รู้จัก วัคซีนโควิด -19 HXP - GPO Vac ขององค์การเภสัชกรรม เดินหน้าศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 2


โดย PPTV Online

เผยแพร่




องค์การเภสัชกรรม เดินหน้าศึกษาวิจัย วัคซีนโควิด -19 HXP - GPO Vac ในมนุษย์ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย คาดผลิตให้คนไทยได้ฉีด พ.ค.65

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม  กล่าวถึง ความคืบหน้า การวิจัย พัฒนา วัคซีนโควิด-19 HXP - GPOVac ชนิดเชื้อตาย หลังจากผ่านการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้ผลการวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันที่ 14 วัน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มีความปลอดภัยสูง อาการไม่พึงประสงค์ไม่มาก มีอาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และบวมเล็กน้อย ซึ่งจะหายได้เองในระยะหนึ่ง รวมถึงสามารถกระตุ้นภูมิและยับยั้งไวรัสได้ในระดับที่ผ่านเกณฑ์ จึงเริ่มเดินหน้าสู่การทดลองในมนุษย์ ระยะที่ 2 ตั้งแต่ วันที่ 16 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป

"คืบวัคซีนChulaCov-19" ผลข้างเคียงน้อย-ยับยั้งข้ามสายพันธุ์

ด่วน!! สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกข้อบังคับ นำเข้ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ ได้เอง สู้โควิด-19

ด้าน ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน  รักษาการหัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยในมนุษย์ครั้งนี้ กล่าวเสริมว่า ในระยะที่ 2  จะเริ่มวิจัยในอาสาสมัคร จำนวน 250 คน อายุ 18-75 ปี  สุขภาพดี ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดทุกชนิดมาก่อน และไม่เคยเป็นผู้ป่วยโควิดมาก่อน จะได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน และจะตรวจเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกัน 14 วัน หลังจากได้รับเข็ม 2 ซึ่งในการทดลองระยะที่ 2  นี้ จะเป็นการใช้วัคซีน 2 สูตร ลดลงจากการทดลองระยะแรก ( 5 สูตร) และถ้าหากประสบความสำเร็จดี ก็จะเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 3 ต่อไป ซึ่งต้องใช้อาสาสมัครหลายพันคน และคาดว่าจะอยู่ช่วงเดือน พ.ย. ปีนี้

เมื่อการศึกษาวิจัยในมนุษย์ครบทั้ง 3 ระยะและได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization, EUA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำเร็จ

คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในกลางปี 2565 โดยจะสามารถผลิตได้ 20-30 ล้านโดสต่อปี และจะทำการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นนี้ “วัคซีน HXP–GPOVac” จะสามารถรองรับการฉีดเพื่อป้องกันโควิด-19 ให้ชาวไทยได้ 10-15 ล้านคน 

 

สำหรับ  วัคซีน HXP–GPOVac โดยการสนับสนุนจากองค์กร PATH ที่ได้ส่งมอบหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบซึ่งพัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (The Icahn School of Medicine at Mount Sinai) และมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทำการผลิตที่โรงงานผลิต(วัคซีน)ชีววัตถุ ขององค์การฯ ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

ซึ่งได้มีการวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตและสามารถผลิต วัคซีน HXP–GPOVac จากนวัตกรรมเชื้อตายชนิดลูกผสม (Inactivated chimeric vaccine) ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก (Egg-based) เช่นเดียวกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และนำเข้าสู่กระบวนการวิจัยในมนุษย์ได้สำเร็จในระยะเวลา 10 เดือน

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ