เปิดผลการทดลอง "NDV-HXP-S" วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายฝีมือคนไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผลการทดสอบทางคลินิกเฟส 1/2 วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายขององค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ได้เริ่มการทดสอบทางคลินิกวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated) ชื่อ "NDV-HXP-S" ที่ไทยพัฒนาเอง

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความว่า “วัคซีนชนิดนี้เป็นไวรัสนิวคาสเซิลที่เพิ่มปริมาณได้ดีในไข่ไก่ฟัก และไวรัสชนิดนี้ผ่านการปรับพันธุกรรมให้มีโปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 บนผิวอนุภาค"

"ศิริราช" เปิดผลการศึกษาตัวเลขภูมิคุ้มกัน จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้า “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” รักษาโควิด-19

"NDV-HXP-S" วัคซีนโควิด-19 โดยคนไทยตัวแรกที่ได้รับอนุมัติให้ทดสอบในมนุษย์

“โดยไวรัสจะถูกทำให้เสียสภาพไม่สามารถติดเข้าสู่เซลล์ได้อีก แต่โปรตีนหนามจะถูกสกัดออกมาทำเป็นวัคซีน ข้อดีอย่างหนึ่งของวัคซีนชนิดนี้คือ โปรตีนหนามที่ออกแบบให้มีความเสถียรภาพสูงกว่าโปรตีนที่พบในไวรัสตามธรรมชาติ ดังนั้น จึงเชื่อว่าโปรตีนหนามของวัคซีนรูปแบบนี้จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า โปรตีนหนามที่สกัดมาจากไวรัสจากธรรมชาติอย่างซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม”

ล่าสุดมีการเผยแพร่ก่อนตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ผลการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1/2 ของวัคซีนโควิด-19 NDV-HXP-S ออกมาแล้ว การทดสอบนี้ดำเนินการที่ศูนย์ทดลองวัคซีน ม.มหิดล กลุ่มอาสาสมัครที่เข้ารับวัคซีนประกอบด้วย ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีอายุ 18-59 ปี ผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และผู้ที่ไม่มีแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 รวมอาสาสมัครจำนวน 210 คน

อาสาสมัครจะถูกแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ๆ ละ 35 คน ดังนี้

กลุ่ม 1 ได้รับวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 28 วัน ปริมาณ 1 ไมโครกรัม

กลุ่ม 2 ได้รับวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 28 วัน ปริมาณ 1 ไมโครกรัม บวกสารกระตุ้นภูมิ CpG1018

กลุ่ม 3 ได้รับวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 28 วัน ปริมาณ 3 ไมโครกรัม

กลุ่ม 4 ได้รับวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 28 วัน ปริมาณ 3 ไมโครกรัม บวกสารกระตุ้นภูมิ CpG1018

กลุ่ม 5 ได้รับวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 28 วัน ปริมาณ 10 ไมโครกรัม

กลุ่ม 6 ได้รับยาหลอก

การทดสอบนี้เป้าหมายหลักคือเพื่อศึกษาผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในช่วง 7 วันและ 28 วันหลังจากฉีดวัคซีน เป้าหมายรองคือการวัดระดับภูมิคุ้มกันชนิด anti-S IgG และชนิด Neutralizing Antibody เพื่อดูว่าจะใช้วัคซีนในปริมาณเท่าใดในการทดสอบทางคลินิกเฟส 2 ต่อไป

ผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดคือ ปวดบริเวณที่ฉีด (<63%) เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (<35%) ปวดศีรษะ (<32%) และปวดกล้ามเนื้อ (<32%) และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยพบผลข้างเคียงมากสุดในกลุ่ม 5 หรือสูตรฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม

ส่วนผลการศึกษาด้านภูมิคุ้มกัน พบว่า อาสาสมัครในทุกกลุ่มสามารถตรวจวัดแอนติบอดีต่อโปรตีนหนามได้ 100% ที่ 43 วันหลังได้รับวัคซีนครบโดส

ขณะที่ระดับของแอนติบอดีชนิด IgG ในแต่ละกลุ่ม เป็นดังนี้

กลุ่ม 1 ระดับแอนติบอดีเฉลี่ยอยู่ที่ 151.78 หน่วย/มิลลิลิตร

กลุ่ม 2 ระดับแอนติบอดีเฉลี่ยอยู่ที่ 199.08 หน่วย/มิลลิลิตร

กลุ่ม 3 ระดับแอนติบอดีเฉลี่ยอยู่ที่ 228.07 หน่วย/มิลลิลิตร

กลุ่ม 4 ระดับแอนติบอดีเฉลี่ยอยู่ที่ 356.83 หน่วย/มิลลิลิตร

กลุ่ม 5 ระดับแอนติบอดีเฉลี่ยอยู่ที่ 479.83 หน่วย/มิลลิลิตร

ดร.อนันต์อธิบายว่า “ระดับแอนติบอดีที่ยับยั้งไวรัสได้ สูงขึ้นตามปริมาณโปรตีนในวัคซีนที่ฉีด ส่วนค่า Neutralizing Antibody ต่อไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นอยู่ในระดับสูง แต่เมื่อทดสอบกับไวรัสสายพันธุ์หนีภูมิดีอย่างเบตา (แอฟริกาใต้) จะเห็นปริมาณแอนติบอดีตกลง”

จากข้อมูลผลข้างเคียงของแต่ละปริมาณวัคซีนที่ใช้นำมาประกอบกับผลทางด้านภูมิคุ้มกัน ทีมวิจัยจึงสรุปว่า ในการทดสอบเฟส 2 หลังจากนี้ จะใช้วัคซีน NDV-HXP-S ปริมาณแอนติเจนที่ 3 ไมโครกรัม แบบมีและไม่มีสารกระตุ้นภูมิ CpG1018

“นี่นับเป็นผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 เฟส 1 ในมนุษย์ที่ทีมวิจัยคนไทยภาคภูมิใจ” ดร.อนันต์ระบุ

ด่วน! เปิดลงทะเบียนจองฉีด "ซิโนฟาร์ม" กับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย รับ 18 ปีขึ้นไป

ยอดจ่ายสินไหมประกันโควิดเกือบ 9,500 ล้านบาท

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ