ผลการศึกษา "ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบในชั้นผิวหนัง" ทางเลือกบูสเตอร์ในอนาคตหากต้องการประหยัดวัคซีน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผลการศึกษา "ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบในชั้นผิวหนัง" ทางเลือกบูสเตอร์ในอนาคตหากต้องการประหยัดปริมาณวัคซีน พบ กระตุ้นภูมิได้ดี แต่ต้องใช้เจ้าหน้าที่มีความทักษะ "สูงกว่า" การฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  เปิดเผยว่า งานวิจัยการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผย ผลการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าในชั้นผิวหนัง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการบูสเตอร์โดส หรือเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ในอนาคต

ไฟเขียว ภูเก็ต บูสเตอร์โดส “แอสตร้าฯ” เข็ม 3 ฉีดเข้าผิวหนัง 1 โดสฉีดได้ 5 คน

ผลฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 3 ด้วยวิธี "ฉีดเข้าผิวหนัง" ในคนที่ได้ซิโนแวค 2 เข็ม

แต่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีทักษะการฝึก และประสบการณ์การฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง เนื่องจากมีความยากกว่า การฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบปัจจุบัน

สำหรับผลการเปรียบเทียบ การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ กับ การฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง พบว่า 

- วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เข้ากล้ามเนื้อ (แบบเดิม) ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 128.7 หน่วยต่อมิลลิลิตร

- วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้า แบบเข้ากล้ามเนื้อ (แบบเดิม) ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 1,652  หน่วยต่อมิลลิลิตร

- วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้า เข้าในชั้นผิวหนัง ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 1,300.5  หน่วยต่อมิลลิลิตร

นั้นหมายความว่า การกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซเนก้า ระหว่าง เข้ากล้ามเนื้อ (แบบเดิม) เทียบกับ เข้าในชั้นผิวหนัง การตอบสนองภูมิคุ้มกัน ไม่ต่างกันมาก

นอกจากนั้นแล้ว ทีมวิจัยยังได้นำไปทดสอบกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่บาดอยู่ในปัจจุบัน พบว่า

- วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เข้ากล้ามเนื้อ (แบบเดิม) ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 16.3 หน่วยต่อมิลลิลิตร

- วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้า เข้าในชั้นผิวหนัง ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 234.4  หน่วยต่อมิลลิลิตร

 

จากนั้นเมื่อนำไปดูการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน ระดับ T-Cell เพื่อดูว่าเซลล์ในร่างกายมีการตอบสนองต่อไวรัสโควิด-19 อย่างไรบ้าง พบว่า

วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เข้ากล้ามเนื้อ (แบบเดิม) ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 32 หน่วยต่อมิลลิลิตร

เมื่อฉีด วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้า เข้าในชั้นผิวหนัง ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 52 หน่วยต่อมิลลิลิตร เท่ากับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้า เข้ากล้ามเนื้อ (แบบเดิม) ขณะที่บางตัวอย่างขึ้นไปถึง 58 หน่วยต่อมิลลิลิตร

จึงสรุปได้ว่าในอนาคตหากต้องการเร่งฉีดเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ก็จะเป็นทางเลือกที่จะสามารถเร่งให้การฉีดกระตุ้นเข็ม 3 คลอบคลุมได้เร็วขึ้น และเป็นการประหยัดวัคซีน เนื่องจากการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง จะใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 1 ใน 5 จากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือจากปริมาณเดิมที่เคยฉีดได้ 1 คน จะสามารถฉีดได้ 5 คน  อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงแนวทางเลือกหนึ่งเพราะหากปริมาณวัคซีนโควิด-19 มีเพียงพอ ก็จะยังคงสามารถดำเนินการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบปัจจุบันต่อไปได้

" ขอย้ำว่าตอนนี้ยังคงฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อเหมือนเดิม เพียงแต่การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในอนาคต ในบางพื้นที่ที่ต้องการประหยัดวัคซีน และต้องการเร่งการกระตุ้นเข็ม 3 รวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องมีความพร้อม และมีประสบการณ์สูงเนื่องจากต้องใช้ทักษะในการฉีดมากกว่าปกติ และใช้ระยะเวลานานกว่าเดิมในการฉีดต่อคน " นพ.ศุภกิจ ระบุ

 

ในส่วนของผลข้างเคียง พบว่า ผลข้างเคียงทางผิวหนัง เช่น คลำแล้วเป็นไต เกิดรอยบนผิวหนัง มากกว่า แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ  แต่อาการข้างเคียงทางร่างกาย เช่น เป็นไข้ อาเจียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย พบว่า การฉีด เข้าในชั้นผิวหนัง เกิดอาการน้อยกว่า เข้ากล้ามเนื้อ (แบบเดิม)

ทั้งนี้ การศึกษาในกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา อายุระหว่าง 18 – 60 ปี จำนวน 95 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกฉีดวัคซีนแอส ตราเซนเนกา 1 โดส (0.5 ml.) เข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 30 คน กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส  (0.1 ml.) ฉีดเข้าในผิวหนัง จำนวน 31 คน (ระยะศึกษา 4-8 สัปดาห์) และกลุ่ม 3 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส (0.1 ml.) ฉีดเข้าในผิวหนัง จำนวน 34 คน (ระยะศึกษา 8-12 สัปดาห์) โดยทำการศึกษาจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน (Antibody responses) และการตอบสนองของทีเซลล์ (T cell responses)

หมายเหตุ : การแถลงข่าว มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ / ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ / นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ / ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ ร่วมด้วย

WHO ถอด ”อีตา-ไอโอตา-แคปปา” ออกจากสายพันธุ์โควิด-19 ต้องสนใจ (VOI)

อย. แจงฉีด “ซิโนฟาร์ม” เด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป อยู่ขั้นตอนพิจารณา ไม่ใช่ไม่อนุญาต

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ