ระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 หญิงตั้งครรภ์ ตั้งเป้า 1 เดือน 1 แสนราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สธ. ตั้งเป้าหญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “1 เดือน 1 แสนราย” เริ่มตั้งแต่ 13 กันยายน สิ้นสุด 13 ตุลาคม 2564 นี้

กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ คือ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพราะจากการสำรวจการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 9 กันยายน 2564 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจำนวน 3,223 ราย เสียชีวิต จำนวน 73 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.26 และทารกแรกเกิดติดเชื้อจำนวน 154 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.89 และมีความเป็นไปได้ที่หญิงตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป หากติดเชื้อโควิด-19 

หญิงตั้งครรภ์ กับ สถานการณ์โควิด-19 มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่าครึ่ง

น้ำนมจากอกแม่ สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกเปรียบเหมือน "วัคซีนหยดแรก"

 

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย   ระบุว่า หญิงตั้งครรภ์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงเมื่อเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 และต้องเร่งให้ได้รับวัคซีน  โดยมีเป้าหมายคือ “1 เดือน 1 แสนราย” เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน – 13 ตุลาคม 2564 นี้ จากปัจจุบันการฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม – 9 กันยายน 2564  ได้รับวัคซีนแล้ว ทั้งหมด 68,435 ราย เข็มที่ 1 จำนวน 53,697 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 14,559 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 179 ราย ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม พลอากาศโท นายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เคยเปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ว่า โควิด 19 เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงมาก ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกง่ายกว่าปกติ หลอดเลือดอุดตันที่ปอดมากกว่าปกติ รกลอกก่อนกำหนด จึงเป็นสาเหตุของการ แท้งการคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด รวมถึงทำให้แม่เสียชีวิตได้ง่ายกว่าปกติ

ขณะที่สรีระหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน ครรภ์จะใหญ่ขึ้น น้ำคร่ำในมดลูกมีมากที่สุดประมาณ 1-1.3 ลิตร จึงดันมดลูกขึ้นไปทำให้ปอดขยายตัวลำบาก เกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาหายใจล้มเหลวได้มาก

 

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะใน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนแรกเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กกำลังสร้างอวัยวะ ทุกอย่างเช่น ระบบสมอง ประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อ ต้องไม่มียาหรือวัคซีนใดๆเข้ามาแทรกซ้อน สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีการระบุว่าห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์แบบฉีดได้ในกรณีอาการรุนแรงเช่นโควิดลงปอด

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ