล้เคียงเกณฑ์ของผู้ป่วยตามประกาศนี้แม้แต่น้อย จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องวิตก กังกล ห่อเหี่ยวใจ กับประกาศนี้ เพราะ ประกาศนี้เป็นเกณฑ์ทางการแพทย์ที่ปรับเข้ากับสภาพทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และ ใช้กับผู้ป่วยที่มีลักษณะเฉพาะเท่านั้น ไม่ใช่ ผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วไป"

"การรักษาผู้ป่วยอาการหนักวิกฤติ ยังดำเนินต่อไป แพทย์และพยาบาลของประเทศไทย ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจเพื่อการดูแลที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักวิกฤติ อย่างเต็มที่ ขอขอบคุณประชาชนไทยที่เชื่อมั่นแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ และ เราจะต่อสู้โรคนี้ต่อไป ให้ดีที่สุดเพื่อประชาชนไทย" นพ. ธนิต จิรนันท์ธวัช ทิ้งท้าย

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ