"สุขภาพจิตคนไทยและบุคลากรทางการแพทย์" ในวิกฤตโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สถานการณ์โควิด-19 นอกจากจะส่งผลต่อความเจ็บป่วยทางสภาพร่างกายแล้ว สุขภาพด้านจิตใจก็ถูกบั่นทอนไปมากเช่นกัน "ภาวะเครียดจัด" "เครียดสะสม" เกิดขึ้น โดยเฉพาะความเครียดและอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เผชิญภาวะการทำงานหนักยาวนานติดต่อกัน จนนำไปสู่อาการ หมดไฟ

เรื่องราวเหล่านี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้มาพูดคุยผ่านรายการ กาแฟดำ โดย สุทธิชัย หยุ่น จากการโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาต่างๆ ของประชาชน ตามหมายเลข 1323

กรมสุขภาพจิต เผย แพทย์-พยาบาล เครียดสูง 10 เท่า ดูแลผู้ป่วยโควิด

ชายคลั่งถือมีดอาละวาด รพ.มุกดาหาร

ความเครียดคนไทยกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในเดือน ม.ค. ปีนี้ (2564) โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.กราฟความเครียดของคนไทยพุ่งขึ้นอีกครั้งและมีความชันขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ระดับสูงกว่าช่วงต้นปีและในภาวะเครียด ยังมีภาวะอาการซึมเศร้า อ่อนล้า จนบางรายเริ่มไม่ค่อยมีความสุขกับการใช้ชีวิต

 

รวมถึง ภาวะอ่อนล้าของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ก็ขึ้นสูงกว่าทุกครั้งที่กรมสุขภาพจิตได้เคยติดตามมา

ผู้ที่มีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตายและผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ถือว่าสูงกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาชัดเจน ปีนี้ (2564) ก็ยังเฝ้าระวังอยู่ ซึ่งจำนวนยังใกล้เคียงปีที่แล้ว แต่ถ้าดูตามสถานการณ์ปีนี้ในเชิงจำนวนอาจจะสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ถ้าเทียบเป็นเป็นอัตราอาจต่างกันเล็กน้อย

ภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียคนในครอบครัว

พญ.พรรณพิมล เปิดเผยว่า เริ่มเห็นสัญญาณจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามและในทุกๆ โรงพยาบาล ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อในครอบครัวสูงขึ้น ทำให้ ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียคนในครอบครัว  ทำให้รู้ว่าความรู้สึกต่อการเสียชีวิตหรือการสูญเสียเริ่มมีภาวะซับซ้อนขึ้น

เนื่องจากในบางครอบครัว มีทั้งผู้ติดเชื้อที่หาย ผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตหรือบางรายไม่ติดเชื้อ จากเดิมเป็นความเครียดเรื่องอาการเจ็บป่วย ซึ่งหมายความว่า การเสียชีวิตเริ่มมีความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ

จุดนี้ทีมจิตแพทย์ต้องเร่งให้มีการดูแลให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงระบบหรือช่องทางการช่วยเหลือด้านจิตใจให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นการรักษา ภาวะซึมเศร้าแบบครอบครัว โดยจะให้คำแนะนำเป็นครอบครัว  เพราะสิ่งที่พบคือ พลังของการอยากเอาชนะอุปสรรคลดลง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยาวนานมาก พลังที่คิดว่าจะเอาชนะอุปสรรคตรงนี้จึงลดลงเรื่อยๆ แต่ตัวที่ไม่เคยลดลงเลยคือ พลังหรือกำลังที่ดีจากครอบครัว เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ใช้ตัวที่ยังแข็งแรงมาหนุนอันที่เริ่มลดระดับลง

ดังนั้น ทีมแพทย์จะเริ่มดูแลสภาพจิตใจแบบครอบครัว ในรูปแบบ COMMUNITY ISOLATION ทำให้เห็นความเปราะบางของแต่ละครอบครัวที่ไม่เท่ากัน บางครอบครัวต้องการแรงหนุนให้เขากลับไปดูแลกันแบบครอบครัวได้  ขณะเดียวกันต้องให้คนในครอบครัวรู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว ให้เขารู้สึกว่ามันมีครอบครัวที่ใหญ่กว่ากำลังเฝ้าดูอยู่และพร้อมเข้ามาเป็นกำลังหนุน โดยใช้สายสัมพันธ์ให้เขารู้สึกว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกัน

พูดง่ายๆ คือถ้าเขายกธงขาวยอมแพ้ ต้องมีคนเห็น ไม่ใช่เขาขึ้นธงขาวแล้วจนไม่ไหวแล้ว ก็ไม่มีใครรับรู้หรือรู้สึก

ทุกคนในครอบครัวล้วนเป็นศูนย์กลางของกันและกัน ผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มรับสถานการณ์ยอมรับได้ แต่คนรุ่นใหม่เขาจะรู้สึกเราต้องพุ่งออกไปสู้ ซึ่งทั้งสองอันถ้าสมดุลกัน จะเป็นพลังที่ผสมผสานกัน เพราะฉะนั้น ทีมแพทย์จะให้คนรุ่นใหม่เป็นเหมือนจิตอาสาในบ้าน ไปจัดการสิ่งต่างๆ และช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการรักษา เข้าถึงระบบต่างๆ  ส่วนผู้สูงอายุจะเป็นเหมือนศูนย์กลางของบ้าน ขอแค่ทุกคนอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ก็เป็นเหมือนการสานพลังกัน 

ความเครียดของบุคลากรทางการแพทย์

พญ.พรรณพิมล ยอมรับว่า รอบนี้เครียดจริงๆ เครียดจากการที่ทำงานต่อเนื่อง ทุกคนอยากทำดีที่สุดและไม่อยากให้ไปถึงจุดที่เกิดความสูญเสียผู้ป่วย ทุกคนก็รู้สึกเหมือนกันคือ ลืมตาก็อยากลืมตาแล้วเห็นว่าผู้ป่วยทุกคนอยู่บนเตียงหมดแล้ว แต่ลืมตาขึ้นมาก็ยังเห็นคนที่มารอเข้าสู่ระบบการรักษาทุกวัน เมื่อความรู้มันสึกสะสม ทำให้เราเกิดความไม่สบายใจ สักระยะหนึ่งก็ทำให้เรา หมดไฟ ล้าลงเรื่อย ๆ  ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ยอมยกธงขาว

ดังนั้น สิ่งที่กรมสุขภาพจิตจะเข้าไปช่วยได้คือ การให้ข้อมูล How to ที่เข้าใจง่ายๆ เพื่อลดความเครียดสะสม ความเหนื่อยล้า ด้วยตัวเอง รวมถึงการปลุกพลังเพื่อดูแลกันในทีมหน้างาน ท่ามกลางความเจ็บปวดในการรักษาคนไข้หรือความสูญเสีย อาจหยิบยกความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ ในแต่ละวันมาให้กำลังใจกันในทีม การสร้างบัดดี้เพื่อพูดคุย ให้คำปรึกษา ระบายความอ่อนล้าทางใจต่อกันก็เป็นสิ่งที่พยายามส่งเสริมให้บุคลากรด่านหน้าได้ทำ เพื่อรักษาสุขภาพจิตใจกันและกัน

 

สารพัด “คำ” ที่บั่นทอนใจ

พญ.พรรณพิมล เปิดเผยว่า ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ล็อกดาวน์ เข้าถึงระบบรักษาไม่ได้ ญาติพี่น้องติดเชื้อโควิด-19  Home Isolation ศูนย์พักคอย ล้วนมีผลต่อการเกิดความเครียดได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 5 กลุ่มหลักที่อาจเกิดภาวะเครียดสะสมได้  

กลุ่มที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์

กลุ่มที่ 2  ผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ตกงาน รายได้ลด

กลุ่มที่ 4  กลุ่มเปราะบางเดิม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีความเครียดจากการขาดตอนการรักษาโรคประจำเดิม เนื่องจากสรรพกำลังด้านสาธารณสุขทั้งหมดต้องทุ่มเทไปกับโควิด-19 ขณะเดียวกันความเครียดในความเสี่ยงที่จะเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาทำให้ความต่อเนื่องตรงนี้หายไป เกิดเป็นอาการเครียด

หรือแม้แต่คำว่า “วัคซีน”

ในระยะแรกคนจะกังวลมากว่าจะได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ แต่ตอนนี้เป็นความกังวลเรื่องการเข้าถึงวัคซีน  เพราะทุกคนอยากเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ตามมาด้วยข้อมูลของวัคซีนแต่ละชนิดซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในทางการแพทย์

ความเครียดจากการติดตามข่าวโซเชียลมีเดีย

พญ.พรรณพิมล  อธิบายว่า โซเชียลมีเดีย มีผลในทุกเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียด จากจำนวนของความถี่ของข้อมูล ข้อมูลต่างๆ ถูกส่งซ้ำไปซ้ำมา บางครั้งก็มาจากคนที่น่าเชื่อถือ ทำให้มีผลต่อการรับรู้และทำให้เรารู้สึกว่าข้อมูลหลากหลายมาก ส่งผลให้เกิดความหวั่นไหวในข้อมูล โดยเฉพาะบางทีที่ข้อมูลที่ได้รับมาเกิดความขัดแย้งกันเอง ซึ่งในที่สุดจะต้องคัดกรองและเลือกว่าอันไหนจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองและคนรอบข้าง

4 คำถามที่พบบ่อยในช่วงโควิด-19

พญ.พรรณพิมล   กล่าวว่า 4 คำถามหลักที่ประชาชนสอบถามหรือโทรเข้ามาปรึกษา คือ

1.ความกังวลใจว่าตนเองหรือคนในครอบครัวจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ หรือบางคนในครอบครัวติดเชื้อแล้ว  ควรใช้ชีวิตอย่างไร ในการป้องกันตนเอง รวมถึงการรักษาสภาพจิตใจไม่ให้หดหู่เกินไปจนไม่สามารถดูแลผู้ป่วยในครอบครัวได้

2. ความกังวลใจกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ เช่น ใช้ชีวิตแบบทำงานที่บ้าน ลูกต้องอยู่หน้าจอเรียนออนไลน์ทั้งวัน หรือบางคนที่ยังต้องออกไปทำงานทุกวัน เพราะเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว

3. ความกังวลของรายได้ที่หดหาย เงินทุนที่สะสมเริ่มร่อยหรอ  ภาระหนี้สิน โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัว

4. ปัญหาชีวิตคู่ ความขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งบางเรื่องก็เชื่อมโยงมาจาก 3 ข้อที่กล่าวมา ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในชีวิตคู่ เป็นต้น

ดังนั้น ประโยคที่ใช้สร้างความเชื่อมั่นและกำลังใจในการเผชิญปัญหาคือ คำถามว่า

ท่านห่วงใยอะไรในเรื่องนี้  แทนคำว่า ท่านกังวลอะไร  เพื่อทำให้เห็นว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเขา ซึ่งมีผลต่อความรู้สึก

สิ่งที่จะตามมาคือ ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวเองว่าความห่วงใยที่เขามีต่อสิ่งสำคัญในชีวิตของเขาเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก เป็นการให้กำลังใจ

และจากคำถามที่หนึ่งก็จะเชื่อมไปต่อให้เขารู้สึกว่าเขากำลังจะทุ่มเทตัวเองเพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้น สองตัวนี้จะทำให้เขารู้ว่าเขากำลังมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตของเขา ผ่านเป็นการแลกเปลี่ยน ชวนคุย เพื่อลดความเครียด ผ่อนคลายความเครียดลง ไม่ได้เป็นการหนีออกจากปัญหาแต่เป็นการทำให้สงบลง นิ่งลง

เมื่อเราเริ่มเครียดในระดับหนึ่ง เราจะฟุ้งซ่านและเริ่มคิดวนไปมา จำนวนความคิดจะทำให้สมองล้าลง พอเริ่มเกิดความล้า มุมด้านลบจะผุดขึ้นมาเยอะมาก และค่อยๆ ดึงเราไปอยู่มุมด้านลบ ซึ่งทำให้เราเกิดความเครียดสะสมเรื้อรัง มุมด้านลบจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราคิดว่ามันเหลือมุมเดียวแล้ว ไม่สามารถเดินออกมา  ก็มีโอกาสโดนน็อค ถ้าเริ่มมีใครสักคน หรือมีอะไรบางอย่างเข้าไปขยับเขาออกมาจากมุมที่กำลังอับตรงนั้น เขาก็จะสามารถไปคลี่คลายปัญหาของเขาได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมสุขภาพจิต มีสายด่วนสำหรับรองรับการโทรปรึกษาปัญหาที่ หมายเลข 1323 กรมสุขภาพจิต ฟรี ซึ่งต่อปีที่ได้รับสายประมาณ 200,000 สาย แต่สายที่โทรเข้ามากกว่านั้น 3-4 เท่าตัว ทำให้ต้องจัดระบบใหม่

ตอนนี้จึงเป็นรูปแบบของเฟซบุ๊กเพิ่มเข้ามาคือ  1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต โดยมีเจ้าหน้าด้านสุขภาพจิตพร้อมให้คำปรึกษา ผ่านการให้ข้อมูลทาง inbox และจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป

นอกจากนั้นยังมีที่กำลังเปิดใหม่อีกช่องทางสำหรับ เด็กที่สูญเสียพ่อแม่หรือผู้ปกครองจากโควิด-19

ถ้ากายและใจเราแข็งแรงก็จะไปสู้กับโควิด-19 ได้ เราห้ามไม่ให้เกิดวิกฤตในชีวิตไม่ได้ แต่ถ้าเราแข็งแรงดีแล้ว เราเจอวิกฤตก็เป็นต้นทุนความแข็งแรงที่จะไปสู่กับวิกฤตทั้งร่างกายและจิดใจ ซึ่งต้องเชื่อมประสานกับระบบความสัมพันธ์โดยรอบด้วย ถ้าความสัมพันธ์โดยรอบดี เราก็จะผ่านวิกฤตไปได้

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ