ไขข้อข้องใจ สีเขียวรอบไข่แดงต้ม อันตรายต่อร่างกายหรือไม่?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สีเขียวรอบไข่แดงต้ม เกิดจากการต้มนานเกินไป สามารถรับประทานได้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ไข่ไก่ เป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่หลายบ้านนำไปประกอบอาหาร เพราะรับประทานง่าย ทำได้หลากหลายเมนู และเป็นแหล่งโปรตีน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

อย่างไข่ต้ม เป็นอีกเมนูยอดฮิตของใครหลาย ๆ คน แต่ก็มีข้อสงสัยว่า ไข่ที่ต้มเป็นระยะเวลายาวนานเกินไป จนทำให้บริเวณที่เป็นไข่แดงเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว จะเป็นโทษต่อร่างกาย หรือเป็นสารอันตราย ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้หรือไม่?

ว่าด้วยเรื่อง “ไข่” แต่ละประเภทให้สารอาหารไม่เหมือนกัน
อากาศแปรปรวนทำไข่ไก่ผลผลิตลด

ซึ่งที่จริงแล้ว สีของไข่แดงที่เปลี่ยนไปเป็นเพียงกระบวนการทางเคมีตามธรรมชาติ เกิดจากการที่เราต้มไข่นานเกินไป โดยโปรตีนไข่ขาวที่มีธาตุซัลเฟอร์ (กำมะถัน) และไฮโดรเจนตามธรรมชาติ ทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นไฮโดรเจนซัลไฟด์ขึ้น แล้วไฮโดรเจนซัลไฟด์นี้ไปทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็กตามธรรรมชาติในไข่แดง เกิดเป็นสารประกอบสีเขียวอมเทา ชื่อ เฟอรัสซัลไฟด์ (ferrous sulfide) หรืออีกชื่อคือ ไอรอนซัลไฟด์ (iron sulfide) ซึ่งไม่ใช่สารอันตราย หรือก่อมะเร็ง อย่างที่ว่าแต่อย่างไร

ส่วนวิธีการหลีกเลี่ยงการเกิดสารสีเขียวนี้ คือการต้มไข่ไม่ให้นานเกินไป และให้ไปแช่น้ำเย็นทันที จะหยุดการเกิดปฏิกิริยาได้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือการรับประทานไข่ในรูปแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะนอกจากจะย่อยยาก แล้วอาจได้รับเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินอาหารด้วย

ที่นี้มาดูกันว่า ระยะเวลาการต้มไข่ จะทำให้ไข่ต้มออกมารูปแบบไหนกันบ้าง


- ต้ม 4 นาที
     จะได้ไข่ยางมะตูม ซึ่งไข่ขาวสุกเริ่มดีแล้ว ในขณะที่ไข่แดงก็ยังกึ่งสุกกึ่งดิบและเหลวอยู่
- ต้ม 6 นาที 
     ไข่ขาวสุกเต็มที่ และไข่แดงก็เกือบจะสุกแล้ว แต่บริเวณกึ่งกลางยังเหนียวอยู่เล็กน้อย
- ต้ม 8 นาที
     ไข่ขาวสุกเต็มที่ และไข่แดงก็เกือบสุกแล้วเช่นกัน แต่ยังอ่อนตัวอยู่เล็กน้อย
- ต้ม 10 นาที
     ทั้งไข่แดง และไข่ขาว สุกเต็มที่

ที่มา  อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์, ซีพี

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ