รู้จัก “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” ทางเลือกรักษาโควิด-19 เยอรมนีบริจาคให้ไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทำความรู้จัก “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” อีกหนึ่งทางรักษารับมือโควิด-19 ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และไทยได้รับบริจาคจากเยอรมนี

จากกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งกระทรวงสาธารณสุขว่า กระทรวงสาธารณสุขประเทศเยอรมนี มีความยินดีในการบริจาค โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) สำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้กับประเทศไทย

ยาที่เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี เริ่มเป็นที่พูดถึงในหลายประเทศทั่วโลก ว่าอาจเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยโมโนโคลนอลแอนติบอดีนั้น “เป็นโปรตีนหรือเซลล์ที่ผลิตในห้องแล็บ ซึ่งเลียนแบบความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับแอนติเจนที่เป็นอันตรายอย่างเฉพาะเจาะจง”

"ใกล้ทดสอบในคน" วัคซีนโควิด-19 ไทยแบบพ่นจมูก

"อย่าด้อยค่าวัคซีน" ทุกตัวที่ผ่าน WHO ถือว่ามีประสิทธิภาพดี รวมถึง ซิโนแวค

สหรัฐฯ อนุมัติกรณีฉุกเฉิน “โทซิลิซูแมบ” รักษาผู้ป่วยหนักโควิด-19

โดยมีการนำโปรตีนหรือเซลล์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านหรือเสริมภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งหรือจุดใดจุดหนึ่งมาโคลนนิ่งเพิ่มจำนวน แล้วทำเป็นยารักษา นั่นหมายความว่า โมโนโคลนอลแอนติบอดีแต่ละชนิด ก็จะมีความจำเพาะต่อเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป กล่าวได้ว่าเป็นเหมือน “แอนติบอดีเทียมสำหรับรับมือโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ”

ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ มีการศึกษา โซโตรวิแมบ (Sotrovimab) โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ต่อต้านโปรตีนหนามของโควิด-19 โดยเฉพาะ หรือโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ก็เป็นยาชนิดโมโนโคลนอลแอนติบอดีเช่นกัน

และหากนำโมโนโคลนอลแอนติบอดีตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมารวมกัน ก็จะเรียกยารักษานั้นว่าเป็น “แอนติบอดีค็อกเทล (Antibody Cocktail)” คล้ายกับการผสมเหล้าค็อกเทล ที่ใช้วัตถุดิบที่มีแอลกอฮอล์ 1 ชนิดหรือมากกว่าเป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มแก้วนั้น

สำหรับโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ไทยจะได้รับบริจาคจากเยอรมนีนั้น เป็นค็อกเทลระหว่าง คาซิริวิแมบ (Casirivimab) และอิมเดวิแมบ (Imdevimab) มีชื่อว่า “รีเจนคอฟ (REGEN-COV)” จากบริษัทรีเจเนรอน (Regeneron) จำนวน 1,000-2,000 ชุด

โดยผลการวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ medRxiv ที่ทำการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนประมาณ 4,000 คนที่อยู่ในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงป่วยหนักอย่างน้อย 1 ปัจจัย พบว่า ยารักษาโควิด-19 ชนิดแอนติบอดีค็อกเทลรีเจนคอฟนี้ สามารถลดความเสี่ยงในผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงสูง ไม่ให้มีอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ประมาณ 70% และลดโอกาสการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยได้มากกว่า 80%

ยาแอนติบอดีค็อกเทลนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) แล้ว และขึ้นทะเบียน อย. ในประเทศไทยแล้ว สำหรับการจัดเก็บรักษาต้องอยู่ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยยาล็อตที่ไทยได้รับจะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 2565

หลายประเทศทั่วโลกอนุมัติใช้

ปัจจุบันมีหลายประเทศแล้วที่เริ่มใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีหรือแอนติบอดีค็อกเทล

ตามที่บอกไว้ข้างต้นว่า ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ไทยจะได้รับบริจาคนั้น ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดย FDA แล้ว เท่ากับว่า สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี

สหรัฐฯ มีการอนุมติใช้ฉุกเฉินยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีอยู่ประมาณ 3-4 ตัว ตัวแรกคือค็อกเทลคาซิริวิแมบและอิมเดวิแมบ หรือรีเจนคอฟที่ไทยได้รับบริจาค

อีกตัวคือโซโตรวิแมบ (Sotrovimab) โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ต่อต้านโปรตีนหนามของโควิด-19 โดยเฉพาะ โดยมีการทดลองทางคลินิกระยะ 3 พบว่า เหมาะกับผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคโควิด-19 ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนัก

สหรัฐฯ ยังอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้ โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) หรือยารักษาโรคไขข้อรูมาตอยด์ ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ด้วย หลัง FDA อ้างอิงการศึกษาประสิทธิภาพของโทซิลิซูแมบในการรักษาโควิด-19 ในผู้ป่วยโรงพยาบาลมากกว่า 5,500 รายที่พบว่า โทซิลิซูแมบช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

และสุดท้ายคือ ค็อกเทลแบมลานิวิแมบ (Bamlanivimab) และเอเตเซวิแมบ (Etesevimab) พบว่ามีประโยชน์ในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะป่วยหนัก อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ค็อกเทลนี้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เบตาและแกมมา

ทั้งนี้ FDA สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีได้ในเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก เช่น เป็นผู้สูงอายุ เป็นเบาหวาน อ้วน เป็นฌรคเกี่ยวกับหัวใจ เป็นโรคเกี่ยวกับปอด เป็นต้น

ส่วนในสหภาพยุโรปก็มีหลายประเทศ ที่ทยอยอนุมัติกรณีฉุกเฉินให้ใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ เช่น ฮังการี อิตาลี สาธารณรัฐเช็ก รวมถึงผู้ที่บริจาคยาให้เราอย่างเยอรมนีด้วย เป็นต้น

การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี เป็นหนึ่งในวิธีรักษาที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยใช้ จนหายดี ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รับการอนุมัติใช้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย

ยารักษาโรคต่าง ๆ ที่เป็นโมโนโคลนอลแอนติอดีเริ่มมีการศึกษาและพัฒนามาหลายสิบปี โดยยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวแรกที่นับว่าประสบความสำเร็จในการรักษาและได้รับการยอมรับคือ ในปี 1986 มีการรับรองการใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวแรกคือ anti-CD3 mAb เพื่อใช้ป้องกันภาวะการปฏิเสธไตปลูกถ่าย (Transplant Rejection)

เปิด 8 ตัวยา-อาหารเสริมที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 ของทรัมป์

ผลข้างเคียงการใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี

ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีเป็นเหมือนยาทั่วไปที่มีทั้งผู้ที่ใช้แล้วมีผลข้างเคียงและไม่เกิดผลข้างเคียง โดยผลข่างเครยงทั่วไป ได้แก่ อาการแพ้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผื่น คัน ไอ ท้องผูก

ซึ่งยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีนี้ ชื่อจะลงท้ายด้วย -umab, -zumab, -ximab และ -mab เช่น ยารักษามะเร็งและโรคตาเบวาซิซูแมบ (Bevacizumab) ยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เซทูซิแมบ (Cetuximab) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โลกยังคงเดินหน้าศึกษาการใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีหรือแอนติพอดีค็อกเทลต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่า การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยจริง

เรียบเรียงจาก Bloomberg / FDA / Hindustan Times / NIHPolitico

ภาพจาก Getty Image / Shutterstock

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ