“เภสัชกรประจำชุมชน” บุคลากรด่านหน้าที่ถูกลืม ต้องวิ่งหาวัคซีนโควิดเอง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ คือ กลุ่มที่รับศึกหนัก ทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วย พร้อม ๆ กับการแบกรับความเสี่ยงที่จะรับเชื้อโควิด-19 เราจึงเห็นการเรียกร้องขอรับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ อย่างหมอและพยาบาล แต่ยังมีบุคลากรทางการแพทย์อีกหนึ่งกลุ่มที่ทำหน้าที่ด่านหน้าเช่นกัน นั่นก็คือ “เภสัชกรประจำชุมชน” เมื่อคนในชุมชนเจ็บป่วย เริ่มมีอาการก็จะเข้าร้านขายยาเป็นอันดับแรก เพราะสะดวกและใช้เวลาไม่นาน

2 เหตุผล ต้องซื้ออีก"ซิโนแวค" 12 ล้านโดส ศบค.เผยเหตุโยง "จอห์นสันฯ - แอสตร้าเซเนก้า"

โชว์ผลวิจัย "ระดับภูมิคุ้มกัน" หลังฉีดวัคซีนสลับชนิด ซิโนแวค + แอสตร้าเซเนก้า

ในหลายประเทศ เภสัชกรประจำชุมชน ถูกจัดให้เป็นกลุ่มอาชีพแรก ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน แต่สำหรับเภสัชกรชุมชนของไทย ต้องวิ่งหาวัคซีนกันเอง เพราะการจัดสรรวัคซีนของรัฐมาไม่ถึง

จำนวนผู้คนที่เข้ามาใช้บริการร้านขายยาขนาดเล็กแห่งหนึ่งในย่านรัชดา-ห้วยขวาง ในระยะเวลา 2 ชั่วโมง มีทั้งเข้ามาซื้อยา ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพไปจนถึงเรื่องส่วนตัว และตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศไทย ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ก็หมุนเวียนกันเข้ามาสอบถามถึงหัวข้อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดนี้

 

ช่วงแรก ๆ เลยก็จะเป็นการป้องกันโรค คนจะเข้ามาถามว่าจำทำยังไงไม่ให้ติดโควิด ก็จะเป็นการให้ความรู้ ให้คำแนะนำต่าง ๆ ผ่านมาก็เริ่มเป็นกลุ่มที่ติดโควิดละ ก็มาถามว่าติดโควิดละแต่ว่ายังไม่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาล ควรจะทำยังไงต่อดี กลุ่มถัดมาก็จะสอบถามว่าทำยังไงดีถึงจะได้รับวัคซีน คือปัญหาหน้างานมันหลากหลายมากๆเลย แทบจะทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับโควิด ร้านยาคือที่ตั้งรับแรกที่ประชาชนนึกถึง นายสัมพันธ์ บุญญานุพงษ์ เภสัชกรประจำชุมชน กล่าว

 

ทั้งนี้ น.ส.พรหมพร แซ่ตั้ง ผู้ใช้บริการร้านขายยา ที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนใกล้กับร้านขายยาแห่งนี้ ระบุว่า วันนี้ตื่นมาพร้อมกับอาการทางร่างกายที่แตกต่างไปจากทุกวัน ด้วยความรุนแรงและง่ายต่อการแพร่เชื้อของสายพันธุ์เดลต้า รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายต่อวัน ทำให้เกิดความกังวลว่าเป็นอาการของโควิด-19 หรือไม่ จึงตัดสินใจมาที่ร้านขายยาเพื่อปรึกษาเภสัชกร

เมื่อเป็นที่พึ่งแรก ๆ ที่ประชาชนนึกถึงเวลามีอาการป่วยไข้ เพราะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและเร็ว เภสัชกรร้านขายยาหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าเภสัชกรชุมชนรายนี้ จึงต้องพูดคุยสอบถามเพื่อวินิจฉัยโรคเบื้องต้นกับผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 100 คนต่อวัน มีบางวันที่สูงถึง 200 คน จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และจำนวนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ประชาชนหาซื้อชุดตรวจ Antigent Test Kit ที่ร้านขายยาได้แล้ว

ด้วยหน้าที่ หลายครั้งเภสัชกรกลายเป็นด่านแรกสุดที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19  ก่อนที่ผู้ป่วยถึงมือหมอและพยาบาล แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สังกัดสถานพยาบาลอย่างเภสัชกรชุมชนเหล่านี้กลับต้องดูแลตนเอง เพราะไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 จากภาครัฐ

“ยังมีเภสัชกรร้านยาหลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ทั้งในแง่ของการลงทะเบียน หรือการลงชื่อทิ้งไว้รอจัดสรรแล้วมันเหลือค้างจากการที่ประชาชนไม่มารับวัคซีนตามนัด ก็ยังมีอีกเยอะเลยที่ยังไม่ได้ฉีด ซึ่งตอนนี้ผมเองก็ได้รับแค่เข็มเดียว ถ้าดูจากไทม์ไลน์ของการระบาดแล้ว ผมถือว่าวัคซีนผมค่อนข้างช้านะ เพราะว่าด้วยภาระหน้าที่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยตรง เพราะทำงานกับประชาชนโดยตรง เป็นหน่วยแรกที่คัดกรองคนไข้ด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีการจัดสรรวัคซีนให้กับเภสัชกรร้านยาด้วย เพราะเภสัชกรร้านยาก็มีความเสี่ยง” นายสัมพันธ์ สัมพันธ์ กล่าว

ในฐานะวิชาชีพที่มีความรู้ด้านการแพทย์ เภสัชกรส่วนใหญ่ล้วนป้องกันตนเองเป็นอย่างดี  แต่หากวันใดที่พวกเขาที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ได้รับเชื้อและติดโควิด-19 ความกังวลที่เภสัชกรมีไม่ใช่อาการของตัวพวกเขาเอง หากแต่เป็นความกังวลว่าจะแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้เข้ามาใช้บริการหลักร้อยคนต่อวันก่อนที่จะเภสัชกรจะรู้ตัวว่าติดโควิด-19 จนกลายเป็นการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน

ขณะเดียวกันอีกความกังวลก็คือ หากเภสัชกรติดโควิด ร้านขายยาก็ต้องปิด เพราะส่วนใหญ่จะมีเภสัชกรเพียงหนึ่งคนต่อหนึ่งร้าน และหากร้านขายยาต้องปิด แม้จะเพียงชั่วคราว ภาระของผู้ป่วยทั้งโรคทั่วไปและโควิด-19 ก็จะกลับไปสู่ระบบสาธารณสุข ที่ตอนนี้ก็หนักเกินรับไหวแล้ว

 

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ