สปสช. พิจารณาช่วยด่วน นศ.หญิง ถูกตัดขาหลังฉีดวัคซีนโควิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อนุกรรมการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีรับวัคซีนโควิด 19 เขต 11 สุราษฎร์ธานี เตรียมนำคำร้องกรณีนักศึกษาหญิงพังงา ถูกตัดขาจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีนโควิด เข้าพิจารณา 14 ต.ค. นี้ 

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 3564 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฐานะโฆษก สปสช. เผยถึงกรณี น.ส.เกตน์สิรี กองแก้ว อายุ 20 ปี นักศึกษาสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่นของวิทยาลัยชุมชนพังงา เกิดภาวะโรคหลอดเลือดแดงอุดตันเฉียบพลัน (acute arterial occlusion) ที่ขาทั้ง 2 ข้าง ภายหลังจากที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 2 แอสตร้าเซเนก้าแบบสูตรไขว้ ต่อมาแพทย์ต้องตัดขาซ้ายเหนือเข่า โดยขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศรีนครินทร์สงขลา นั้น

พบ 1 รายในไทย ภาวะ VITT เกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน หลังฉีดแอสตร้าเซเนก้า รักษาทัน อาการดีข...

เทียบ ยุโรป - อินเดีย- ไทย โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

แจง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด กรณีหญิงอายุ 32 ปี เสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนโควิด 13 วัน

สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ได้ประสานข้อมูลไปยังวิทยาลัยชุมชนพังงา ซึ่งอาจารย์ของ น.ส.เกตน์สิรี ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ แต่หลังจากฉีดวัคซีนโควิด เพียง 5 วัน เกิดอาการภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันเฉียบพลันขึ้น จนต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ.พังงา เพื่อผ่าตัดเส้นเลือดที่อุดตัน แต่ปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้น จึงส่งต่อไปรักษาที่ รพ.กระบี่ และได้รับการดูแลต่อโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือด ซึ่งได้มีการผ่าตัดซ้ำ 2 ครั้ง และส่งกลับมาดูแลที่ รพ.พังงา แต่ด้วยอาการที่แย่ลง เมื่อวันที่ 5 กันยายน จึงส่งต่อไปรักษาที่ รพ.สงขลานครินทร์ และรักษาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับ กรณีนี้เข้าข่ายกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 สามารถรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากความเสียหายภายหลักการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบื้องต้นได้ประสานญาติยื่นคำร้องและเอกสาร โดยจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระดับเขตพื้นที่ สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือดูแลโดยเร็วที่สุด” โฆษก สปสช. กล่าว

เร่งคุมโควิด 3 สายพันธุ์ระบาดชายแดนใต้ ชง ศบค. เคาะผสมสูตร "แอสตร้า-ไฟเซอร์" 14 ต.ค.

นอกจากนี้ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ผ่านมา ภาวะไม่พึงประสงค์จากวัคซีน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่จากรายงานเป็นส่วนที่น้อยมาก อาจเป็นกรณีเฉพาะรายบุคคลและมีหลายปัจจัยประกอบ แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 จำเป็นต้องได้รับการดูแล โดยเร็ว ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งเป็นกลไกภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

สำหรับรายละเอียดการจ่ายเงินช่วยเหลือนั้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 12 ต.ค. 2564 สปสช. ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 293,042,200 บาท จาก คำร้องทั้งหมด 5,715 ราย ได้รับการอนุมัติจ่ายชดเชย 3,972 ราย ไม่ผ่านการอนุมัติ 1,196 ราย รอการพิจารณา 547 ราย และในจำนวนที่ไม่ผ่านการอนุมัติ อุทธรณ์ 389 ราย ประเภทความเสียหาย แบ่งเป็น เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 580 ราย พิการ 47 ราย บาดเจ็บ 3,345 ราย

จีนเตรียมศึกษาตัวอย่างเลือดในธนาคารเลือดอู่ฮั่นเพื่อสืบหาต้นตอโควิด-19

ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี ประชาชนทุกสิทธิสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ (ยกเว้นสิทธิประกันสังคมที่ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างแก้ไขประกาศเพื่อให้ผู้ประกันตนกลับมาได้รับสิทธิช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้) 

โดยยื่นเรื่องที่ โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท

ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และ

ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท 

สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 หรือดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ คลิกที่นี่

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ