เปิดตัวเลขตรวจโควิด-19 ตกสำรวจของไทย - สถานการณ์เตียงพร้อมรับวิกฤตใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมการแพทย์ยืนยัน ไทยตรวจโควิด-19 ตกหล่นไม่มาก ส่วนสถานการณ์เตียงปัจจุบันพร้อมรับมือวิกฤตในอนาคต

เคลียร์ใจเรื่องการตรวจโควิด-19 ตกหล่น

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แถลงข่าวประเด็นการสำรวจแอนติบอดีต่อโควิด-19 ในกลุ่มประชากรไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมา นับแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เกิดข้อสงสัยในสังคมว่า ประเทศไทยตรวจหาเชื้อโควิด-19 น้อยเกินไปหรือไม่ และมีผู้ติดเชื้อที่ตกสำรวจหรือไม่ได้อยู่ในระบบเท่าไร

“มาเลเซีย” เจอแล้ว! ผู้ติดเชื้อโควิด-19 “โอไมครอน” รายแรกของประเทศ

นอร์เวย์เจอ “โอไมครอน” รวดเดียว 50 ราย จากคลัสเตอร์ปาร์ตี้คริสต์มาส

พบแล้ว! สาเหตุฉีดวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าแล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแอนติบอดีในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 และไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ เพื่อดูว่ากลุ่มนี้มีแอนติบอดีต่อโควิด-19 หรือไม่ โดยหากมี ก็เท่ากับว่าเคยรับเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ไม่ได้ตรวจหรือไม่ได้รับการวินิจฉัย

“ในช่วงเดือน พ.ย. ที่เราฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรได้แล้วจำนวนหนึ่ง แล้วมีผู้ป่วยเข้าระบบจำนวนหนึ่ง เราอยากรู้ว่า คนที่เหลือมีใครบ้างที่มีภูมิคุ้มกัน หรือเคยติดเชื้อนั่นเอง เนื่องจากภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีจะเกิดขึ้นได้จากการฉีดวัคซีน และจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ” นพ.ศุภกิจกล่าว

โดยทีมวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือดคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 และไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าติดโควิด-19 จำนวน 26,717 ตัวอย่างในช่วงเดือน พ.ย. เก็บจาก 30 จังหวัดใน 12 เขตสุขภาพ สุ่มตรวจตามวิธีการทางสถิติ โดยไม่มีเขต 13 เพราะเป็นเขตที่ฉีดวัคซีนไปเกิน 100% แล้ว ทางทีมวิจัยต้องการศึกษาคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน แล้วนำเลือดไปตรวจหาเชื้อด้วยเครื่องตรวจ ไม่ใช่ชุดตรวจ PCR หรือ ATK เพื่อความแม่นยำ

จากตัวอย่างเลือด 26,717 ตัวอย่าง พบว่า มีผลบวก 371 ราย หรือคิดเป็น 1.4% ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับกลุ่มที่ตรวจพบและอยู่ในระบบ จากประชากรในไทยราว 70 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 1.8 ล้านคน หรือราว 2.6% เท่ากับว่าในกลุ่มที่ตกหล่นไปนี้ เมื่อนำมาเทียบประชากรทั้งประเทศ จะเท่ากับว่า มีประชากรราว 1 ล้านคนที่ตกสำรวจไป

“ฉะนั้น มันไม่มาก ระบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของเราไม่ได้หลุดไปมากมาย ไม่มีภูเขาน้ำแข็งซ่อนอยู่ ที่หาไม่เจอมีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของที่เราเจอเท่านั้น” นพ.ศุภกิจกล่าว

ส่วนในประเด็นการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่เริ่มพบในหลายประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียนั้น นพ.ศุภกิจบอกว่า “เราค้นหาอย่างเต็มที่ และได้ห้าม 8 ประเทศ รวมถึงคนที่ไป 8 ประเทศนั้นมาห้ามเข้าประเทศไทย ... ขณะนี้ใครที่เข้ามาแล้วผลตรวจเป็นบวก เราจะตรวจสายพันธุ์โดยเร็ว วันนี้เราตรวจไปมากกว่า 100 ราย ยังไม่พบโอไมครอนเลย คงต้องตามหามาตรวจให้ได้มากที่สุด”

นอกจากนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เสริมว่า ตามพื้นที่ชายแดนก็จะไปตรวจ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ระบบการตรวจหาโควิด-19 ของประเทศไทยยังแข็งแกร่ง ถ้ามีเชื้อเล็ดลอดเข้ามา จะตรวจเจอแน่นอน วอนประชาชนไม่ต้องตกใจเกินเหตุ

“กลุ่มที่บินเข้ามาเราไม่ห่วง เพราะมีระบบดักจับ แต่กลุ่มที่ลักลอบเข้าประเทศเนี่ยน่ากลัว เมื่อก่อนสายพันธุ์เบตาก็มาทางนี้ทั้งนั้น ฝากทุกฝ่ายเข้มงวดกวดขัน ส่วนคนไทยก็ต้องร่วมมืออย่าข้ามไปข้ามมา” นพ.ศุภกิจกล่าว

สถานการณ์เตียงผู้ป่วยในประเทศไทย

เมื่อมีข่าวของโอไมครอน ก้ทำให้เกิดความกังวลว่า สถานการณ์เตียงผู้ป่วยในประเทศไทยมีความพร้อมหรือไม่ หากต้องเผชิญวิกฤตจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นภาพคนเสียชีวิตอยู่ตามข้างทางอีกแล้ว

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ตอบในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การใช้เตียงของประเทศไทยในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต พบว่า ภาพรวมทั้งประเทศมีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 28.8% หรือประมาณ 1 ใน 4 ของเตียงทั้งหมดที่มี

และเมื่อแยกออกมาเป็นเตียงระดับ 3 หรือเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก พบว่ามีอัตราครองเตียง 45.2% หรือเกือบครึ่ง ขณะที่เตียงระดับ 2 สำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง อัตราครองเตียงอยู่ที่ 44% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ

ในส่วนของ โรงพยาบาลสนามในจังหวัดต่าง ๆ ไม่รวมกรุงเทพ มีอยู่ทั้งหมด 388 แห่ง ยังสแตนด์บายอยู่ อัตราครองเตียงอยู่ที่ 9.8% และฮอสพิเทลทั่วประเทศ 39,027 เตียง มีอัตราครองเตียง 19.5%

แต่ถ้าแยกมองเป็นรายจังหวัด นพ.ณัฐพงศ์บอกว่า มีบางจังหวัดที่มีอัตราครองเตียงรวมเกิน 80% เช่น กระบี่ (84.2%) อาจจะต้องมีแผนเพิ่มเตียงหรือส่งต่อผู้ป่วยเพื่อกระจายการใช้เตียง รวมถึงในบางจังหวัดที่อัตราครองเตียงโดยรวมน้อย แต่อัตราครองเตียงระดับ 3 อยู่ในระดับสูง เช่น สตูล (72.7%) นครศรีธรรมราช (72.6%) หรือขอนแก่น (72.0%) ก็ต้องมีแผนสำรองแล้วเช่นกัน

“จังหวัดที่ครองเตียงเกิน 70% ให้เตรียมพร้อม ต้องเพิ่มเตียง หรือส่งต่อผู้ป่วยเพื่อระบายเตียง” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

สำหรับในกรุงเทพฯ จำนวนเตียงว่างไม่ได้ลดลงมาก มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ราว 23% เหลือเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ใครบ้าง? ที่เป็นกลุ่มความเสี่ยงสูงในการติดโควิด-19

สธ.หวั่น นักเรียนรวมกลุ่มกินหมูกระทะ เสี่ยงติดโควิด-19 แนะลด ละ เลิก การร่วมวงกินอาหาร่วมกัน

ฉะนั้นแล้ว สถากการณ์ประเทศไทยในปัจจุบันในเรื่องความพร้อมทั้งการตรวจหาสายพันธุ์และเรื่องของเตียงผู้ป่วยนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าจะพอวางใจได้ อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายไม่ควรประมาท และควรมีมาตรการป้องกันการระบาดและไม่ลดการ์ดป้องกันลงต่อไป

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ